วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

หัวหน้ากับลูกน้อง ปัญหาไม่รู้จบ (ภาคหัวหน้า)


การทำงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องนั้น เหมือนลิ้นกันฟัน ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา หัวหน้างานที่ดี และพนักงานที่ดี ก็เลยเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ หัวหน้าก็มักจะบอกว่า อยากได้พนักงานที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ลูกน้องเองก็มักจะมองว่า อยากได้นายที่ดีกว่านี้ ต่างคนต่างก็คิดกันไปคนละทาง อย่างไรก็ดี วันนี้ผมจะเอาสิ่งที่พนักงานส่วนใหญ่มองหัวหน้า ว่าถ้าหัวหน้างานเป็นแบบนี้ พนักงานส่วนใหญ่จะรับไม่ได้แน่นอน ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

  • หัวหน้าที่มองผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก หรืออีกมุมหนึ่งก็คือ เอาความดีใส่ตัว ส่วนความชั่วก็ส่งต่อให้กับลูกน้องไปเลย หัวหน้าแบบนี้เป็นลำดับหนึ่งที่ลูกน้องไม่ต้องการเป็นอย่างยิ่ง บางครั้งหัวหน้าลักษณะนี้ก็มักจะพยายามมองหาผลประโยชน์ และแนวทางในการสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเองมากกว่า การสร้างประโยชน์ของทีมงาน หรือของส่วนรวม อะไรที่ทำให้หัวหน้าเสียประโยชน์มากเกินไป เขาก็จะไม่ทำ และไม่คิดจะทำด้วย
  • หัวหน้าที่สั่งงานไม่รู้เรื่อง และ ไม่สามารถที่จะจัดลำดับความสำคัญของงานได้ ทำให้ลูกน้องรำคาญในความซื่อบื้อของหัวหน้า จนบางครั้งลูกน้องต้องเป็นฝ่ายสรุป และทบทวนคำสั่งอีกครั้งว่าต้องการแบบนี้ใช่หรือไม่ หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ ไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของงานได้เลย ซึ่งก็คือ วางแผนไม่เป็น ทำงานสะเปะสะปะไปเรื่อย แล้วแต่อารมณ์ อยากทำอะไรก่อนก็ทำ พอทำแล้วรู้ตัวว่าไม่ใช่ ก็หันกลับมาบอกลูกน้องว่า “ทำไมทำอันนี้ก่อนล่ะ จริงๆ ต้องเริ่มที่ขั้นตอนนั้นก่อนนะ” (ไม่รู้ตัวเองซะอีก) ลูกน้องเองก็งงเป็นไก่ตาแตก ทำงานอยู่ดีๆ ก็โดนคำสั่งสายฟ้าฟาดลงมาว่าให้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ลูกน้องก็ทำอะไรไม่ถูก
  • หัวหน้าที่ทำงานคนเดียว ไม่สนใจทีมงาน ข้อนี้ก็ยังสงสัยอยู่ว่า แล้วขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้อย่างไร หัวหน้าประเภทนี้ก็คือ ชอบทำงานคนเดียว รู้อะไรก็เก็บไว้คนเดียว ไม่ยอมบอกลูกน้อง ไม่มีการแชร์ข้อมูลระหว่างกัน ไม่มีการสอนงานกัน ผลก็คือ พนักงานต้องทำงานซ้ำกับที่หัวหน้าทำไปแล้วก็มี โดยที่หัวหน้าไม่เคยบอกกล่าวอะไรเลย หรือกรณีที่ลูกน้องทำงานไม่เป็น ก็ไม่มีการสอนงานให้ ให้เรียนรู้กันเอง คลำงานกันไปเองโดยไม่มีการเติมความรู้ใหม่ๆ ให้ สุดท้ายผลงานก็ไม่ออก
  • หัวหน้างานที่ไม่รับฟังความเห็นของลูกน้อง เวลาประชุมกัน หรือแสดงความเห็น ก็มักจะมองความเห็นของลูกน้องว่า เป็นความเห็นที่ใช้ไม่ได้ เพราะประสบการณ์น้อย หรือเวลาที่ลูกน้องซักถามรายละเอียดของงานมากๆ เข้า ก็ทำเป็นรำคาญว่าทำไมซักเยอะจัง (แต่จริงๆ แล้วตอบไม่ได้) ยิ่งไปกว่านั้น หัวหน้าที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงๆ เคยมีประสบการณ์ในการทำงานมาเยอะๆ ก็มักจะมองว่าลูกน้องของตนยังขาดประสบการณ์ในการทำงาน ดังนั้น ความคิดเห็นต่างๆ ที่ออกมาจากลูกน้อง ก็มักจะเป็นความเห็นที่ยังใช้การไม่ได้ สุดท้ายก็เลยไม่อยากรับฟังความคิดเห็นใดๆ ของลูกน้อง
  • หัวหน้างานที่ลำเอียง หัวหน้าประเภทนี้บางครั้งไม่รู้ตัวว่ากำลังลำเอียง และเลือกปฏิบัติ คนที่เขาชอบ ก็จะดูแลอย่างดี แต่คนที่ไม่ชอบขี้หน้าก็ไม่เคยคิดจะสนใจ แถมยังชอบจับผิดประจำ หรือ อาจจะตั้งใจลำเอียงก็เป็นได้ เนื่องจากลูกน้องบางคนชอบเอาอกเอาใจ หัวหน้าก็ชอบสิ่งที่ลูกน้องทำ ลูกน้องบางคนไม่ชอบเอาใจ ก็เลยไม่ชอบลูกน้องคนนั้น สุดท้ายการปฏิบัติต่อลูกน้องก็มีความแตกต่างกันออกไป
ทั้ง 5 ลักษณะข้างต้น เป็นสิ่งที่ลูกน้องส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากจะเจอหัวหน้าในลักษณะนี้ จริงๆ องค์กรเองก็คงไม่ต้องการหัวหน้างานลักษณะนี้เช่นกัน เนื่องจากไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดผลงาน และบรรยากาศในการทำงานที่ดีในองค์กรเลย มีแต่จะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในการทำงาน และทำให้ขวัญกำลังใจของพนักงานลดลงไปเรื่อย

ถามว่าจะมีวิธีการในการ แก้ไขหรือไม่ คำตอบก็คือ มีครับ แต่คงต้องใช้เวลามากหน่อยสำหรับหัวหน้างานที่เป็นแบบนี้ไปแล้ว และไม่รู้ตัว ก็คงต้องให้ลูกน้อง และบุคคลข้างเคียงช่วยประเมินและให้ Feedback จากนั้นก็หาวิธีการพัฒนากันไปตามจุดอ่อนที่มีอยู่ โดยอาจจะส่งไปฝึกอบรม และหา Coach ที่เก่งๆ ในเรื่องนี้ มาประกบเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้

ส่วนพนักงานที่ยังไม่ได้เป็นหัวหน้า แต่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้างานในอนาคต สิ่งที่องค์กรจะต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ก็คือ การเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานล่วงหน้า ก่อนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตครับ

พรุ่งนี้ผมจะเอาเรื่องของลูกน้องที่หัวหน้าไม่ค่อยชอบใจนักมาเล่าให้อ่านกันบ้าง เพื่อจะได้เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น