วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นักบริหารค่าจ้างมืออาชีพเขาทำอะไรกันบ้าง

 

ในยุคปัจจุบันนี้ เรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรแทบจะทุกองค์กรจะต้องมีฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพื่อทำหน้าที่บริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาคัดเลือก การพัฒนาพนักงาน การบริหารผลงาน แรงงานสัมพันธ์ และเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ
ในอดีตนั้นเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือน มักจะเป็นเรื่องของเจ้าของบริษัทมากกว่า เมื่อสัก 15-20 ปีที่แล้ว เรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนแบบสากลนั้นมักจะมีแค่เพียงบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่ทำกันจริงๆ จังๆ สำหรับบริษัทขนาดกลางๆ นั้น การบริหารค่าจ้างเงินเดือนมักจะเป็นเรื่องของเจ้าของบริษัท หรือไม่ก็กลุ่มผู้บริหารระดับสูงจะดูเอง ซึ่งตอนนั้นเรื่องค่าจ้างเงินเดือนยังไม่เปิดเผยขนาดนี้ เงินเดือนไม่ค่อยมีใครจะมาพูดคุยกัน

แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว พนักงานทุกคนเริ่มมีความรู้เรื่องของค่าจ้างเงินเดือนมากขึ้น เริ่มรู้ว่าตลาดเป็นอย่างไร และจ่ายกันอะไรบ้าง ซึ่งถ้านายจ้างยังคงบริหารเงินเดือนแบบปิด ก็คือ ไม่มีการอธิบายสื่อสาร และทำความเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง ผมคิดว่า ขวัญและกำลังใจของพนักงานก็คงหายหมดได้เหมือนกัน ก็เลยเป็นหน้าที่ของนักบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่จะต้องทำหน้าที่ในการบริหารค่าจ้างค่าตอบแทนให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เพื่อให้สามารถอธิบายได้ และเกิดความเป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างพนักงานในองค์กร แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ยังมีนักบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ยังทำแค่ Payroll ก็เยอะ

วันนี้ผมก็เลยเอาสิ่งที่นักบริหารค่าจ้างเงินเดือนจะต้องทำมาเล่าให้อ่านกันว่ามีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้พัฒนาตนเองเป็นนักบริหารค่าจ้างมืออาชีพ
  • ต้องหาให้เจอว่าการบริหารค่าจ้างขององค์กรเรานั้นแข่งขันกับตลาดใด และสภาพการจ่ายของตลาดที่เราแข่งด้วยนั้นเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบของการจ่ายค่าจ้างอะไรบ้างที่บริษัทเราควรจะพิจารณา เพื่อให้แข่งขันได้
  • ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าบริษัทเราอยู่ ณ จุดไหนของตลาดที่เราแข่งขันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เงินได้อื่นๆ และสวัสดิการ และภาพรวมทั้งหมด ว่าเราจ่ายอะไรสูงอะไรต่ำ และถ้าจะให้แข่งขันได้ เราจะต้องปรับวิธีการบริหารค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการอย่างไร
  • สามารถกำหนด และเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัท ได้ตามสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่จ่ายยังไงเมื่อสิบปีที่แล้ว ผ่านไปสิบปี ก็ยังคงจ่ายอยู่แบบเดิมๆ ไม่มีการพัฒนาอะไร
  • สามารถวางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทได้ ไม่ว่าจะเป็นอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ หรือโครงสร้างค่าจ้าง และโครงสร้างเงินเดือน และยังต้องบริหารการใช้โครงสร้างเงินเดือนเหล่านี้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
  • สามารถนำเสนอตัวเลขการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน โดยอ้างอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจภายนอก และนำเอาอัตราการจ่ายของบริษัทมาพิจารณาได้ด้วย พร้อมกับสามารถนำเสนอผู้บริหารได้ว่าเราควรจะขึ้นเงินเดือนกันสักกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้แข่งขันกับตลาดได้
  • สามารถตอบข้อซักถามกับพนักงาน และผู้จัดการสายงาน และผู้บริหารในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ ได้อย่างมีตรรกะ และบริหารค่าจ้างเงินเดือนอย่างเป็นธรรม โดยยึดหลักความเป็นธรรมภายในองค์กร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนภายในบริษัทเอง
นี่คือ 6 ข้อหลักๆ ของนักบริหารค่าจ้างมืออาชีพที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นในองค์กรที่ทำงานอยู่ โดยยึดหลักของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ว่า บริหารไปเพื่อที่จะดึงดูด และรักษาพนักงานให้ทำงานในองค์กรอย่างเต็มความสามารถ ถ้าเราบริหารค่าจ้างเงินเดือนได้อย่างเป็นธรรมแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาที่พนักงานนำเอามาพูดคุย นินทา หรือเอามาคุยกันกลางโต๊ะอาหารอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น