จากข่าวคราวการเลิกนโยบายการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ของบริษัท Yahoo ก็เลยเกิดกระแสตามมาอีกมากมายว่า การให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้นั้น มันเป็นนโยบายที่ดีจริงๆ หรือ ถ้าดี ทำไมองค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง Yahoo จึงยกเลิกนโยบายนี้ แล้วหันมาสนับสนุนให้พนักงานมาทำงานที่บริษัทแทน
มีหลายบริษัทที่มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งของการสร้างความสมดุลของชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) แต่อย่างไรก็ดี เรื่องของการทำงานที่บ้านนั้นมีข้อจำกัดอยู่มากเหมือนกัน เพราะไม่ใช่ทุกงานที่จะสามารถทำงานจากที่บ้านได้ โดยเฉพาะงานในโรงงาน ซึ่งจะต้องมีกระบวนการผลิต และมีเครื่องมือเครื่องจักรพิเศษที่จะต้องทำกันแต่ในบริษัทเท่านั้น แล้วบริษัทเหล่านี้จะทำอย่างไรเพื่อสร้าง Work-Life Balance
มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นการศึกษาในเรื่องของความต้องการของคนในแต่ละ Generation ผลที่ออกมาบอกเราว่า Generation X เป็นกลุ่มคนที่ชอบที่จะทำงานจากที่บ้าน เนื่องจาก Gen X จะอยู่ในช่วงที่เริ่มสร้างครอบครัวแล้ว มีลูกเล็ก มีภาระที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ตัวมากขึ้น ทำให้ต้องการใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ดังนั้นก็เลยชอบนโยบายการทำงานที่บ้าน
แต่กลุ่ม Gen Y นั้น งานวิจัยบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำงานที่บ้าน เพราะ Gen Y นี้ไม่ชอบอยู่คนเดียว ต้องการเพื่อน ต้องการสังคมมากหน่อย ดังนั้นการมาทำงานที่บริษัท จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ขัดกับความต้องการของ Gen Y นี้ เนื่องจากต้องการสังคม Gen Y นี้ต้องการความสนุกสนานในชีวิต สิ่งที่จะช่วยทำให้ Gen Y รู้สึกถึง Work-Life Balance ก็คือ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานในออฟฟิศ ให้มีบรรยากาศที่สนุกสนาน ร่าเริง มีกิจกรรมต่างๆ ให้เล่นกับเพื่อนๆ อาทิ มีเกมส์คอมพิวเตอร์ และเกมส์อื่นๆ ที่สร้างความสนุกสนาน และความบันเทิงได้ ช่วงที่เหนื่อยก็มารวมตัวกัน ถึงเวลาหายเหนื่อยก็ไปทำงานกันต่อ
ประเด็นของการทำงานที่บ้าน ถ้าองค์กรบางแห่งอยากจะนำมาใช้ ก็คงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้ครับ
- ต้องชัดเจนในเรื่องของความคาดหวังในผลงาน ถ้าจะเอานโยบายการทำงานที่บ้านมาใช้ สิ่งที่องค์กรจะต้องกำหนดให้ชัดเจนก็คือ เราคาดหวังผลงานอะไรจากพนักงานบ้างกำหนดให้ชัดเจน ถ้าสามารถกำหนดเป็นชิ้นงาน เป็นผลลัพธ์ของงาน หรือเวลาที่ใช้ในการทำงานได้จะยิ่งดีครับ เพราะเราไม่สามารถควบคุมการทำงานด้วยเวลาการทำงานได้ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องใช้ก็คือผลงานที่ชัดเจนมาวัดกันเลย
- ไม่ควรให้ทำงานที่บ้านทุกวัน ประเด็น ของการทำงานในองค์กรนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการมีเพื่อนร่วมงาน การได้ทำงานร่วมกับคนอื่น การประชุมงาน ฯลฯ ดังนั้น การทำงานที่บ้านถ้าจะไม่ให้มีปัญหาเรื่องการทำงานเป็นทีม ก็ควรจะกำหนดว่าใน 1 สัปดาห์ในทำงานที่บ้านได้ 1-2 วัน นอกนั้นก็คือให้เข้ามาทำงานในบริษัท อย่าลืมนะครับว่า มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ต้องการเพื่อน ยิ่งเราจ้างเข้ามาอยู่ในบริษัท แปลว่าเขาต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย การที่ได้เข้ามาพบปะพูดคุยกันบ้าง จะทำให้
- ไม่ควรจะจับผิดพนักงาน ถ้า เราจะมีนโยบายทำงานที่บ้าน แปลว่าองค์กรก็ต้องมีความเชื่อใจพนักงานว่าเขาจะสร้างผลงานให้เราได้ ไม่ว่าเขาจะทำงานที่ไหนก็ตาม ไม่ควรที่จะโทรไปตาม หรือสืบว่าพนักงานทำงานจริงๆ หรือเปล่า หรือบางคนก็มักจะรู้สึกไม่ดี เวลาที่พนักงานขอทำงานที่บ้านในบางวัน ก็จะคิดไปเองว่า พนักงานคนนั้นไม่ได้ทำงานแน่นอน จะต้องขี้เกียจ หรือนอนอยู่ ฯลฯ ถ้าผู้บริหารคิดแบบนี้ นโยบายการทำงานที่บ้านก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นครับ
- อย่าลืมว่า ทำงานที่บ้านก็ต้องมีการสอนงานและอบรม พนักงาน ที่ทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่นั้น หัวหน้าจะไม่ค่อยได้พบเจอมากนัก ก็เลยทำให้มองไม่เห็นว่าจุดแข็งหรือจุดอ่อนของพนักงานคนนั้นมีอะไรบ้าง สุดท้ายคนกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยได้รับการพัฒนาอบรมมากนัก ดังนั้นหัวหน้าก็คงต้องมีการเข้ามาดูแลพูดคุย รวมทั้งให้พนักงานเข้าบริษัทเพื่อมาประชุมบ้าง ร่วมกันคิดงานบ้าง เพื่อจะได้วิเคราะห์พนักงานได้ดีขึ้น จะได้วางแผนในการพัฒนาพนักงานได้อย่างชัดเจน
แต่ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นก็คือ ทำงานที่บ้านหรือ ทำงานนอกบริษัทมากๆ จะทำให้การทำงานเป็นทีมหายไป ยิ่งไปกว่านั้น ความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากการต่อยอดความคิดซึ่งกันและกันนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากการที่ได้พูดคุยถกเถียงกันมากกว่า การคิดคนเดียว
ถ้าจะริเริ่มนโยบายนี้ก็คงต้องพิจารณาลักษณะงานขององค์กรเราด้วยนะครับว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น