วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ กับสถาบันการศึกษา

 

 เป็นปัญหาโลกแตกอีกข้อหนึ่งเหมือนกัน ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือน โดยเฉพาะการกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับการว่าจ้างพนักงานใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษามาจากรั้ววิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย มักจะมีคำถามตามมาว่า อัตราแรกจ้างที่เราจะว่าจ้างผู้สมัครที่เพิ่งจบการมหาวิทยาลัยนั้น ตัวสถาบันเองมีส่วนในการกำหนดอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษานี้หรือไม่
จากผลการสำรวจค่าจ้าง และจากประสบการณ์ที่ผมได้ไปเป็นที่ปรึกษาทางด้านระบบบริหารเงินเดือนนั้น ก่อนวางระบบจะพบกับประเด็นนี้อยู่พอสมควร ซี่งสามารถแบ่งเป็น 2 กรณีใหญ่ๆ ดังนี้
  • องค์กรที่นำเอาสถาบันเข้ามามีส่วนในการกำหนดอัตราแรกสำหรับพนักงานจบใหม่ องค์กรกลุ่มนี้ จะมีการกำหนดอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษา โดยมีการแบ่งอัตราเงินเดือนไปตามสถาบันที่ผู้สมัครคนนั้นจบมา ผลก็คือองค์กรแบบนี้จะมีพนักงานที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งเดียวกัน แต่เงินเดือนเริ่มต้นจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสถาบันที่จบมา ถามเหตุผลว่าทำไมถึงมีการกำหนดนโยบายแบบนี้ คำตอบที่ได้จากผู้บริหารก็คือ คุณภาพของเด็กที่จบมาไม่เหมือนกัน ดังนั้น จะกำหนดให้มีการจ่ายเงินเดือนที่แตกต่างกันออกไป
  • องค์กรที่ไม่นำเอาสถาบันมากำหนดความแตกต่างของเงินเดือน องค์กรกลุ่มนี้จะกำหนดอัตราแรกจ้างเป็นอัตราเดียว ตามวุฒิการศึกษา โดยไม่สนใจว่า ผู้สมัครคนนั้นจะจบจากที่ไหนมา ไม่ว่าจะจบจากที่ไหน ถ้าเป็นวุฒิเดียวกัน และทำงานเหมือนกัน ก็จะให้เงินเดือนในอัตราแรกจ้างที่เท่ากัน ถามถึงเหตุผลว่าทำไมถึงให้เท่ากันทุกสถาบัน (ไม่ใส่ใจคุณภาพของเด็กหรือ) คำตอบที่ได้มาก็คือ องค์กรเหล่านี้ยอมรับว่าคุณภาพของเด็กอาจจะมีความแตกต่างกันจริงๆ ระหว่างสถาบัน แต่เขาก็ยังเชื่อว่า แม้จะจบจากสถาบันชั้นเยี่ยมของประเทศ ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะมีคุณภาพเสมอไป หรือจะจบจากสถาบันโนเนม ก็ใช่ว่าจะไร้คุณภาพเสมอไป เขาเชื่อในระบบการสรรหาคัดเลือกขององค์กรเองมากกว่า กล่าวคือ ถ้าใครก็ตามผ่านระบบการคัดเลือกของบริษัทที่มีการกำหนดแนวทางการคัดเลือกอย่างชัดเจนแล้ว แปลว่า ทุกคนที่ผ่านเข้ามาได้นั้น มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ดังนั้น อัตราเงินเดือนเริ่มต้นก็ต้องเท่ากัน แล้วค่อยไปพิสูจน์กันต่อในเรื่องของความสามารถในการทำงาน และผลงานที่ออกมามากกว่า
ท่านผู้อ่านเองล่ะครับ เชื่อแนวทางไหนมากกว่ากันครับ

ผมเองโดนส่วนตัวแล้วเชื่อแนวทางที่ 2 มากกว่า ก็คือ ไมว่าจะจบจากที่ไหนมาก็ตาม ถ้าผ่านระบบการคัดเลือกของบริษัทเข้ามาได้ แสดงว่ามีคุณภาพที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นอัตราเริ่มจ้างก็ต้องเท่ากัน

ลองคิดดูเล่นๆ ก็ได้ครับ ถ้าเราจ่ายไม่เท่ากันโดยขึ้นกับสถาบัน แล้วถ้าเราเกิดรับพนักงานตำแหน่งเดียวกันเข้ามา 2 อัตรา โดยที่มากันคนละสถาบัน และให้เงินเดือนเริ่มจ้างที่ไม่เท่ากัน แรกๆ ทั้งคู่ก็ไม่ทราบเงินเดือนของกันและกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ทั้งคู่เริ่มรู้เงินเดือนของกันและกัน คนที่ได้น้อยกว่าย่อมจะรู้สึกว่า องค์กรบริหารเงินเดือนแบบไม่เป็นธรรม เพราะงานที่ทำก็เหมือนกัน ดีไม่ดี ผลงานคนที่มาจากสถาบันที่โนเนมกว่า อาจจะดีกว่าคนที่จบมาจากสถาบันแนวหน้าของไทยก็เป็นได้นะครับ ผลสุดท้ายก็จะเกิดการลาออกขึ้น ยิ่งถ้าพนักงานคนนั้นเป็นคนที่มีฝีมือด้วยแล้ว เราก็จะเสียพนักงานคนนั้นไปง่ายๆ เลย แค่เพียงเขารู้สึกว่าองค์กรไม่มีความเป็นธรรมในการจ่ายเงินเดือนนั่นเอง หรือบางคนอาจจะคิดเลยเถิดไปอีกว่า องค์กรเป็นพวกเลือกปฏิบัติ

วิธีการที่เหมาะสมก็คือ ปรับปรุงระบบการสรรหาคัดเลือกของบริษัทให้มีมาตรฐาน และสอดคล้องกับระบบ Competency ของบริษัทที่มี เพื่อที่จะได้รับคนในคุณภาพแบบเดียวกัน และถ้าเรามีระบบคัดเลือกที่ดีแล้ว ผมเชื่อว่าคนที่เราเลือกเข้ามาทุกคนล้วนมีคุณภาพทั้งสิ้น ไม่ว่าจะจบจากที่ไหนมาก็ตาม เงินเดือนก็ควรจะเริ่มต้นที่เท่ากันครับ  

จากนั้นเอาเรื่องของผลงานของพนักงานมาเป็นตัวพิสูจน์กันดีกว่า สุดท้ายใครจะเงินเดือนมากกว่าใครก็อยู่ที่ผลงานที่เขาทำ วิธีนี้น่าจะสร้างความเป็นธรรมในการบริหารเงินเดือนมากกว่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น