วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เรียนจบ มีวุฒิสูงขึ้น ขอปรับเงินเดือนให้หรือไม่

 

ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกับการที่พนักงานทำงานอยู่กับเรา แล้วไปเรียนต่อในวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น พอเรียนจบก็เอาวุฒิที่จบมายื่นกับทาง HR แล้วก็ขอปรับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาที่จบมา บริษัทของท่านปรับให้หรือไม่ครับ
คำถามนี้ตอบยากเหมือนกันนะครับ เพราะเท่าที่ผมทำการสำรวจค่าจ้างมาเกือบ 20 ปี การปรับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษานี้ยังคงมีอยู่ในตลาดบ้านเรา เพียงแต่แนวโน้มค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ครับ ปัจจุบันนี้มีองค์กรจำนวนน้อยลงมาก ที่มีการปรับเงินเดือนให้ตามวุฒิการศึกษาที่พนักงานไปเรียนต่อมาแล้วเอามายื่นกับ HR เพื่อปรับวุฒิ
  • องค์กรที่ปรับให้ ก็ด้วยเหตุผลว่าพนักงานไปร่ำเรียนสูงขึ้น ก็น่าจะมีการปรับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นของพนักงาน องค์กรที่เชื่อแบบนี้ ก็จะไม่สนใจในเรื่องของค่างานมากนัก แต่จะสนใจในเรื่องของวุฒิการศึกษาของพนักงานมากกว่า กล่าวคือ เรียนสูงขึ้น ก็จะได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้นไปด้วย โดยที่งานก็ยังคงทำเหมือนเดิม
  • องค์กรที่ไม่ปรับให้ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าเรียนจบวุฒิที่สูงขึ้นก็จริง แต่งานก็ยังคงทำเหมือนเดิม ดังนั้นจะไม่มีการปรับเงินเดือนให้ องค์กรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเชื่อเรื่องค่างาน และบริหารค่าจ้างเงินเดือนโดยใช้ค่างานเป็นฐานในการบริหารเงินเดือน ดังนั้นต่อให้เรียนจบสูงสักแค่ไหน แต่ถ้ายังคงทำงานเหมือนเดิมทุกประการ ก็จะไม่มีการปรับเงินเดือนใดๆ ให้ แต่องค์กรกลุ่มนี้ก็จะมีการเปิดโอกาสให้พนักงานที่เรียนจบในวุฒิที่สูงขึ้น ได้มีโอกาสเปลี่ยนสายการทำงานในองค์กรเอง โดยอาจจะเปิดรับสมัครจากพนักงานภายในองค์กรเองก่อน ซึ่งพนักงานที่ไปเรียนจบมาในวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น ก็มักจะใช้โอกาสนี้ในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงาน โดยทำงานในตำแหน่งที่มีค่างานสูงขึ้นกว่าตำแหน่งเดิม ซึ่งก็จะทำให้ค่าจ้างและเงินเดือนได้รับการปรับสูงขึ้นเช่นกัน
  • องค์กรที่ปรับให้ แต่ต้องจบตรงกับงานที่ทำ องค์กรแบบนี้ เป็นองค์กรที่พบกันครึ่งทางระหว่างสององค์กรแรกที่กล่าวไป ก็คือ มีการปรับเงินเดือนให้ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า จะปรับให้ก็ต่อเมื่อ เรียนจบในสาย หรือในวุฒิที่เกี่ยวข้องกับงาน และเอามาใช้ประโยชน์ต่อการทำงานในองค์กรได้จริง องค์กรแบบนี้มักจะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนมากกว่า ถ้าทำงานอะไร แล้วต้องไปเรียนอะไรบ้าง ที่จะได้รับการปรับเงินเดือน ถ้าเรียนนอกเหนือจากสิ่งที่กำหนดไว้ ก็จะไม่ได้รับการปรับเงินเดือนเช่นกัน
เท่าที่ผมเจอในการสำรวจค่าจ้างก็จะมีอยู่ 3 รูปแบบหลักๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะทำอย่างเป็นระบบ แต่ก็ยังคงมีบางองค์กรที่ไม่มีการกำหนดเรื่องของการปรับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาไว้อย่างชัดเจน บริษัทก็จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งก็อาจจะไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน บางคนจบมาได้ปรับ แต่บางคนไม่ได้ปรับ พนักงานเองก็จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นได้  

มีบางท่านถามมาว่า ถ้าพนักงานเข้ามาขอปรับวุฒิเนื่องจากเรียนจบสูงขึ้น แต่บริษัทไม่ปรับให้ จากนั้นพนักงานก็บอกว่าขอลาออกเลย แล้วเราจะทำอย่างไร จะปรับให้เพราะกลัวว่าพนักงานจะลาออก หรือไม่ปรับดี จะออกก็ให้ออกไป เราก็หาคนใหม่มาแทนได้

ท่านผู้อ่านล่ะครับคิดอย่างไรกับกรณีแบบนี้ครับ ถ้าถามผม ผมขอตอบเป็น 2 กรณีนะครับ
  • ถ้าบริษัทมีนโยบายค่าจ้างเงินเดือนที่เน้นเรื่องค่างานเป็นหลัก ก็จะไม่มีการปรับเงินเดือนให้ แม้ว่าพนักงานยืนกรานจะลาออก ก็จะปล่อยให้ไป เพราะพนักงานลาออกไปสมัครงานใหม่ด้วยวุฒิใหม่ที่จบมา ปกติก็จะไม่ได้รับงานแบบเดิมๆ อยู่แล้ว โดยทั่วไปจบสูงหน่อย ความรับผิดชอบก็จะสูงขึ้นไปด้วยอยู่แล้ว
  • ยังไม่ปรับให้ แต่จะเรียกพนักงานคนนั้นมาคุย แล้วแจ้งว่า เนื่องจากระบบของบริษัทเน้นเรื่องค่างานเป็นหลัก เราเห็นว่าพนักงานจบวุฒิที่สูงขึ้น ดังนั้น จะทำการคุยกับหัวหน้าของพนักงานก่อน เพื่อทำการปรับเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบให้สูงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับวุฒิการศึกษาที่จบมา ถ้าดำเนินการตรงนี้เสร็จเมื่อไหร่ก็จะปรับเงินเดือนให้ตามงานที่เปลี่ยนแปลงไป
ผมเองค่อนข้างจะมีความเชื่อไปในทางค่างานมากกว่าครับ แต่อย่างไรก็ดี เรื่องแบบนี้ องค์กรควรจะกำหนดเป็นนโยบายให้ชัดเจนครับ ว่าจะปรับหรือไม่ปรับ เรื่องแบบนี้ไม่มีผิดไม่มีถูกครับ ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละองค์กรเป็นสำคัญครับ

สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ถ้านโยบายเขียนอย่างไร ก็ต้องทำตามที่เขียนนะครับ ไม่ใช่อยากให้ใครก็ให้ ไม่อยากให้ใครก็ไม่ให้ แบบนี้พนักงานจะยิ่งรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมขององค์กรมากขึ้นไปอีกครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น