วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

นิทานเซน: ความกังวลใจของหญิงชรา


อีกหนึ่งสัปดาห์ของการทำงานกำลังจะผ่านไปอีกสัปดาห์แล้ว เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หลายท่านอาจจะเหนื่อยกับการทำงาน เหนื่อยกับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในการทำงาน และต้องหาทางแก้ไขกันไปตามสถานการณ์ ถ้าเรามองปัญหาว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเก่งขึ้น เราก็จะมีความสุขกับการแก้ปัญหานั้นๆ แต่ถ้าเรามองปัญหาว่าเป็นปัญหา เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ชอบ เราก็จะมีแต่ความทุกข์ในการทำงาน เพราะทุกงานล้วนแต่มีปัญหาทั้งสิ้น เพียงแต่จะมากหรือจะน้อยแตกต่างกันออกไป ดังนั้นทัศนิคติของเราที่มีต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตจึงเป็นตัวกำหนดความสุขใจของเราเอง


วันนี้ผมเอานิทานเซนอีกเรื่องหนึ่งมาให้อ่านกันในวันศุกร์แบบนี้ เผื่อว่าทุกท่านจะได้สุขใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติในการมองปัญหาในการทำงานเสียใหม่ เพื่อความสุขในการทำงาน และการใช้ชีวิตของเราเองครับ เรื่องราวมีอยู่ว่า ...

ในระหว่างที่อาจารย์เซนออกจาริกธรรม ได้รับนิมนต์ไปพำนักยังบ้านของหญิงชราผู้หนึ่ง ทว่าเมื่อไปถึงพบว่าหญิงชราหน้าตาอมทุกข์ ทั้งยังร้องไห้ไม่หยุด อาจารย์เซนจึงกล่าวกับนางว่า

"ท่านมีความทุกข์ใจอันใดจึงร้องไห้ติดต่อกันไม่หยุดเช่นนี้?"

หญิงชราตอบว่า "ข้า มีบุตรสาวอยู่สองคน คนโตแต่งออกไปให้กับพ่อค้าขายรองเท้าผ้า ส่วนคนเล็กแต่งให้กับพ่อค้าขายร่ม วันใดท้องฟ้าปลอดโปร่ง แดดจ้า ข้าก็เฝ้าแต่กังวลว่าร้านขายร่มของบุตรสาวคนเล็กต้องขายไม่ได้เป็นแน่ จึงอดไม่ได้ที่จะทุกข์เศร้าแทนนาง แต่หากวันใดฟ้าครึ้ม ฝนพรำ ข้าก็กังวลว่ากิจการร้านรองเท้าผ้าของบุตรสาวคนโตย่อมไม่ดีเป็นแน่ เพราะผู้คนไม่อยากใส่รองเท้าที่เปียกน้ำแฉะชื้น เมื่อทุกวันผ่านไปในลักษณะนี้ ข้าจึงได้แต่กังวลจนหลั่งน้ำตาออกมา"

เมื่ออาจารย์เซนได้ฟังจึงกล่าวว่า "ที่แท้เป็นเช่นนี้ ท่านคิดแบบนี้ย่อมไม่ถูกต้องแล้ว"

หญิง ชราสงสัยจึงถามว่า "มารดาวิตกกังวลแทนบุตร มีอันใดไม่ถูกต้อง? ข้ารู้ว่ากังวลไปก็แก้ไขอะไรมิได้ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดเป็นห่วงพวกนาง"

ยามนี้อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า
"มารดา วิตกกังวลเพราะบุตรมิใช่เรื่องผิด แต่มารดาเบิกบานใจเพราะบุตรย่อมดีกว่า ท่านลองคิดดู เมื่อวันแดดจ้าฟ้าใส ร้านรองเท้าผ้าของบุตรสาวคนโตของท่านย่อมขายดิบขายดีเป็นพิเศษ และเมื่อถึงวันฝนตก กิจการร้านขายร่มของบุตรสาวคนเล็กก็ย่อมไปได้สวยเช่นกัน หากคิดเช่นนี้ท่านก็สามารถเบิกบานใจไปกับบุตรสาวทั้งสองได้ในทุกๆ วัน ไม่ต้องทุกข์เศร้าแล้ว"

เมื่อหญิงชราได้ฟังคำแนะนำของ อาจารย์เซน ก็กระจ่างแจ้ง จากนั้นเมื่อคิดได้จึงรู้สึกสบายใจ ทุกครั้งที่นึกถึงบุตรสาวทั้งสอง นางล้วนมีรอบยิ้มแห่งความสุขประดับบนใบหน้าเสมอ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้คนเรามีความทุกข์ได้เท่ากับตัวของตัวเอง สุข-ทุกข์อยู่ที่ใจของเรา อยู่ที่มุมมองและความคิดของเราเอง เมื่อเราเปลี่ยนมุมมอง ความคิดก็เปลี่ยน แม้เป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม เพราะอีกด้านของความทุกข์ก็คือความสุข ไม่ว่าเรื่องใด เมื่อมองให้ทุกข์ย่อมทุกข์ เมื่อมองให้สุขย่อมสุขได้เช่นกัน

แล้วแบบนี้ท่านจะมองให้ทุกข์ หรือจะมองให้สุขดีล่ะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น