วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปัญหายอดฮิตในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่องค์กรต้องเจออยู่เป็นประจำ


เมื่อพูดถึงเรื่องของคน หรือทรัพยากรบุคคล ภาพในแง่บวกก็คือ เป็นทรัพยากรที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านผลงานที่ดีให้กับองค์กรได้ อย่างต่อเนื่องถ้าเราบริหารเขาดีๆ แต่ถ้ามองในแง่ลบ ก็คือ ทรัพยากรที่มักจะสร้างความยุ่งยากให้กับองค์กรได้เช่นกัน ถ้าเราบริหารเขาไม่ดี


แล้วองค์กรของท่านเป็นแบบเชิงบวกหรือ เชิงลบ หรือจริงๆ มีทั้งสองแบบอยู่ที่ตัวพนักงาน โดยปกติแล้วปัญหาต่างๆ ทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่องค์กรต้องพบเจออยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก จะมีอยู่ซ้ำๆ กันบ้าง ลองมาดูกันนะครับว่า ปัญหายอดฮิตในการบริหารคนในระยะหลังๆ ที่ผู้บริหารมักจะบ่น และพบเจอจริงๆ อยู่เสมอ มีอะไรกันบ้าง
  • พนักงานขาดความผูกพันต่อองค์กร หรือภาษาอังกฤษที่เขาใช้คำว่า Engagement ปัญหานี้ปัจจุบันถือเป็นปัญหายอดฮิตระดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ ผู้บริหารมักจะบ่นให้ฟังเสมอว่า พนักงานของเขานั้นขาดความผูกพันต่อองค์กร ทำงานแบบมองตนเองเป็นหลัก ไม่มองในมุมขององค์กร ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าขององค์กร พอไม่มีความรู้สึกเหล่านี้ แรงจูงใจก็ไม่เกิด ซึ่งก็ส่งผลต่อผลงานของพนักงานที่มีต่อองค์กรด้วยเช่นกัน
  • พนักงานเข้างานสาย แต่กลับก่อน นี่ ก็เป็นอีกปัญหาที่เจอกันแทบจะทุกบริษัท ก็คือ พฤติกรรมของพนักงานในการทำงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ไม่ค่อยสนใจเรื่องของเวลาในการทำงานมากนัก เวลาเข้างานกี่โมงก็ตาม มักจะมาสายกว่าเวลานั้นเสมอ ไม่ว่าเวลาเข้างานจะสายสักแค่ไหน ก็ต้องมาสายกว่าเวลาที่กำหนดตลอด บางองค์กรกำหนดเวลาเข้างานไว้ 00 – 17.00 ก็มีพนักงานมาสายบ่อยๆ และออกจากบริษัทก่อนเวลาเลิกงาน ก็เลยเปลี่ยนเวลาเข้างานใหม่เป็น 9.00 – 18.00 โดยคิดว่าจะช่วยทำให้พนักงานไม่ต้องมาทำงานสาย แต่เชื่อมั้ยครับ พอเปลี่ยนเวลาเข้างานใหม่ พนักงานยิ่งมาสายกว่าเวลาที่กำหนดมากขึ้นไปอีก และยิ่งไปกว่านั้นพอห้าโมงก็เลิกงานกันเหมือนเดิม เหมือนไม่ได้เปลี่ยนเวลาทำงานเลย
  • พนักงานหายตัวบ่อยๆ อีก กรณีหนึ่งที่เป็นปัญหาที่เจอกันแทบทุกองค์กรก็คือ ระยะหลังๆ พนักงานมักจะคิดว่าการทำงานนั้นมันมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ก็เลยหายตัวบ่อยๆ บางคนก็อ้างว่าขอลาป่วยบ้าง ลากิจบ้าง ฯลฯ บางองค์กรสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สถิติการลาของพนักงานโดยเฉลี่ยมีมากขึ้นกว่าในอดีตมาก
  • พนักงานแต่งกายไม่เหมาะสมมาทำงาน ปัญหา อีกเรื่องหนึ่งของคนยุคเก่าที่มองคนยุคใหม่ ก็คือ เรื่องของการแต่งกายมาทำงาน องค์กรส่วนใหญ่ในระยะหลังๆ มักจะไม่ค่อยกำหนดให้มีแบบฟอร์มในการทำงาน ก็คือให้พนักงานแต่งกายสุภาพ และเหมาะสมกับกาลเทศะ มาทำงาน ซึ่งพนักงานเองก็ต้องใช้ดุลยพินิจว่า แบบไหนที่เรียกกว่าเหมาะสม แต่ในทางปฏิบัติจริง ก็มักจะเห็นการแต่งกายที่ดูอลังการบ้าง ดูโป๊มากไปบ้าง หรือแต่งเหมือนอยู่บ้าน หรือ เหมือนไปเที่ยว ฯลฯ ตัวพนักงานเองไม่ค่อยรู้สึกอะไร แต่ผู้บริหารและคนรุ่นเก่าๆ มักจะมองพนักงานกลุ่มนี้ว่าไม่รู้จักกาลเทศะ จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานมากขึ้น
  • พนักงานคุยกันเรื่องของเงินเดือน ปัญหา คลาสสิคอีกประการก็คือ พนักงานมักจะชอบเอาเรื่องของเงินเดือนมาคุยกัน บอกเงินเดือนกันเอง หรือไม่ก็แลกสลิปเงินเดือนกันเอง ซึ่งมีผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนตามมาอีกมากมาย
  • พนักงานใช้เวลางานทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งาน ปัญหา นี้เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นในระยะหลังที่มีเรื่องของ Social Network เข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น พนักงานเกือบทุกคนมี facebook มี line หรือ social network ตัวอื่นๆ และพนักงานบางคนก็ติดมาก ประเภทต้องเปิดดูความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จนแทบจะไม่ได้ทำงานเลย เวลา 8 ชั่วโมงในการทำงาน ถ้าเราลองพิจารณาว่าใช้เวลาสักเท่าไหร่ในการทำงานจริงๆ ก็จะพบว่า บางคนแทบจะทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวันเลยด้วยซ้ำไป
แล้วแนวทางในการแก้ไขถ้าเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นในองค์กร เราจะต้องทำอย่างไรดี ปัญหาเหล่านี้ทางแก้ไขทำได้สองแนว แนวแรกก็คือ สร้างวัฒนธรรมองค์กรในการทำงานแบบเน้นผลงาน มีการบริหารผลงานกันอย่างจริงๆจังๆ เอาผลงานพนักงานมาเชื่อมกับระบบการให้รางวัลอย่างชัดเจน องค์กรที่ทำได้ดีๆ เราก็มักจะเห็นว่าพนักงานไม่ค่อยมีปัญหามากนัก พนักงานมีพฤติกรรมที่ดี และสอดคล้องกับค่านิยมขององค์กร แต่แนวทางนี้ต้องอาศัยเวลา และผู้นำที่เข้มแข็งมากๆ มาเป็นตัวอย่างที่ดี

อีกแนวทางหนึ่งที่แก้ไข ได้เร็ว และง่าย แต่ไม่ยั่งยืนนัก ก็คือ การใช้กฎระเบียบข้อบังคับเข้ามา เพื่อที่จะลงโทษพนักงานที่ทำผิดไปจากระเบียบที่กำหนด ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้ไปเปลี่ยนพฤติกรรมข้างในของพนักงาน แต่แค่เป็นการหยุดพฤติกรรมชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้ยั่งยืนอะไร

แต่อย่างว่านะครับ ในการบริหารคนก็คงต้องอาศัยทั้งสองแนว ก็คือ ไม้แข็ง และไม้นวมประกอบกัน ที่สำคัญก็คือ พนักงานคนไหนที่ทำได้ดี ไม่มีพฤติกรรมแย่ๆ องค์กรก็ต้องส่งเสริม ให้ความสำคัญ และให้รางวัลแก่พนักงานกลุ่มนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ พนักงานคนอื่นๆ จะได้เลียนแบบสิ่งที่แบบนี้ ใครที่ทำไม่ดีก็ต้องลงโทษให้เห็นเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น