เรื่องของการเก็บรักษาพนักงาน (Employee Retention) นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เคยหายไปจากการบริหารทรัพยากรบุคคลเลย ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใดก็ตาม เนื่องจากองค์กรต้องการความสำเร็จ และความสำเร็จขององค์กรก็มาจากพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่มีฝีมือ ก็เลยต้องหาวิธีที่จะดูแล และเก็บรักษาพนักงานที่มีฝีมือไว้ เรื่องของความพยายามที่จะศึกษาว่า พนักงานที่มีฝีมือนั้นต้องการอะไร ก็เลยเกิดขึ้น
จากในอดีต ที่เราเรียกมันว่า Employee Satisfaction จนปัจจุบันนี้กลายเป็น Employee Engagement
เวลา ที่เราสำรวจความพึงพอใจ สิ่งที่ผมเห็นบ่อยๆ ก็คือเรามักจะเลือก พนักงานที่รู้สึกพึงพอใจกับการทำงานในองค์กร มาตอบคำถามผลออกมาก็คือ พึงพอใจ บางองค์กรพยายามที่จะกันพนักงานที่รู้สึกไม่ดีต่อองค์กรให้ออกไป ไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำการสำรวจในแต่ละครั้งเลย เพราะไม่ต้องการให้คะแนนของตนเองออกมาไม่ดี ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อองค์กรเลย เพราะเราจะได้ข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งส่งผลต่อการวางแผนในการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรในอนาคตอย่างแน่นอน
พนักงาน มือดีๆ ที่ขอลาออกจากองค์กรไปนั้น เขาตอบอย่างชัดเจนว่า ไม่รู้สึกผูกพันอะไรกับองค์กร ยิ่งไปกว่านั้นยังรู้สึกไม่อยากทำงาน ไม่อยากสร้างผลงานให้กับองค์กรด้วยซ้ำไป ก็เลยสอบถามว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น
- สาเหตุอันดับหนึ่ง คือ ผู้นำขององค์กร สาเหตุแรกที่ได้ยินเยอะมากจากคนเก่งๆ ที่ลาออกจากบริษัทก็คือ เขาไม่เชื่อถือในตัวผู้นำขององค์กร อาจจะเป็นเพราะผู้บริหารระดับสูง หรือผู้นำขององค์กรที่เขาทำงานด้วยนั้น ไม่มีความเป็นผู้นำที่ดี สาเหตุหลักก็คือ ขาดวิสัยทัศน์ ไม่เห็นอนาคตเลย อีกทั้งยังไม่มีแนวทางในการทำงานที่ชัดเจน และที่สำคัญผู้นำเหล่านี้มักจะเล่นการเมืองในองค์กรกันอย่างแรง จนไม่มีใครทำงานกัน
- สาเหตุอันดับที่สอง คือ หัวหน้างานของตนเอง สาเหตุนี้ยังคงเป็นสาเหตุยอดฮิตอยู่วันยันค่ำ ไม่มีใครมาล้มล้างสาเหตุนี้ได้เลย ที่คนเก่งๆ พร้อมใจกันลาออกจากองค์กรก็ด้วยจาก หัวหน้าที่แย่ๆ ไม่เคยเอาใจใส่ลูกน้อง ทำดีไม่เคยชื่นชม แต่พอทำไม่ดีก็ด่าจนไม่เหลือชิ้นดี ทำงานไม่ได้ก็ด่า แล้วก็ไม่เคยสอนว่าจะต้องทำยังไงบ้าง เล่นพรรคเล่นพวกกันเอง อวยกันเองกับลูกน้องที่ช่างประจบแต่ผลงานไม่ออก คนเก่งๆ ก็คงไม่อยากจะอยู่กับหัวหน้าแบบนี้แน่นอน
- สาเหตุอันดับสาม คือ เพื่อนร่วมงาน คน เก่งๆ ที่เผ่นออกจากองค์กรกันหมด ก็ด้วยสาเหตุที่เจอกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ดี ประเภทแทงข้างหลังกัน ไม่จริงใจ ไม่มีการช่วยเหลือกันในการทำงาน ต่างคนต่างอยู่ มีปัญหาก็โยนกันไปมา ไม่มีใครที่จะรับผิดชอบช่วยกันแก้ไขอะไรเลย และถ้าหัวหน้างานแย่ด้วยอีก บรรยากาศในการทำงานก็คงจะดูไม่จืดกันเลยทีเดียวครับ
- สาเหตุที่สี่ คือ ไม่ได้รับการยอมรับ อีกสาเหตุหนึ่งที่คนเก่งอยู่กับองค์กรได้ไม่นานก็คือ เขาไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งหัวหน้า และเพื่อนร่วมงาน และไม่ได้รับความรู้สึกว่า เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จขององค์กร ถูกกีดกันออกจากกลุ่ม ทำงานดี แต่ไม่มีใครสนใจ ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม
- สาเหตุที่ห้า คือ ไม่มีอนาคตในองค์กรนี้ สาเหตุ สุดท้ายที่ทำให้คนเก่งๆ ลาออกจากองค์กรก็คือ อยู่ทำงานไปแล้ว ไม่เห็นอนาคตของตนเองว่าจะโตไปไหนได้ และจริงๆ เรื่องของการเติบโต ก็ไม่ใช่เรื่องของตำแหน่งงานเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับเรื่องของงานที่ยากขึ้น ท้าทายมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ถ้าเรื่องเงินสามารถสร้างความผูกพันของพนักงาน ได้จริงๆ ก็คงไม่มีเรื่องของการทำ Engagement Survey กันอยู่จนทุกวันนี้หรอกครับ เพราะองค์กรที่รวยๆ มีเงินมากมายก็มีอยู่ถมไป แต่ทำไมองค์กรเหล่านี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องของ Engagement กันอยู่ล่ะครับ
ถ้าถามว่าเงินค่าตอบแทนสำคัญหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่เงินค่าตอบแทนกับเรื่องของความผูกพันพนักงานนั้น มันไม่ได้แปรผันไปในทางเดียวกันเลยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น