วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทำไมชื่อตำแหน่งถึงมีปัญหากันจัง

 

 ขณะนี้ท่านดำรงตำแหน่งอะไรครับ ลองนึกถึงชื่อตำแหน่งของเราเองดูนะครับว่า มันมีอะไรพิกลๆ หรือเปล่า แล้วเราคิดอย่างไรกับชื่อตำแหน่งของเราเอง มันช่วยทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าของงานที่เราทำหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ตัวบ่งบอกชั้นยศของเราเท่านั้น แต่ไม่มีอะไรพิเศษเลย
ในการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น ชื่อตำแหน่งเป็นตัวบ่งบอกถึงหน้าที่การงานที่ทำคร่าวๆ และยังบอกถึงระดับความสำคัญของตำแหน่งงานนั้นในองค์กรด้วย ซึ่งด้วยเหตุนี้เอง บางองค์กรจึงใช้ชื่อตำแหน่งเป็นตัวบอกถึงความก้าวหน้าในสายงานก็มี แต่อย่างไรก็ดี พอองค์กรใหญ่ขึ้น บางองค์กรก็มีการออกแบบชื่อตำแหน่งไปในทางที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้มากมายเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่สะท้อนการทำงานจริงของตำแหน่งงานนั้นอีกด้วย ปัญหาของชื่อตำแหน่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้นมีอะไรบ้าง
  • ใช้ชื่อตำแหน่งในการบริหารไปในทางที่ไม่ถูก กล่าวคือ บางบริษัทจะใช้ชื่อตำแหน่ง หัวหน้างาน หรือ ผู้จัดการ ฯลฯ ให้กับพนักงานโดยที่งานนั้นไม่มีลูกน้องที่ต้องบริหารเลยสักคน ซึ่งก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายว่า ทำไมตำแหน่งเป็นหัวหน้าแต่กลับไม่มีลูกน้องมาให้บริหารเลยสักคน คำตอบที่ได้ก็คือ ชื่อตำแหน่งแบบนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า เหมือนกับได้รับการเลื่อนระดับ เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น (แต่จริงๆ ยังคงทำงานเหมือนเดิม) ซึ่งพอไปถามพนักงาน พนักงานกลับไม่รู้สึกอย่างที่บริษัทอยากให้รู้สึก พนักงานก็บอกว่า “เปลี่ยนแค่ชื่อตำแหน่ง แต่งานไม่เปลี่ยนอะไร แต่ดีนะว่า ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น ไม่งั้นก็คงไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม”
  • ใช้ชื่อตำแหน่งทางการบริหารบอกเส้นทางการเติบโต วิธีการที่สองของการใช้ชื่อตำแหน่งที่ทำให้ผมสับสนมากก็คือ ใช้ชื่อตำแหน่งเป็นตัวบ่งบอกการเติบโตของพนักงาน โดยทำเป็น ผังองค์กรแสดงการขึ้นตรงต่อกันของตำแหน่งต่างๆ เช่น เริ่มต้นจาก หัวหน้างาน ขึ้นตรงต่อ หัวหน้าแผนก ขึ้นตรงต่อ ผู้จัดการแผนก และต่อไปที่ผู้จัดการฝ่าย และต่อไปที่ผู้อำนวยการฝ่าย โดยขึ้นตรงต่อกันเป็นแนวหนึ่งต่อหนึ่งกันเลยครับ พอไปถามเข้าจริงๆ ก็ได้รับคำตอบมาว่า ตอนนี้มีแค่หัวหน้าแผนกกับพนักงานเท่านั้น แต่ที่ทำไว้ก็เพื่อให้หัวหน้าแผนกมองเห็นว่า มีเส้าทางเติบโตต่อไปในอนาคตได้ แต่ก็ไม่มีการกำหนดขอบเขตงานไว้ว่า ถ้าจะเติบโตไปเป็นฝ่ายจะต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรที่เพิ่มขึ้นบ้าง บอกแค่เพียงว่า ทำงานครบ 5 ปีก็ได้ปรับตำแหน่งไปเรื่อยๆ แต่การทำงานยังคงเหมือนเดิมทุกประการ
สองวิธีที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการใช้ชื่อตำแหน่งไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะจริงๆ แล้วการเติบโตของตำแหน่งงานนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ชื่อตำแหน่งทางการบริหารเข้ามาทำให้รู้สึกดีก็ได้ เราสามารถใช้ชื่อตำแหน่งที่บ่งบอกถึงการเติบโตในหน้าที่การงานได้อย่างชัดเจน ซึ่งโดยทั่วไปเขาจะแยกการเติบโตของตำแหน่งงานออกเป็น 2 สายคือ
  • สายบังคับบัญชา การเติบโตตามสายบังคับบัญชานี้เป็นการโตตามผังองค์กรที่ระบุตำแหน่งไว้ตายตัว เช่นจากพนักงาน ไปเป็นหัวหน้าแผนก จากหัวหน้าแผนกไปเป็นผู้จัดการฝ่ายเป็นต้น โดยที่ฝ่ายจะต้องดูแลหลายๆ แผนก และแผนกก็ต้องดูแลพนักงานในการทำงาน ซึ่งการเติบโตในสายนี้มักจะถูกจำกัดด้วยว่า ถ้าหัวหน้าไม่ไปไหน ลูกน้องก็ขึ้นมาไม่ได้ เพราะไม่มีตำแหน่งให้ขึ้น ยกเว้นว่าจะมีการขยายงานในบริษัท ซึ่งทำให้องค์กรโตขึ้น และมีหน้าที่การเงินเพิ่มขึ้น
  • สายวิชาชีพ การเติบโตตามสายวิชาชีพนั้น เป็นการเลื่อนระดับตำแหน่งอีกวิธีหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อตำแหน่งตามสายงานบริหารเลย แต่เราก็สามารถทำให้พนักงานเห็นถึงเส้นทางการเติบโตของตำแหน่งได้ เช่น จากเจ้าหน้าที่ 1 ไปเป็นจ้าหน้าที่ 2 และ 3 เป็นต้น บางแห่งก็ใช้ชื่อตำแหน่งที่ฟังแล้วดูดีหน่อย เช่น Associate officer ไปเป็น Officer จากนั้นก็เป็น Sr. Officer แล้วจบลงที่ Specialist ซึ่งการเลื่อนตำแหน่งตามสายวิชาชีพนี้ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องว่า ถ้าคนเดิมยังอยู่ คนใหม่ก็ขึ้นไม่ได้ เพราะสามารถขึ้นได้ทุกคน โดยเงื่อนไขมีแค่เพียงว่า ผลงานจะต้องได้ตามที่กำหนด และมีทักษะและความสามารถที่เพิ่มสูงขึ้น และมีความชำนาญในการทำงานมากขึ้น ก็จะเลื่อนขยับขึ้นไปได้ ตามสายวิชาชีพ ซึ่งเราสามารถกำหนดชื่อตำแหน่งให้เหมาะสมได้ โดยที่ไม่ต้องไปเอาชื่อตำแหน่งทางด้านการบริหารเข้ามาปะปน ซึ่งทำให้พนักงานสับสนมากขึ้นไปอีก
แล้วองค์กรของท่านมีแนวทางในการใช้ชื่อตำแหน่งอย่างไรกันบ้างครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น