มีท่านผู้อ่านอีเมล์มาสอบถามเรื่องของแนวทางในการแก้ปัญหา และวิธีการบริหารจัดการเงินเดือนพนักงานในกรณีที่พนักงานมีเงินเดือนชนเพดาน เงินเดือน หรือที่เรียกกว่า เงินเดือนตัน อย่างไรบ้าง ประเด็นนี้มักจะเกิดกับบริษัทที่มีการวางโครงสร้างเงินเดือนอย่างเป็นระบบ และพนักงานก็เติบโตทางด้านเงินเดือนอย่างต่อเนื่องจนวันดีคืนดี เงินเดือนก็ชนเพดานที่กำหนดไว้ แล้วเราควรจะดำเนินการอย่างไรดี
ขอสรุปวิธีการแก้ไขปัญหาเงินเดือนตันที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก มาให้อ่านกันว่าที่ผมเจอมานั้นมีอะไรบ้างที่ไม่ควรทำ เพราะทำแล้วก็เหมือนกับบริษัทของเราไม่มีโครงสร้างเงินเดือน ถ้าจะทำแบบนี้ สู้ไม่ต้องมีโครงสร้างเงินเดือนจะดีกว่า
- ขยาย maximum ของกระบอกเงินเดือนเฉพาะกระบอกที่พนักงานเงินเดือนตันให้กว้างขึ้น การใช้วิธีนี้อาจช่วยให้พนักงานมีเงินเดือนไม่ตัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีระบบอะไรรองรับเลย ทำไมถึงขยายแต่ maximum แล้ว Minimum ล่ะ ขยายแล้วกระบอกอื่นๆ ทำอย่างไร หลักการคืออะไร ตอบคำถามยากมากครับ ดังนั้นวิธีนี้จึงไม่ดีด้วยประการทั้งปวง และไม่แนะนำให้ทำครับ เพราะจะเกิดปัญหาตามมามากมายครับ
- ขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานคนนั้นตามปกติ แกล้งทำเป็นไม่เห็นว่ามันตันแล้ว แบบนี้จะมีโครงสร้างเงินเดือนไปทำไมล่ะครับ ก็เลยเป็นเหตุให้หลายองค์กรพนักงานมีเงินเดือนเกินกว่า maximum
- เงินเดือนตัน แต่เงินได้อื่นๆ ไม่ตัน ก็เลยเพิ่มเงินได้อื่นให้มากขึ้น แต่คาเงินเดือนไว้เท่ากับ maximum โดยเพิ่มเงินได้อื่นเข้าไป เพื่อให้ภาพรวมแล้วเขาได้รับเงินเดือนสูงขึ้น แบบนี้ก็เหมือนกับไม่มีโครงสร้างเงินเดือนอยู่ดีครับ
- เลื่อนระดับงานของพนักงานให้สูงขึ้น เพื่อ ให้ไปอยู่กระบอกถัดไป เงินเดือนก็จะไม่ตัน วิธีนี้ถ้าเลื่อนโดยที่พนักงานไม่ได้มีความสามารถ หรืองานเองไม่ได้มีค่างานสูงขึ้นเลย ก็จะเป็นตัวที่ทำให้พนักงานคนอื่นเห็นว่า พนักงานคนนี้พอชนเพดานเงินเดือน ก็ยังสามารถได้รับการเลื่อนตำแหน่งต่อไปได้อีก คราวนี้ค่างานเอย โครงสร้างเงินเดือนเอย หรือ Career Path ที่ทำไว้ ก็จะใช้การไม่ได้อีกต่อไป
- ไม่ต้องขึ้นเงินเดือนพนักงานคนนั้น เพราะ การที่พนักงานเงินเดือนตัน ก็แปลว่า พนักงานไม่สามารถที่จะโตไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ รวมทั้งเงินเดือนที่ได้นั้น ก็สูงกว่าอัตรากลางของตลาดอยู่แล้ว ดังนั้นองค์กรที่มีการบริหารค่าจ้างเงินเดือนอย่างเป็นระบบ ก็มักจะไม่มีการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานที่มีเงินเดือนตัน นี่เป็นวิธีการที่ถูกต้องตามหลักการมากที่สุด เพราะถ้ารักจะมีโครงสร้างเงินเดือน ก็ต้องยอมรับการที่เงินเดือนจะต้องชนเพดานเข้าสักวันหนึ่ง ในกรณีที่พนักงานคนนั้นไม่ยอมพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
- ให้เป็นเงินก้อนพิเศษตามผลงาน อีกวิธีหนึ่งก็คือ ถ้าองค์กรยังรู้สึกสงสาร หรือไม่อยากให้พนักงานรู้สึกไม่ดี วิธีการที่นิยมใช้กันก็คือ ใช้เงินเดือนที่จะต้องปรับในกรณีตามผลงานมาปรับให้ แต่ไม่ต้องรวมเข้าไปในเงินเดือนนะครับ ให้เป็นเงินรางวัลตามผลงานไป เงินเดือนก็จะเท่าเดิม แต่พนักงานก็ยังได้เงินพิเศษตามผลงานที่เขาทำได้ในปีนั้น วิธีนี้เป็นวิธีที่หลายๆ องค์กรนำไปใช้กันครับ พอโครงสร้างเงินเดือนปรับสูงขึ้น พนักงานคนนี้ก็จะมีโอกาสได้ปรับขึ้นอีกเล็กน้อยตามโครงสร้างเงินเดือน
- สร้างระบบ Career Path โดยให้สอดคล้องกับระดับงานตามค่างานที่กำหนดไว้ และบริหารเส้นทางสายอาชีพนี้ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พนักงานคนใดที่เติบโตทำงานมาเรื่อยๆ และได้รับการขึ้นเงินเดือนมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่เงินเดือนถ้าขึ้นด้วยอัตรานี้ต่อไปอีก 5 ปีจะตัน HR ก็ควรจะมีการแจ้งให้กับ Line Manager ของพนักงานคนนั้นว่า ถ้าขึ้นเงินเดือนด้วยอัตรานี้ต่อไปอีก 5 ปี พนักงานคนนี้เงินเดือนจะชนเพดานแล้ว เพื่อให้เขากับพนักงานไปวางแผนการพัฒนาพนักงานให้เป็นไปตามสายอาชีพที่กำหนด ไว้ เมื่อพร้อม ก็จะได้ทำการเลื่อนระดับขึ้นไป เงินเดือนก็จะไม่ตัน หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าพัฒนาแล้ว พนักงานไม่ยอมพัฒนาอะไรเลย หรือศักยภาพไม่มีแล้ว เราก็จะสามารถบอกพนักงานคนนั้นได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เงินเดือนตันแล้วนะ พนักงานก็จะยอมรับได้มากขึ้น เพราะมีการแจ้งล่วงหน้าตั้ง 5 ปี เพื่อเตรียมความพร้อม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น