ช่วงปีนี้ผมได้รับเรื่องความต้องการของลูกค้าในเรื่องของการให้เข้าไปช่วยวาง ระบบการประเมินผลงานใหม่ วางระบบการบริหารผลงานใหม่ รวมทั้งงานบรรยายเรื่องของการประเมินผลและบริหารผลงานค่อนข้างมากทีเดียว ก่อนที่จะเข้าไปดำเนินการ ผมก็จะสอบถามถึงสภาพปัจจุบันของระบบการประเมินผลงานที่เป็นอยู่ ซึ่ง HR ต่างก็ตอบเหมือนกันว่า ระบบที่ใช้อยู่นั้นไม่เป็นธรรม และไม่สามารถที่จะประเมินผลงานพนักงานออกมาได้ตามความเป็นจริงเลย
จากนั้นก็สอบถามต่อ ว่า เรื่องของการประเมินผลงานนั้นมีการทำอะไรไว้บ้างหรือเปล่าในอดีตที่ผ่านมา คำตอบก็คือ มีการให้วิทยากรมาสอนเรื่องนี้แทบทุกปี โดยเปลี่ยนคนสอนไปเรื่อยๆ เพื่อพยายามที่จะสร้างความเข้าใจในเรื่องของการประเมินผลงานให้ชัดเจนมาก ขึ้น บางบริษัทก็ตอบว่า มีการวางระบบการประเมินผลงาน รวมทั้งบางแห่งวางระบบบริหารผลงานด้วยเลย เพื่อพยายามที่จะทำให้ระบบการประเมินผลงานของบริษัทเป็นธรรม และสะท้อนผลงานของพนักงานออกมามากที่สุด
แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า องค์กรส่วนหนึ่งที่ทำระบบไว้มากมาย และเป็นระบบที่ดีด้วย แต่กลับไม่สามารถทำให้ระบบบริหารผลงาน และการประเมินผลงานกลายเป็นระบบที่สะท้อนผลงานพนักงานจริงๆ ได้เลย คำถามก็คือ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ทำงานทางด้าน HR มาย่อมจะเข้าใจดีว่า ระบบที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมได้อยากที่สุดในการบริหารบุคคลก็คือ ระบบการประเมินผลงานนี่แหละครับ เอาเข้าจริงๆ ระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่เราว่ายากแล้ว แต่สุดท้ายองค์กรก็สามารถทำระบบนี้ และสามารถที่จะบริหารค่าจ้างเงินเดือนได้อย่างเป็นธรรมตามหน้าที่และความรับ ผิดชอบได้ แต่เรื่องของผลงานกลับเป็นเรื่องที่สร้างได้ยากมาก สาเหตุก็มาจาก
- ผลประโยชน์ที่แฝงอยู่ในการประเมินผลงาน คนที่เคยผ่านการประเมินผลงาน และถูกประเมินผลงานมาในการทำงาน ย่อมจะทราบดีว่า การประเมินผลงานนั้นมีผลต่อการให้รางวัลตามผลงานในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือนประจำปี การให้โบนัสตามผลงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลประโยชน์ในรูปตัวเงินที่พนักงานจะได้รับตามผลงาน ก็เลยทำให้ผู้ประเมินมีความรู้สึกว่า ถ้าเขาประเมินให้ผลงานน้อยๆ หรือประเมินผลงานตามความเป็นจริงๆ ก็อาจจะทำให้ลูกน้องได้รับค่าตอบแทนในส่วนนี้น้อยลงไปด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ลูกน้องไม่รัก และรู้สึกไม่ดีกับเขาในฐานะหัวหน้า ผลก็คือหัวหน้าก็จะพยายามหาเหตุผลที่จะประเมินผลงานลูกน้องของตนเองออกมาให้ ได้ดีไว้ก่อน เพื่อที่จะทำให้อย่างน้อยเขาไม่ใช่เป็นผู้ร้ายที่ทำร้ายลูกน้องตนเอง และไม่อยากให้ลูกน้องไม่รัก เพราะกลัวว่าถ้าเราประเมินผลตรงไปตรงมาจะทำให้พนักงานไม่อยากทำงานกับเราใน ปีถัดไป เชื่อหรือไม่ว่า ความคิดในลักษณะนี้เป็นความคิดของหัวหน้างานส่วนใหญ่ในองค์กรเลย ซึ่งส่งผลให้ระบบการประเมินผลงานกลายเป็นระบบที่ไม่สามารถลงตัวสักที
สุดท้าย KPI ที่พยายามสร้างสรรค์ขึ้นมาเพราะคิดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือมาใช้ในการประเมิน ผลงานได้อย่างชัดเจนและเป็นธรรม เพราะสะท้อนจากตัวผลงานที่ทำได้จริงๆ ก็กลับกลายเป็นว่า หัวหน้างานก็เอามาเล่นแร่แปรธาตุกันใหญ่ โดยยึดผลตอบแทนที่พนักงานควรจะได้เป็นหลักอีกเช่นกัน เช่น อยากให้ลูกน้องของเราคนนี้ได้ A ก็เอาเป้าหมายที่พนักงานคนนี้ทำได้อยู่แล้วแน่ๆ ไปตั้งไว้ที่ A เลย แล้วก็ลดหลั่นตัวเป้าหมายลงมาเรื่อยๆ ผลก็คือ พนักงานคนนี้ยังไงก็ A แน่ๆ ยิ่งถ้าบริษัทไหนไม่มีการกำหนด KPI ขององค์กรให้ชัดเจนก่อน หรือไม่มีการตรวจสอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็จะยิ่งทำให้หัวหน้าอยากกำหนดให้ใครยาก ใครง่ายได้ตามใจฉันอีกเช่นกันสุดท้ายการประเมินผลงานก็เข้าสู่วงจรอุบาทว์ อีกเช่นเดิม
จากประสบการณ์ของผมเองที่ประเมินผลงานลูกน้องตนเองใน บริษัทด้วย และจากที่ได้วางระบบให้กับบริษัทอื่นๆ มาพอสมควร บอกได้เลยว่า การจะทำให้ระบบประเมินผลงานและการประเมินผลงานของหัวหน้าต่อลูกน้องออกมา เป็นธรรม และสะท้อนผลงานได้จริงนั้น จะต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ
- ตัวระบบประเมินผลงาน จะต้องมีการออกแบบและวางระบบการประเมินที่สะท้อนผลงานพนักงานจริงๆ โดยถามตนเองก่อนเลยว่า องค์กรของเรานั้น ถ้าพนักงานทำผลงานที่ดีนั้น ดูจากอะไรเป็นหลัก เน้นไปที่เรื่องของผลลัพธ์ หรือเน้นไปที่เรื่องของพฤติกรรม ทำให้ชัดเจนทั้ง KPI และ Competency รวมทั้งระบบการให้คะแนนต่างๆ โดยตัวระบบเองจะต้องสามารถอธิบายผลงานของพนักงานแต่ละคนได้อย่างชัดเจน และมีหลักฐานประกอบได้ด้วย แต่อย่างไรก็ดี ระบบประเมินผลงานที่ดีนั้น มันก็เป็นแค่ระบบเท่านั้น สิ่งถัดไปที่จะต้องสร้างต่อก็คือ
- คนประเมินจะต้องเข้าใจระบบ และประเมินอย่างมืออาชีพ ปัจจัย ที่สองก็คือคนที่ทำหน้าที่ประเมินผลงานจะต้องเข้าใจระบบที่วางไว้อย่าง ชัดเจน และสามารถนำระบบไปใช้ในการพิจารณาผลงานของพนักงานได้อย่างตรงไปตรงมา ผู้ประเมินจึงต้องดำเนินการตามระบบที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยไม่มีข้อโต้แย้ง หรือข้อยกเว้นมากจนเกินไป และประเด็นที่สำคัญมากสำหรับผู้ประเมินที่จะต้องสร้างให้ได้ก็คือ จิตสำนึกของการเป็นหัวหน้าที่จะต้องประเมินผลงานของลูกน้องจากผลงานจริงๆ ที่ลูกน้องทำได้ ไม่ใช่ประเมินเพื่อที่จะหาทางให้ลูกน้องได้ขึ้นเงินเดือนเยอะๆ โดยที่ผลงานไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่สร้างได้ค่อนข้างยาก แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา และการพัฒนาคนที่เป็นผู้ประเมินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าใจในเรื่องของผลงาน และการประเมินผลงานโดยแท้จริงๆแล้ว มันจะช่วยให้ผลงานของหัวหน้าดีขึ้นในระยะยาว
- ผู้ถูกประเมิน ปัจจัย ที่สาม ก็คือ ผู้ถูกประเมินก็จะต้องเข้าใจในระบบประเมินผลงานของบริษัทอย่างถ่องแท้ และรู้ว่า ผลงานของตนเองนั้นถ้าจะดี ต้องทำอะไรบ้าง หรือถ้าอยากให้ดีมาก จะต้องทำอะไรเพิ่มเติมเข้าไปบ้าง และให้รู้ว่า ผลงานของตนเองนั้นอยู่ที่ตัวเอง ไม่ใช่อยู่ที่ปลายปากกาของหัวหน้า เมื่อผู้ถูกประเมินเข้าใจอย่างดี ผู้ประเมินก็น่าจะสบายใจขึ้นถ้าจะต้องประเมินผลงานให้ลูกน้องบางคนไม่ดี แต่ก็เป็นผลงานที่ไม่ดีเพราะข้อเท็จจริงว่า พนักงานทำไม่ได้ตามที่ตกลงไว้จริงๆ ซึ่งผมเชื่อว่าพนักงานรับได้อยู่แล้ว เพราะมันคือข้อเท็จจริง จากนั้นจึงค่อยมานั่งวางแผนกันต่อว่า ถ้าอยากให้ผลงานดีในปีถัดไป จะต้องไปพัฒนาอะไรบ้าง
- ผู้นำองค์กรต้องเอาจริง ปัจจัย สุดท้ายก็คือ ผู้นำองค์กรจะต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องการประเมินผลงานด้วยเช่นกัน จะต้องเป็นผู้ให้นโยบาย และปฏิบัติจริงตามระบบประเมินผลงานที่ได้วางไว้ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังต้องมีการประเมินผู้ประเมินอีกทีว่า ถ้าผู้จัดการคนไหนไม่สามารถที่จะประเมินผลงานลูกน้องของตนเองตามความเป็น จริงได้ ยังคงให้ A ยกฝ่ายมาอีก และไม่มีหลักฐานอะไรแสดงชัดเจนว่า A จริงๆ นั่นแปลว่าผลงานของผู้จัดการคนนั้นจะต้องลงไปเหลือแค่ E เพราะแค่เรื่องการประเมินผลงานลูกน้องยังทำไม่ได้ แล้วงานบริหารจัดการของตนเองจะทำได้อย่างไร
เพราะเรื่องนี้จะทำให้ดีได้ ต้องอาศัยเวลาและการเอาจริงเอาจังของผู้บริหารระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น