วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทท่านเป็นอย่างไร


ไม่ทราบว่าช่วงปีนี้เป็นอะไรเหมือนกันนะครับ ผมเองได้รับความต้องการจากลูกค้าในการเข้าไปวางระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือน อยู่มากพอสมควร แต่ละแห่งก็ต้องการระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ดี เป็นธรรม และสามารถที่ถึงใช้ในการดึงดูด และเก็บรักษาพนักงานมือดีๆ ไว้กับองค์กรให้ได้ คำถามที่ผมมักจะถามบ่อยๆ เวลาที่จะต้องเข้าไปวางระบบค่าจ้างเงินเดือนให้ลูกค้า ก็คือ คิดว่าเรื่องของระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทมีปัญหาอะไร


คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ก็คือ มีปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการจ่ายค่าจ้าง การจ่ายค่าจ้างไม่เป็นไปตามหน้าที่และความรับผิดชอบของงาน แต่จ่ายตามอาวุโสบ้าง หรือจ่ายตามใจผู้บริหารบ้าง
นอกนั้นก็เป็นปัญหา เรื่องของการแข่งขันว่า รู้สึกว่าระบบค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทไม่สามารถที่ดึงดูดผู้สมัครงานเก่งๆ มาได้เลย อีกทั้งยังไม่สามารถใช้ในการเก็บรักษาพนักงานมือดีให้ทำงานกับองค์กรได้ด้วย

ที่ผ่านมาก็มีหลายท่านถามมาว่ามีเกณฑ์ หรือแนวทางอะไรที่จะช่วยพิจารณาได้ว่า ระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทเรานั้นมีปัญหาหรือไม่ และเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลอื่นๆ มีปัญหาตามมาอีก ผมก็เลยสรุปแนวทางในการพิจารณามาให้อ่านดังต่อไปนี้ครับ
  • เรารับสมัครพนักงานใหม่ไม่ได้ อีกทั้งยังไม่มีคนสนใจมาสมัครงานกับบริษัท หรือมีคนมาแล้ว พอบอกอัตราเริ่มจ้าง ก็ทำให้คนนั้นปฏิเสธการทำงานกับบริษัทไปเลย เนื่องจากอัตราแรกจ้างที่ต่ำกว่าตลาดทั่วไปใช่หรือไม่
  • เราเสียพนักงานมือดี ให้กับองค์กรอื่น โดยที่เกินกว่า 70% ของพนักงานมือดีที่ลาออกไปนั้น มีสาเหตุมาจาก เราจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าบริษัทอื่น ใช่หรือไม่
  • เรามีระบบการขึ้นเงินเดือนประจำปีที่ไม่ส่งเสริมคนเก่ง คนเก่งกับคนไม่เก่ง หรือ คนที่มีผลงานดี กับผลงานไม่ดี ได้ขึ้นเงินเดือน หรือได้รางวัลผลงานแบบไม่แตกต่างกัน ก็เลยเป็นสาเหตุให้คนเก่งๆไม่มีแรงจูงใจในการสร้างผลงาน และออกไปอยู่กับบริษัทอื่นแทน ใช่หรือไม่
  • มีเสียงบ่นจากพนักงานว่า การบริหารจัดการเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนนั้นไม่เป็นธรรม เช่น คนใหม่มาได้รับเงินเดือนมากกว่าคนเก่า ที่ทำผลงานได้ในเกณฑ์ดี หรือการขึ้นเงินเดือนไม่ตอบเรื่องของผลงานพนักงานจริงๆ ใครที่ขยัน ทำงานได้ดี แต่กลับได้รับการขึ้นเงินเดือนที่น้อยกว่า หรือใกล้เคียงกับพนักงานที่ผลงานไม่ดี ใช่หรือไม่
  • พนักงานที่อายุงานเยอะๆ มีแนวโน้มจะได้รับค่าจ้างเงินเดือนสูงกว่าพนักงานที่อายุน้อยๆ โดยไม่พิจารณาจากความยากง่ายของงาน และผลงาน โดยเฉพาะพนักงานในตำแหน่งล่างๆ เช่น พนักงานพิมพ์ดีด พนักงานขับรถ พนักงานธุรการ พนักงานรับโทรศัพท์ ฯลฯ ที่อยู่กับบริษัทมานานมาก มีอายุงานนานๆ จนเงินเดือนสูงเกินกว่าตำแหน่งงานที่มีคุณค่าต่อบริษัท ใช่หรือไม่
  • พนักงานเริ่มหาอาชีพเสริมนอกเวลางานมากขึ้น จนบางครั้งอาชีพเสริมนั้นมาบดบังเวลาในการทำงานหลักของบริษัท ใช่หรือไม่
จากคำถามข้างต้น ถ้าท่านตอบว่า “ใช่” ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป แสดงว่าระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทท่านน่าจะเป็นปัญหาในการ บริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะทำให้การบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทมีปัญหาตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการสรรหาคัดเลือกคนเก่งๆ เข้าทำงานกับบริษัท ปัญหาในการจูงใจเพื่อให้คนเก่งสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง และให้คนไม่เก่งพยายามเร่งตัวเองให้เก่งขึ้น อีกทั้งยังมีปัญหาในการเก็บรักษาคนเก่งให้ทำงานกับองค์กรอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกที่ควรจะเป็นก็คือ การพัฒนาและวางระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทเสียใหม่ เพื่อให้เป็นระบบที่มีความเป็นธรรม และแข่งขันได้ รวมทั้งสามารถตอบสนองเรื่องของการให้รางวัลผลงานของพนักงานได้อย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น