วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน เพื่อสร้าง Engagement


มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรออกมาเยอะมาก ปัจจัยหนึ่งที่มักจะเห็นอยู่ในทุกๆ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ก็คือ เรื่องของการสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจาก ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปมาก การติดต่อสื่อสาร การเชื่อมต่อถึงกันและกัน ทำให้ทุกคนที่ทำงานรู้สึกว่าเราทำงานกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะสามารถที่จะถูกตามงานได้ตลอดไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม เป็นผลทำให้เรื่องของเวลาในการทำงานนั้นเริ่มที่จะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ตัวพนักงานเองก็รู้สึกว่าถ้าองค์กรไม่ต้องมาเอาจริงเอาจังในเรื่องของเวลาในการทำงานมากนัก ก็จะทำให้เขารู้สึกมีอิสระและอยากที่จะทำงานให้กับองค์กร โดยเน้นไปที่ผลของงานมากกว่าเรื่องของเวลาการมาทำงาน เด็กรุ่นใหม่ๆ มีความเชื่อว่า การทำงานแปดโมงเช้า เลิกห้าโมงเย็นตรงเวลานั้นเป็นเรื่องที่เชย และโบราณเกินไป เพราะในปัจจุบันพนักงานสามารถทำงานได้ทุกเวลาที่อยากทำ คนรุ่นใหม่จึงมีความเชื่อในเรื่องของผลลัพธ์ของงานมากกว่า โดยที่เขาไปบริหารเวลาในการทำงานเอาเอง แต่จะส่งผลงานให้กับองค์กรตามที่ตกลงไว้อย่างแน่นอน ในปัจจุบันก็เริ่มมีหลายองค์กรที่จัดให้มีเรื่องของการทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าในอดีตมาก หลายองค์กรเริ่มที่จะไม่ต้องลงเวลาในการทำงานแล้ว แต่จะวัดกันที่ผลงานที่ออกมามากกว่า ลองมาดูตัวอย่างเรื่องของการสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานของบริษัทต่างๆ กันสักหน่อยว่า เขามีวิธีการอย่างไรกันบ้าง เผื่อว่าจะเป็นแนวทางในการไปปรับใช้กับองค์กรของท่านเองนะครับ
  • การเริ่มงานและเลิกงานยืดหยุ่น วิธีการง่ายๆ ก็คือ ให้พนักงานมาเริ่มงานสายได้กว่าปกติ แต่ก็มีการกำหนดว่าต้องไม่เกินกว่ากี่โมง และถ้าเริ่มงานสาย ก็เลิกงานเย็นหน่อย เพื่อทดแทนกันไป พนักงานเองก็จะได้ไม่ต้องรีบร้อนมากนักสำหรับใครที่บ้านไกลมาก และต้องเสียเวลาเดินทาง ก็อาจจะมาทำงานสายหน่อยได้ หรือใครที่มีภาระต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนตอนเช้า ก็จะรู้สึกสบายใจมากขึ้นในการมาทำงาน วิธีการนี้หลายๆ องค์กรเริ่มนำมาใช้กันแล้ว
  • ให้วันหยุดพนักงานเพิ่มเติม ถ้าพนักงานไม่ขาดไม่ลาไม่สายในเดือนที่ผ่านมา วิธีนี้คล้ายๆ เบี้ยขยัน เพียงแต่บริษัทไม่ได้จ่ายเป็นเงิน แต่ให้เป็นวันหยุดเพิ่มเติมในเดือนถัดไปแทน เพื่อเป็นรางวัลให้พนักงานที่มาเช้า และไม่ขาดงานใดๆ เลยในเดือนที่ผ่านมา
  • ให้หยุดงานโดยได้รับค่าจ้างในวันเกิดของพนักงาน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะให้ Recognition แก่พนักงานได้ โดยให้สิทธิพนักงานได้หยุดงานโดยได้รับค่าจ้างในวันเกิดของพนักงาน เพื่อให้ไปฉลอง หรือจะไปทำอะไรก็แล้วแต่พนักงาน
  • ให้สิทธิพนักงานไม่ต้องเข้าบริษัทสัปดาห์ล่ะ 1 วัน โดยใน 1 วันนั้น สามารถไปนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องเข้ามาที่บริษัททำงาน
  • ให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ วิธีนี้เริ่มมีการใช้กันมากขึ้น โดยเฉพาะกับงานที่ไม่ต้องทำที่บริษัท หรือที่โรงงาน พนักงานเองก็จะสามารถหยุดอยู่บ้าน และทำงานผ่านระบบการสื่อสารอันทันสมัย บริษัทเองก็สามารถติดต่อพนักงานได้ตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่มักจะให้สิทธิทำงานที่บ้านได้สัปดาห์ละ 1 วันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนนอกนั้นก็ต้องเข้าบริษัททำงานตามปกติ
  • ให้วันหยุดพักร้อนเพิ่มจากเดิม หลายองค์กรเริ่มพิจารณาเรื่องของวันหยุดพักร้อนให้กับพนักงานมากขึ้นกว่าเดิม เช่นจากเดิมเคยให้ตามที่กฎหมายกำหนด ก็เริ่มที่จะให้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือบางแห่งก็เริ่มให้มีนโยบายสะสมวันหยุดพักร้อนได้ แต่ไม่เกินกี่ปี ก็จะมีการกำหนดอัตราสูงสุดไว้
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ก็คือ แนวโน้มของการบริหารการทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้พนักงานรู้สึกสบายใจขึ้นเวลามาทำงานกับบริษัท ผลของการวิจัยเรื่องของความยืดหยุ่นในการทำงานนั้นปรากฎออกมาชัดเจนว่า จะมีผลทำให้พนักงานลดอัตราการขาดงานลงไปได้มากกว่าเดิม และยังทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรให้ความสำคัญกับเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่มองพนักงานเป็นหุ่นยนต์ ผลสุดท้ายก็คือ พนักงานจะใส่ใจ และให้ความสำคัญกับการทำงานให้กับบริษัทมากขึ้นด้วย ผมเชื่อว่าในอนาคตก็คงจะมีแนวทางในการบริหารแบบยืดหยุ่นมากกว่านี้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนั่นเองครับ องค์กรของท่านเองก็คงต้องมานั่งพิจารณาว่า เราควรจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เพื่อให้พนักงานรู้สึกถึงความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตข้างหน้าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น