การเป็นผู้นำ หรือหัวหน้าที่ดีนั้น มีตำราว่าไว้มากมาย แต่พื้นฐานที่สำคัญมากอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับคนที่เป็นผู้ นำก็คือ เรื่องของทักษะการฟัง และเชื่อหรือไม่ว่า ทักษะการฟังของคนเรานั้น เป็นทักษะที่มีปัญหามากที่สุด แม้ว่าเราจะมีหูสองข้างที่ถูกออกแบบมาให้มากกว่าปากของเราที่มีแค่ 1 ปาก แต่คนเราส่วนใหญ่ก็มักจะพูดมากกว่าฟัง จนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ มากมายตามมา
เคยลองพิจารณาตัวเราเองบ้างหรือไม่ครับ ว่าในแต่ละวันเราฟังจริงๆ มากน้อยสักแค่ไหน
เอาแค่เรื่องของการฟังอย่างเดียว ก็มีปัญหากันมากมายแล้ว
- เราฟังจริงๆ หรือ เราแค่ได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูดมา
- เราฟังแล้วเราเข้าใจคนที่เขาพูดด้วยหรือเปล่า หรือเราฟังแล้วเราตีความเข้าข้างตัวเอง
- เราแต่ตั้งใจฟังแค่เพียงภาษาพูด แต่กลับไม่รับรู้ว่าภาษากายที่แสดงออกนั้นกำลังบอกอะไรเรา
- เราฟัง เพื่อหาจังหวะที่จะพูด แต่ไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจ
- ฟังอย่างเข้าใจ ไม่ใช่แค่ตั้งใจฟัง เป้าหมายของการฟังก็คือ เราอยากจะเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อมา ดังนั้นการฟัง ก็ต้องฟังอย่างเข้าใจ คือ เข้าใจว่า ผู้พูดต้องการที่จะบอกอะไร รู้สึกอย่างไร คำพูดที่ออกมานั้นมันสะท้อนความรู้สึกอะไรหรือไม่ หรือถ้าเรายังไม่เข้าใจก็คงต้องสอบถามเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้าใจให้ได้ ก่อนที่จะพูด
- ฟังแล้วให้จับความรู้สึกจากท่าทางของผู้พูดด้วย เวลา ที่เราฟังผู้อื่น นอกจากคำพูดที่เรากำลังฟังอยู่ ก็ต้องสังเกตจากลักษณะท่าทาง การแสดงออก ภาษากาย ที่ใช้ ว่าผู้พูดกำลังสื่ออะไรออกมาบ้าง เพราะบางครั้งภาษากายจะทำให้เรารู้ว่าผู้พูดรู้สึกอย่างไร แม้ว่าภาษาพูดที่ใช้อาจจะไม่ได้แสดงให้เห็นเลยก็ตาม ก็จะช่วยให้เราเข้าใจผู้ที่พูดมากขึ้น
- ใช้คำถาม เวลาที่เราฟังคนอื่นพูดอยู่นั้น ถ้ามีบางช่วงที่เราไม่เข้าใจ และอยู่ในเรื่องนั้นๆ เราก็สามารถที่จะใช้คำถาม ถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ เช่น อาจจะถามความรู้สึก ถามถึงความเห็นที่มีต่อเรื่องนั้นๆ ว่าคิดอย่างไร มองอย่างไร ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะรับทราบความรู้สึก และทำความเข้าใจว่าผู้พูดกำลังต้องการจะสื่ออะไรกันแน่
- สะท้อนความรู้สึก นอก จากฟังแล้ว สิ่งที่ผู้ฟังที่ดีมักจะทำกันก็คือ ฟังไปแล้ว สะท้อนความรู้สึกของผู้พูดไปด้วย ด้วยการใช้ภาษากาย ภาษาพูดที่แสดงออกถึงความรู้สึกเดียวกับผู้พูด เพราะการฟังที่ดีก็คือการพยายามเข้าใจผู้พูด ดังนั้นการแสดงออกถึงการสะท้อนความรู้สึกของผู้พูดนั้น จะช่วยให้ผู้พูดรู้สึกว่า เรากำลังเข้าใจเขาอยู่ และเป็นการส่งเสริมให้เขาพูดออกมาอีก แล้วเราก็จะได้เข้าใจมากขึ้นนั่นเอง
- ทวนคำพูดของผู้พูดด้วยคำพูดของเรา อีก อย่างที่ผู้ฟังที่ดีควรจะทำก็คือ การแสดงให้เห็นว่าเรากำลังเข้าใจเขา ด้วยการทบทวนคำพูดของเขา หรืออาจจะเปลี่ยนคำพูดนิดหน่อย เพื่อที่จะบอกเขาว่า เรากำลังฟัง และกำลังเข้าใจเขาอยู่ เช่น เขาพูดว่า “ตอนนี้ผมรู้สึกแย่มาก งานที่ทำก็มีปัญหามากมาย แถมลูกน้องยังมาลาออกไปอีก” เราก็อาจจะทบทวนคำพูดว่า “ตอนนี้คุณกำลังรู้สึกมีปัญหากับงานที่ทำ และรู้สึกท้อ” เป็นต้น ผู้พูดก็จะพูดต่อเองว่า “ใช่ครับ ผม........” เราก็จะได้ข้อมูลเพิ่มเติม และได้ใจผู้พูดด้วย เพราะเรากำลังทำให้เขารู้สึกว่า เราเข้าใจเขา
จริงๆ วัตถุประสงค์ของการฟัง ก็คือ การที่เราสามารถที่จะได้ข้อมูลจากผู้พูดให้ได้มากที่สุด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มันไม่ได้จะได้มาด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียว แต่เราจะได้มาจากความรู้สึก ความเข้าใจ ที่เรามีต่อผู้พูด
ดังนั้นถ้า เราอยากจะฟังให้ดี จะต้องฟังอย่างเข้าใจเลยว่า สิ่งที่ผู้พูดสื่อมานั้น มีประเด็นและความรู้สึกอย่างไร และสิ่งที่เราจะได้ก็คือ การยอมรบจากผู้พูดว่า เราเป็นผู้นำที่ดี ดีไม่ดี เราจะได้ยินว่า
“เวลา คุยกับพี่แล้วรู้สึกดีมากเลย เพราะพี่เข้าใจสิ่งที่ผมกำลังพูดอยู่ทั้งหมดเลย ตอนนี้ผมสบายใจแล้วครับ ขอบคุณมากนะครับพี่ ที่ให้คำปรึกษาที่ดี”
ทั้งๆ ที่เราไม่ได้พูดอะไรสักคำ แต่เราฟังอย่างเข้าใจไงครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น