ในการบริหารทรัพยากรบุคคลระยะหลังๆ เรามักจะได้ยินคำว่าความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเนื่องด้วยอาจจะเป็นด้วยเรื่องนี้มีงานวิจัยรองรับ และมีข้อพิสูจน์ค่อนข้างชัดเจนว่า มีผลต่อผลงานและความสำเร็จขององค์กรค่อนข้างจะมากอยู่ จนเดี๋ยวนี้เราแทบจะไม่ค่อยได้ยินคำว่า ความจงรักภักดีต่อองค์กรของพนักงาน (Employee Loyalty) ซึ่งคำนี้จะกินความที่ลึกกว่าแค่ความผูกพันที่มีต่อองค์กร แต่จะลงไปถึงการที่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในความสำเร็จ และความล้มเหลวขององค์กรด้วย มันลึกลงไปในความรู้สึก เหมือนกับที่เราจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือจงรักภักดีต่อตราสินค้าบางอย่าง ฯลฯ มันคือความรู้สึกที่ลึกมาก ๆ
ในช่วงปีสองปีมานี้ ก็เริ่มมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องของความจงรักภักดีของพนักงานต่อองค์กร ว่า มันเริ่มหายไปจริงๆ หรือ และมีข้อมูลทางด้านตัวเลขของการบริหารทรัพยากรบุคคลบางตัวที่เป็นที่น่า สังเกตอยู่บ้าง ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเคยได้ยินข้อมูลเหล่านี้มาบ้างหรือไม่ครับ คือ
- ในแต่ละปีองค์กรต้องสูญเสียคนเก่งที่ขอลาออกจากองค์กรไปถึงประมาณ 40%
- ประมาณ 57% ของพนักงานรุ่นใหม่ๆ (Gen Y) มีความเชื่อว่า คำว่า ความจงรักภักดีต่อองค์กรนั้นมันหมดไปแล้วในยุคนี้ และมันไม่เกิดขึ้นได้จริงๆ อีกต่อไป
- 91 % ของพนักงานที่เป็น Gen Y ไม่มีความตั้งใจที่จะอยู่ทำงานในองค์กรเดิมเกินกว่า 3 ปี
ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกันบ้างครับกับเรื่องนี้
แนวทางในการสร้าง Engagement ให้เกิดขึ้นกับพนักงานนั้น เป็นแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้ในการสร้างความจงรักภักดีของพนักงานต่อ องค์กรได้เช่นกัน เพียงแต่มันจะต้องลงลึกในบางประเด็น เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมบางอย่างให้เกิดขึ้นกับพนักงาน จากประสบการณ์ และจากที่ผมได้พบเจอกับผู้บริหารและพนักงานที่รู้สึกถึงความจงรักภักดีต่อ องค์กรนั้น ต่างก็บอกว่า น่าจะยังคงสร้างกันได้อยู่ เพียงแต่ต้องมีแนวทางในการสร้าง ซึ่งก็คือ
- ต้องทำให้พนักงานรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในความสำเร็จขององค์กรให้ได้ เพราะมีงานวิจัยอีกเช่นกันที่บอกว่า พนักงาน 56% อยากที่จะทำงานกับองค์กรที่สามารถสร้างผลงานที่ดี และอยากเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้น ดังนั้นถ้าองค์กรสามารถที่จะเชื่อมโยงเป้าหมายความสำเร็จขององค์กร ลงสู่พนักงานแต่ละคนได้ ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้นจริงๆ เวลาที่มีคนภายนอกพูดถึงความสำเร็จขององค์กร พนักงานก็จะรู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่ตนเองทำมันขึ้นมา ความภาคภูมิใจก็จะเกิดขึ้น และเมื่อเกิดความภาคภูมิใจขึ้น ความรู้สึกผูกพันก็จะเกิดขึ้น และความจงรักภักดีต่อองค์กรก็จะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เสียดายที่หลายๆ องค์กรในบ้านเราไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงเป้าหมายความสำเร็จขององค์กรลงสู่ พนักงานได้ พนักงานก็เลยไม่รู้สึกถึงการมีส่วนร่วม รู้สึกแค่เพียงว่าต้องมาทำงานเพื่อให้ได้เงินเดือนไป และเมื่อไหร่ถ้าเบื่อก็ออกไปหาที่ใหม่
- ใส่ใจในพนักงานอย่างจริงใจ การ ที่เราต้องการให้พนักงานจงรักภักดีต่อองค์กร ตัวผู้บริหารองค์กรเองก็ต้องให้ความจงรักภักดีแก่พนักงานเช่นกัน กล่าวคือ ต้องให้ความสำคัญกับพนักงานในเรื่องของการพัฒนาพนักงานอย่างจริงจัง และมีการลงทุนเพื่อให้พนักงานเก่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งไปพัฒนาทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีการมอบหมายงานที่ท้าทาย โดยไม่กลัวว่าพนักงานจะลาออกไปไหน ก็คือ เรียกว่าให้อย่างเต็มที่ไม่กั๊กไว้เลย เมื่อพนักงานรู้สึกว่าองค์กรไม่กั๊ก ตัวพนักงานเองก็ไม่กั๊กเช่นกัน มันเป็นผลทางจิตวิทยาที่ได้ผลจริงๆ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นที่เห็นชัดเจนก็คือ กับองค์กรขนาดเล็ก ที่รับพนักงานมือดีเข้ามาทำงาน แม้ว่าเขาจะเป็นองค์กรขนาดเล็ก แต่เจ้าของกลับไม่มองจุดนั้น แต่กลับลงทุนกับพนักงานกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจที่จะปั้นให้เป็นมือขวา มือซ้ายของเจ้าของกันเลย ทุ่มเทแบบไม่อั้น รวมทั้งยังให้ความเชื่อมั่นในตัวพนักงานกลุ่มนี้มากๆ จนพนักงานเองก็รู้สึกได้ ผลก็คือ พนักงานกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่นำพาบริษัทไปสู่ เป้าหมายที่ต้องได้ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้บริหารกลุ่มนี้ก็ยังอยู่จนกระทั่งเกษียณอายุกันไป โดยไม่คิดจะออกไปทำงานที่อื่นเลย
- ผู้นำรับฟังพนักงานอย่างเปิดใจ การ ที่จะทำให้พนักงานรู้สึกจงรักภักดีได้จริงๆ นั้น ตัวผู้นำขององค์กรมีส่วนสำคัญมากๆ นอกจากต้องใส่ใจพนักงานในทุกด้านแล้ว ยังต้องเปิดใจรับฟังพนักงานจริงๆ ต้องลงจากหอคอย ถอดหัวโขน และลงมาเดินเคียงข้างพนักงานในการทำงานฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ เรื่องของผู้นำมีส่วนเยอะมากครับ พนักงานที่จงรักภักดีต่อองค์กรนั้น ส่วนใหญ่มาจากผู้นำองค์กรทั้งสิ้น พนักงานรู้สึกถึงความเป็นผู้นำที่ดี นำทางเราได้ อีกทั้งยังพยายามที่จะรับฟังปัญหาอย่างเปิดใจ ลงมาสัมผัสกับพนักงาน ยิ่งไปกว่านั้นยังพยายามที่จะสร้างผู้นำคนใหม่ให้เกิดขึ้น ลองคิดดูสิครับ ถ้าเราเป็นพนักงานคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานในองค์กร แล้วมีผู้นำที่พยายามสร้าง และปั้นเราให้เป็นผู้นำขององค์กร ให้ความไว้วางใจ มอบหมายงานที่ท้าทาย อีกทั้งใส่ใจในความเป็นอยู่ของพนักงานอย่างจริงจัง อะไรให้ได้ อะไรให้ไม่ได้ คุยกันอย่างมีเหตุมีผล เจอผู้นำแบบนี้ ใครจะไม่จงรักภักดีบ้างล่ะครับ
แล้วความจงรักภักดีของพนักงานต่อองค์กรก็น่าจะเกิดขึ้นได้บ้าง ไม่มากก็น้อยล่ะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น