วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Employee Engagement ทำให้ผลงานองค์กรดีขึ้นจริงหรือ

 
ผมเขียนเรื่องของความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรไปในประเด็นเรื่องของการสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน เพื่อทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดีต่อบริษัทในการทำงาน ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องของความยืดหยุ่นในการทำงานนั้นเป็นแค่เพียงปัจจัยเล็กๆ ปัจจัยเดียวเท่านั้นที่ส่งเสริมเรื่องของ Engagement ยังมีอีกหลายปัจจัยครับ ที่ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกผูกพัน และอยากทุ่มเททำงานให้กับองค์กร
มีข้อสงสัยที่ส่งมาทางอีเมล์ของท่านผู้อ่านจำนวนหนึ่ง ซึ่งสงสัยว่าถ้าพนักงานมีความผูกพันต่อองค์กรแล้ว เขาจะสร้างผลงานที่ดีขึ้นจริงหรือ หรือเรื่องของ engagement มันเป็นแค่เพียงนิทานหลอกเด็กเท่านั้น บางท่านก็ถามมาตรงเลยเลยครับว่า ที่บริษัทนั้นพนักงานผูกพันกับองค์กรมาก เพราะไม่มีพนักงานคนไหนอยากลาออกจากบริษัทเลย แต่ทำไมไม่เห็นเลยว่าพนักงานกลุ่มนี้ทุ่มเททำงานอย่างที่ทฤษฎีเรื่องของ Engagement ได้บอกไว้เลยสักนิด มันกลับตรงกันข้ามกันหมด ยิ่งอยู่นานยิ่งขี้เกียจ สั่งให้ทำอะไร หรือเปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่เคยคิดที่จะทำเลย อยากอยู่แบบเดิมๆ

ประเด็นที่ท่านผู้อ่านท่านนี้ตั้งข้อสงสัยนั้น ผมต้องขออนุญาตเรียนว่า ท่านกำลังเข้าใจผิดในเรื่องของ Employee Engagement อยู่ครับ การที่พนักงานอยู่ทำงานโดยไม่ลาออกนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เรียกกว่า ผูกพันต่อองค์กรตามนิยามของ Engagement นะครับ Engagement นั้น จะหมายถึงการที่พนักงานคิดดี ทำดี และยินยอมที่จะทุ่มเททำงานให้กับองค์กร ไม่ใช่แค่อยู่กับองค์กรไปนานๆ ก็แปลว่ารู้สึกผูกพันแล้ว ดังนั้นหลายๆ บริษัทเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเอาตัวอัตราการลาออกมาวัดเรื่องของความผูกพันของพนักงานด้วย ซึ่งต้องขอบอกว่ามันไม่ได้ไปด้วยกันนะครับ ผมคงต้องขออนุญาตอ้างถึงแนวคิดเรื่องของ Engagement ซึ่งเป็นแนวคิดของที่ปรึกษาฝรั่งบริษัทหนึ่ง ชื่อว่า AON Hewitt ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า การที่พนักงานจะมีความผูกพันต่อองค์กรนั้นจะต้องมี 3 ประการก็คือ
  • Say แปลง่ายๆ ว่า พนักงานจะต้องพูดถึงบริษัทในแง่ดี เวลาที่มีคนมาต่อว่า หรือบอกว่าบริษัทไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ พนักงานที่มีความผูกพันต่อองค์กรจะไม่ร่วมนินทาบริษัทไปด้วยกับคนอื่น แต่จะพยายามพูดถึงสิ่งที่ดีของบริษัท ให้คนอื่นเห็นว่าบริษัทเราไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นเขาพูดกัน ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานจะเป็นคนไปโฆษณาบริษัทเราเองในทางที่ดีให้กับบุคคลอื่นภายนอกได้ทราบด้วย ไม่ใช่ประเภทที่ชอบบอกว่า “บริษัทนี้มันไม่ดีหรอก อย่ามาทำงานที่นี่เลย หัวหน้าก็ไม่ดี สวัสดิการก็น้อย เงินเดือนก็นิดเดียว” เมื่อไหร่ที่พนักงานพูดแบบนี้ แปลว่าไม่ Say ครับ ก็ถือไม่มีความรู้สึกผูกพันเลยครับ
  • Stay แปลว่า ยังอยากอยู่ทำงานกับบริษัทไปเรื่อยๆ ไม่มีความคิดที่จะย้าย หรือเปลี่ยนงานไปทำงานที่บริษัทอื่น แม้ว่าจะถูกทาบทาม และถูกเสนอค่าตอบแทนให้อย่างสูงกว่าเดิม แต่ก็ไม่คิดที่จะไปไหน แบบนี้เราจะเรียกว่า Stay ครับ ไม่ใช่พนักงานที่ชอบพูดว่า “บริษัทนี้น่ะหรอ ถ้ามีทางไป ไปตั้งนานแล้วไม่อยู่ทำงานหรอก ไม่เห็นจะมีอะไรดีเลยบริษัทนี้” ถ้าเป็นแบบนี้แม้จะอยู่ทำงานนานๆ ก็ไม่ถือว่า Engage ครับผม
  • Strive แปลว่า นอกจากที่จะพูดถึงบริษัทในแง่ดี และยังไม่อยากออกไปไหน ยังต้องพยายามสร้างสิ่งที่ดีๆ ให้กับบริษัทด้วย คือไม่ใช่อยู่ทำงานไปเรื่อยๆ ไม่เคยคิดที่จะลาออก แถมยังไม่เคยคิดที่จะทำอะไรดีๆ ใหม่ๆ ให้กับบริษัทเลย อย่างที่พนักงานบางคนเขาก็มักจะพูดว่า "อยู่แบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องไปเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้มันยุ่งยากเลย ของเดิมก็ยังใช้กันได้ ทำไมต้องไปลำบากทำสิ่งใหม่ๆ ด้วย"  แบบนี้เราก็ไม่เรียกกว่า Strive ของการมีEngagement อีกเช่นกันครับ
ดังนั้นถ้าดูตาม Model ของทาง AON Hewitt แล้ว น่าจะเกิดความเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นนะครับว่า คำว่า Engagement นั้น ไม่ใช่แค่การพิจารณาเรื่องของอัตราการลาออกเท่านั้น ตามที่หลายบริษัทเข้าใจผิดกันไป และจากผลการวิจัยในเรื่องของความผูกพันจริงๆ (ไม่ใช่แค่อัตราการลาออก) ของพนักงาน ถ้าพนักงานส่วนใหญ่ขององค์กรรู้สึกผูกพันต่อองค์กรจริงๆ พนักงานกลุ่มนี้จะยิ่งพยายามสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะคำว่าผูกพันนั้นมันกินความหมายที่ลึกซึ้งมากนะครับ เช่น ถ้าเรารู้สึกผูกพันกับใครบางคน เราก็มักจะอยากทำให้เขารู้สึกดี รู้สึกมีความสุข และทำให้เขาได้ดิบได้ดี และเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

พนักงานที่รู้สึกผูกพันต่อองค์กรก็เช่นกันครับ เขาจะพยายามสร้างสิ่งที่ดีให้กับองค์กรที่เขารู้สึกผูกพันด้วย เขาจะไม่รีรอเลยที่จะยอมเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อสร้างผลงานที่ดีขึ้นทั้งต่อตนเอง และต่อองค์กร ดังนั้นด้วยตรรกะที่ว่า เมื่อไหร่ที่คนเรารู้สึกมีความสุขในการทำงาน รู้สึกมีความผูกพันต่อองค์กร เขาก็จะพยายามสร้างผลงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุผลนี้ก็แสดงว่า ผลงานขององค์กรก็ย่อมจะดีขึ้นไปด้วยนั่นเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น