เมื่อวานได้เขียนถึงเรื่องราวของวิธีการในการบริหารจัดการพนักงานที่มีผลงานไม่ดี ว่าโดยทั่วไปแล้วมีวิธีการอย่างไร ตั้งแต่การไม่สนใจใส่ใจ ไปจนถึงมีการวางแผนการพัฒนากันอย่างจริงจัง เพื่อให้พนักงานมีผลงานที่ดีขึ้น วันนี้จะเขียนถึงเรื่องราวในทางตรงกันข้าม ก็คือ สำหรับพนักงานที่มีผลงานที่ดีนั้น โดยปกติองค์กรทั่วๆไปจะมีวิธีการบริหารจัดการกับพนักงานกลุ่มนี้อย่างไร
- ปล่อยให้ทำงานไปเอง วิธีแรกที่องค์กรส่วนใหญ่มักจะทำกันก็คือ ปล่อยให้พนักงานที่มีผลงานที่ดีนั้นลุยงานไปเรื่อยๆ ด้วยตนเอง โดยไม่มีการเข้าไปดูแลตรวจสอบมากนัก หัวหน้างานหรือผู้จัดการจะมีความเชื่อใจในผลงาน พอมอบหมายงานเสร็จ ก็ปล่อยให้พนักงานทำงานไป โดยไม่มีการเข้าไปพูดคุย หรือให้ความเห็นใดๆ หรือแม้กระทั่งการให้ Feedback ผลงานที่ดีนั้นก็แทบจะไม่มีเลย ด้วยวิธีนี้เองพนักงานก็จะไม่รู้ว่าผลงานที่ตนเองทำไปนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร แม้ว่าตนเองจะมีผลงานที่ดีก็ตาม แต่ผลงานที่ดีแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า หัวหน้าจะไม่เข้ามาสนใจหรือใส่ใจ เพราะถ้าเป็นแบบนี้ไปสักพักสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ พนักงานจะมีอีโก้ที่สูงขึ้น และจะไม่ฟังหัวหน้า หรือไม่ก็จะรู้สึกว่าหัวหน้าไม่ใส่ใจเลย ขนาดทำผลงานดีขนาดนี้แล้ว แต่หัวหน้าก็ยังไม่เข้ามาสนใจ สุดท้ายก็ลาออกไปทำงานที่อื่น เราก็จะเสียคนเก่งๆ ไป
- ไม่ต้องพัฒนาอะไรเพราะเก่งอยู่แล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่องค์กรส่วนใหญ่มักจะทำกับพนักงานที่มีผลงานดีก็คือ ไม่ค่อยมีการวางแผนการพัฒนาคนกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ เพราะคิดว่าผลงานดีอยู่แล้ว เก่งอยู่แล้ว ก็เลยไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก แต่กลับไปให้ความสำคัญกับพนักงานที่มีผลงานที่ไม่ดี เพราะจะมีการวางแผนการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พนักงานที่มีผลงานที่ดีเกิดความน้อยใจ เหมือนกับองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับเขา สุดท้ายก็ไปอยู่กับองค์กรอื่นอีกเช่นกัน
- ใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเก่ง ก็เลยถูกใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร งานเก่า งานใหม่ ไม่รู้จะให้ใครทำก็ให้พนักงานที่เก่งๆ และมีผลงานดีนี่แหละเป็นคนจัดการให้ เพราะไว้ใจได้ว่า ทำได้แน่นอนโดยที่เราไม่ต้องไปควบคุมดูแลมากนัก ตรงข้ามกับพนักงานที่มีผลงานไม่ดี หัวหน้ากลับไม่ค่อยใช้งานเท่าไหร่ ปล่อยให้นั่งว่างๆ ไปเรื่อยๆ ก็เลยรู้สึกดีไปเลยว่า ทำงานไม่ดี ก็เลยไม่ต้องมีงานให้ทำ แต่ได้เงินเดือน แต่พนักงานที่ทำงานดี กลับโดนใช้เอาๆ โดยไม่มีการไปพัฒนาพนักงานที่มีผลงานไม่ดี เพื่อให้สามารถทำงานได้แต่อย่างใด แบบนี้เขาเรียกว่าการจูงใจที่ผิดวิธี
- ผลงานออกมาดี แต่รางวัลกลับพอๆ กับพนักงานที่ผลงานไม่ดี นี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่หลายๆ องค์กรมักจะหลุดในเรื่องของการบริหารจัดการผลงานและรางวัลตอบแทนผลงานของพนักงาน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานที่มีผลงานดีนั้นกลับได้รับรางวัลผลงาน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือนตามผลงาน หรือการให้โบนัสผลงาน ออกมาแล้วไม่ต่างกับพนักงานที่มีผลงานไม่ค่อยดีนัก ซึ่งก็ทำให้ขวัญและกำลังใจของพนักงานที่มีผลงานดีนั้น ไม่อยากสร้างผลงานที่ดีอีกต่อไปนั่นเอง
- พัฒนาอย่างต่อเนื่อง การบริหารพนักงานที่มีผลงานที่ดีนั้น องค์กรที่มีระบบการพัฒนาคนที่ดี จะมีการวางแผนการพัฒนาพนักงานที่เก่งๆ อย่างต่อเนื่อง และมักจะให้ความสำคัญกับพนักงานกลุ่มนี้มากกว่าพนักงานที่มีผลงานไม่ค่อยดีนัก โดยพนักงานที่มีผลงานที่ดีนั้น แนวทางในการพัฒนาจะเน้นไปที่การพัฒนาจุดแข็งที่มีอยู่ให้ต่อยอดออกไปได้อีก รวมทั้งมีแผนในการเติบโตตามเส้นทางสายอาชีพที่ชัดเจน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับพนักงานเก่งๆ กลุ่มนี้
องค์กรของท่านล่ะครับ มีวิธีการบริหารจัดการพนักงานที่มีผลงานดีอย่างไรบ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น