ผู้นำขององค์กรจำเป็นต้องรู้ลึกทางด้านเทคนิคหรือไม่ ผู้นำขององค์กรจำเป็นต้องเคยทำงานหลักขององค์กรนั้นๆ มาก่อนหรือไม่ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานมาก บางคนมีความเห็นว่า จะนำคนอื่นในองค์กรได้ ก็ต้องรู้ว่างานในองค์กรเขาทำกันอย่างไร บางคนก็บอกว่า ไม่จำเป็นเลย การเป็นผู้นำที่ดีนั้น ก็คือสามารถบริหารความสามารถของคนอื่นให้สร้างผลงานได้ โดยที่ตัวผู้นำไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านเทคนิคในเรื่องนั้นๆ เลย ท่านผู้อ่านล่ะครับคิดอย่างไร
ผมเองเชื่ออย่างหลังมากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะเห็นผู้นำองค์กรหลายแห่งที่ไม่ได้โตมาทางสายงานนั้นเลย แต่สามารถบริหารองค์กรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องได้ เช่น CEO ของบริษัทก่อสร้างบางแห่ง จบมาทางสายการเงิน แต่ก็สามารถบริหารธุรกิจก่อสร้างจนใหญ่โตได้ ผู้นำเหล่านี้เขาใช้ทักษะอะไรในการบริหารจัดการกันบ้าง
Peter Gasca ซึ่งเป็นผู้บริหารของ WildCreations ซึ่งผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ได้ให้ความคิดเห็นว่า ทักษะของผู้นำนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องเทคนิคอย่างลึกซึ้ง แต่จำเป็นที่จะต้องนำคนอื่นได้ โดยอาศัยหลัก 3 E คือ
- Engaging ซึ่งก็คือ การทำให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างผลงานให้กับองค์กร ตัวผู้นำเอาอาจจะไม่รู้เรื่องของเครื่องจักร เทคนิคในการผลิต หรือ การประกอบสินค้า ฯลฯ แต่ผู้นำจะต้องรู้ว่า ผู้บริหารของตนนั้นมีจุดแข็งในเรื่องอะไรกันบ้าง และพยายามให้ผู้บริหารเหล่านี้ ได้ใช้จุดแข็งของตนเองในการสร้างผลงาน โดยตัวผู้นำจะต้องมีความชัดเจนในเป้าหมายขององค์กร และดึงเอาความสามารถของผู้บริหารแค่ละคนเข้ามาใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ องค์กรให้ได้ โดยสร้างแรงจูงใจให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในการเติบโตขององค์กร
- Encouraging คือ การส่งเสริม สนับสนุน และการทำให้พนักงานรู้สึกได้รับความสำคัญ ผู้นำจะต้องทำให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจในการสร้างผลงาน โดยการให้ความสำคัญต่อพนักงานในแง่ความรู้ความสามารถ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะและความสามารถอย่างต่อ เนื่อง ก็เพื่อที่จะให้พนักงานดึงเอาความรู้ความสามารถออกมาใช้ในการพัฒนาองค์กรได้ อย่างต่อเนื่อง ให้กำลังใจ สื่อสาร ให้การชื่นชมในผลงานที่ดี รวมทั้งถ้าใครทำงานได้ไม่ดี ก็ต้องพัฒนาและทำให้พนักงานเก่งขึ้น เพื่อทำงานได้ดีขึ้น
- Enforcing ก็ คือ การบริหารงานให้ได้ตามแผนงาน การควบคุมเรื่องของการทำงาน การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และการจริงจังกับผลงานที่ต้องการ เรียกกว่าสองข้อแรก ก็คือการสร้างพลังทางใจ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ส่วนข้อนี้ก็คือ การเน้นในเรื่องของตัวงาน เรียกว่ามีการคอยติดตามความคืบหน้าของงานอย่างสม่ำเสมอ ใครตกลงไว้ว่าจะส่งงานอะไรวันไหน ก็จะต้องจริงจัง ไม่มีการผ่อนผันใดๆ เพราะนี่คือผลงานขององค์กร
ทำให้พนักงานรู้สึก ถึงตัวเองมีความสำคัญต่อตัวผู้นำ และต่อองค์กร ให้เขารู้สึกมีส่วนร่วมต่อผลงานขององค์กรจากนั้นก็ให้การสนับสนุน ส่งเสริม ทั้งด้านกำลังใจ และด้านทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้งานออกมาราบรื่น สุดท้ายก็คือ การติดตามและควบคุมงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างจริงจัง
ใครจะลองเอาไปใช้ก็ไม่ห้ามนะครับ ถ้าใช้แล้วได้ผลดี ก็เอามาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น