ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังจะเริ่มมีนิสิต นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา เข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นเดือนสุดท้ายของการเรียนการสอน ช่วงนี้เอง มีนิสิตนักศึกษาบางคนก็เริ่มหางานทำกันบ้างแล้ว องค์กรต่างๆ เองก็เริ่มที่จะออกตลาดนัดแรงงาน เพื่อที่จะสรรหาพนักงานให้ได้คุณภาพตรงกับที่บริษัทต้องการมากที่สุด ประเด็นที่เด็กจบใหม่มักจะให้ความสำคัญและเป็นตัวตัดสินใจในการเข้าทำงาน ก็คือ เงินเดือนแรกจ้าง
บริษัทส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะมีการกำหนดอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาสำหรับพนักงานที่เพิ่งจบใหม่ออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย ราคาก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของงานด้วย งานไหนที่ต้องอาศัยความรู้ทักษะที่เฉพาะทาง ก็มักจะมีการกำหนดราคาค่าจ้างที่สูงกว่างานที่ไม่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง บางบริษัทมีการกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงานที่เพิ่งจบใหม่ โดยใช้เกรดเฉลี่ยมาเป็นตัวตัดสินใจว่า จะรับหรือไม่รับ
ยิ่งไปกว่านั้นบางบริษัทยังมีการกำหนดอัตราค่าจ้างเงินเดือนที่สูงมากกว่าปกติ ให้กับเด็กที่มีผลการเรียนในระดับเกียรตินิยมอีกด้วย คำถามก็คือ ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกับการกำหนดอัตราค่าจ้างเงินเดือนตามเกรดของเด็ก จากประสบการณ์ที่ไปวางระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือนอีกเช่นเดิมครับ ก็พบกับองค์กรอยู่ 3 ประเภท คือ
- เชื่อว่าเกรดเฉลี่ยของเด็กมีผลกับการทำงาน องค์กรที่มีความเชื่อแบบนี้ ก็มักจะมีการกำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นที่แตกต่างกันออกไปตามเกรดที่จบมา เช่น ถ้าใครจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ก็จะได้มากกว่า อันดับสอง และใครที่เกรดเฉลี่ยมากกว่า 3.00 ก็จะได้เงินเดือนสูงกว่าคนที่ต่ำกว่า 3.00 เมื่อถามว่าทำไมถึงกำหนดวิธีการจ่ายเงินเดือนด้วยวิธีนี้ คำตอบที่ได้มาก็คือ เขาเชื่อว่า เกรดเฉลี่ยนั้นเป็นผลงานของเด็กในขณะที่เรียนหนังสือ หน้าที่และความรับผิดชอบของเด็กในช่วงนี้ก็คือ การเรียน ซึ่งผลสำเร็จของการเรียนก็วัดจากเกรดที่จบออกมา และยิ่งไปกว่านั้น เขายังเชื่อว่า คนที่เรียนได้เกรดสูงๆ จะมีแนวโน้มที่มีสมองที่ดีกว่า มีความคิดที่ดีกว่า วิเคราะห์ได้ดีกว่า เด็กที่เรียนได้เกรดต่ำกว่า ก็เลยอยากดึงดูดเด็กเก่งๆ โดยกำหนดอัตราเงินเดือนแตกต่างกันออกไปตามเกรดเฉลี่ย
- เชื่อว่าเกรดมีผลกับการทำงาน แต่ไม่ได้กำหนดเป็นเงินเดือน องค์กรแบบนี้ส่วนใหญ่มีการกำหนดอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาที่เท่ากัน เช่น ปริญญาตรีสังคมศาสตร์ เริ่มจ้างที่ 15,000 บาท แต่ถ้าใครที่เรียนได้เกียรตินิยม จะมีค่าเกียรตินิยมให้เพิ่มเติม องค์กรแบบนี้ก็มีแนวคิดคล้ายๆ กับแบบแรก เพียงแต่ไม่มีการกำหนดแบ่งระดับเกรดเฉลี่ยละเอียดเท่าองค์กรแบบแรก
- ไม่เชื่อว่าเกรดเฉลี่ยจะมีผลต่อการทำงาน องค์กรประเภทนี้เชื่อว่าเกรดเฉลี่ยกับผลงานที่จะออกมานั้นไม่ได้ไปด้วยกันสักเท่าไหร่ เพราะการเรียน กับการทำงานนั้นแตกต่างกัน พนักงานบางคนที่จบมาด้วยเกรดสูงๆ แต่ผลงานอาจจะไม่ดีเท่ากับพนักงานที่เรียนปานกลาง หรือเรียนแย่ๆ ก็ได้ องค์กรที่เชื่อแนวนี้ ก็มักจะกำหนดอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ในอัตราเดียวเท่านั้น โดยไม่มีการให้ค่าเกรดสูง หรือค่าเกียรตินิยม เพราะไม่เชื่อว่า เกรดดีแล้วผลงานจะดีไปด้วย แต่ถ้าผลงานออกมาดีจริงๆ ก็จะอาศัยระบบการขึ้นเงินเดือนตามผลงาน เป็นกลไกในการทำให้เงินเดือนของพนักงานที่มีผลงานดีได้เงินเดือนที่สูงกว่าคนที่มีผลงานไม่ดี ค่อยไปแข่งกันตอนทำงานสร้างผลงานจะดีกว่า
ซี่งผมเองก็เชื่อแบบนี้เช่นกัน เกรดเฉลี่ยนั้นเป็นเพียงใบเบิกทางในการเข้าสู่ตลาดแรงงานเท่านั้น แต่ไม่น่าจะมีผลอะไรในการตัดสินใจให้ค่าจ้างเงินเดือน และโดยทั่วไปเราก็มักจะพิจารณาเกรดเฉลี่ยของพนักงานที่เพิ่งจบมาไม่เกิน 3 ปี ใครที่ทำงานมานานกว่า 5 ปีแล้ว เท่าที่ผมเห็นจากวิธีการคัดเลือกพนักงานในองค์กรต่างๆ ก็เห็นว่าจะไม่มีการดูเกรดเฉลี่ยแล้วครับ แต่จะดูประสบการณ์และผลงานที่ได้สร้างขึ้นมามากกว่า
อย่างไรก็ดี ระบบการกำหนดค่าจ้างตามความเชื่อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่มีผิดไม่มีถูกนะครับ อยู่ที่ความเชื่อขององค์กรนั้นๆ มากกว่าครับ ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะพิจารณาก็คือ การกำหนดอัตราเงินเดือนแรกจ้างนั้นๆ กำหนดออกมาแล้ว ทำให้เราสามารถดึงดูดเด็กในแบบที่เราต้องการใช่หรือไม่ และทำให้เราได้เด็กแบบที่เราอยากได้เข้ามาทำงานใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ระบบนั้นก็เหมาะกับองค์กรเราแล้วครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น