เคยรู้สึกบ้างไหมครับว่า ในบางงานของ HR ที่องค์กรเรามีอยู่นั้น ไม่ต้องมีงานนั้นๆ หรือระบบนั้นๆ ก็ได้ เพราะมีหรือไม่มี ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย บางคนมองว่า งาน HR ในบางเรื่องนั้น ทำขึ้นก็เพื่อให้เป็นกระบวนการเท่านั้น ขอให้มีการทำก็พอ แต่ทำแล้วจะได้ผลตามที่เราต้องการหรือไม่นั้น ไม่มีใครเคยที่จะสนใจ หรือใส่ใจปรับปรุงให้ดีขึ้นเลย
เราลองมาดูกันว่า งานอะไรใน HR ที่ถูกมองว่าเป็นเหมือนสิ่งที่ต้องทำ แต่ทำแล้วก็ไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไรตามที่เราต้องการเลยด้วยซ้ำไป บางแห่งบอกเลยว่า มันเหมือนเป็นพิธีกรรมที่เราทำตามๆ กันมา แต่ไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไร พอถามไปว่าทำไมต้องทำด้วย ก็ตอบเหมือนกันหมดว่า ก็คนอื่นเขาก็ทำกัน และเราก็ทำกันแบบนี้มานานแล้ว
- การสัมภาษณ์พนักงาน เรื่อง แรกที่มักจะถูกมองว่าเป็นแค่เพียงขั้นตอนการทำงาน ซึ่งไม่มีผลอะไรเลย ก็คือ การสัมภาษณ์พนักงาน บางองค์กรสัมภาษณ์ไปเพื่ออะไรก็ยังไม่รู้เลยครับ แค่รู้ว่าเวลาที่จะรับพนักงานเข้าทำงานก็ต้องผ่านการสัมภาษณ์กัน ก็เลยสัมภาษณ์กัน โดยที่ไม่มีการเตรียมการสัมภาษณ์ ไม่มีการเตรียมคำถามท ไม่มีการเตรียมคนสัมภาษณ์ ใครว่างก็มา ใครอยากถามอะไรก็ถาม พอใจใครก็เลือกคนนั้นเข้าทำงาน
- การฝึกอบรม บาง องค์กรพอพูดถึงเรื่องของการพัฒนาพนักงาน ก็นึกถึงการฝึกอบรมเพียงอย่างเดียว และส่วนใหญ่ก็คือ ส่งพนักงานไปฝึกอบรมตามงบประมาณที่มี โดยไม่มีการวิเคราะห์ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของพนักงานแต่ละคนเลยด้วยซ้ำไป ยิ่งไปกว่านั้น บางแห่งยังเชื่อว่า พอส่งพนักงานไปอบรมแล้ว พนักงานคนนั้นจะเก่งขึ้น และพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ยากขึ้นได้ในทันที
- การประเมินผลงาน อีก เรื่องที่มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำทุกปี แต่ทำแล้วก็ไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ก็คือ เรื่องของการประเมินผลงานประจำปีนั่นเองครับ ถึงเวลาปลายปี HR ก็แจกแบบฟอร์มในการประเมินให้กับหัวหน้างานแต่ละคน เพื่อประเมินผลงานลูกน้อง หัวหน้างานส่วนใหญ่ก็นึกหน้าให้คะแนน บางคนนึกไม่ออกไม่รู้ว่าลูกน้องของตนเองทำงานได้ดีสักแค่ไหน ก็เลยประเมินแบบเกรงใจไปก่อน เพื่ออย่างน้อยให้ลูกน้องรู้สึกว่าลูกพี่ใจดี จะได้ยอมทำงานด้วยกันต่อไป สุดท้ายการประเมินผลงานก็เลยไม่รู้ว่าผลงานที่แท้จริงของพนักงานแต่ละคนนั้น เป็นอย่างไรกันแน่ ก็เลยกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มักจะถูกมองว่า ไม่ต้องมีการประเมินผลงานก็ไม่มีผลอะไรเลย เพราะการขึ้นเงินเดือนก็อยู่กับปลายปากกาของนายอยู่แล้วไม่เห็นว่าจะอยู่กับ ผลงานที่แท้จริงแต่อย่างใด
- การเติบโตตามสายอาชีพ บางบริษัท อาศัยจำนวนปีทำงานกับบริษัท เป็นตัวบอกว่าพนักงานจะได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เรียกกว่าทำงานครบจำนวนปีที่กำหนด โดยไม่ต้องดูผลงานและความสามารถอะไรมาก ก็จะได้รับการเลื่อนระดับงานสูงขึ้นไป โดยที่หน้าที่และความรับผิดชอบยังคงเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยด้วยซ้ำไป
- การขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน เรื่อง สุดท้ายที่มักจะถูกมองว่าต้องทำทุกปี แต่ทำแล้วก็ไม่เห็นจะเกิดผลดีอะไรมากมายก็คือ เรื่องของการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน เนื่องจากการประเมินผลงานที่ไม่ชัดเจน และไม่เป็นธรรม ก็เลยส่งผลทำให้การให้รางวัลในเรื่องนี้ก็ไม่เป็นธรรมด้วยเช่นกัน บางบริษัทประเมินผลงานเสร็จ แต่ไม่มีการนำเอาผลงานที่ประเมินได้มาใช้ประกอบในการขึ้นเงินเดือน แต่กลับให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารบางคน ที่จะใส่ให้ว่า พนักงานคนไหนจะได้ขึ้นเงินเดือนเท่าไหร่ เพื่อให้มีการใช้งบประมาณก้อนนี้ให้หมดไป และทำให้คนของตนเองได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยไม่สนใจว่าผลงานจะเป็นอย่างไร
เรื่องของการประเมินผลงานก็ เช่นกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก และมีปัญหากันในแทบจะทุกบริษัท แต่ถ้าเราสามารถทำให้ระบบนี้ดีขึ้น และตอบโจทย์ ตอบวัตถุประสงค์ของมันได้ ก็จะทำให้เรารู้ว่า พนักงานแต่ละคนผลงานดี ไม่ดีอย่างไร จะได้ทราบว่าจะต้องพัฒนาอะไรบ้าง และจะได้นำไปเชื่อมโยงกับระบบการให้รางวัลที่เป็นธรรมมากขึ้นด้วยเช่นกัน ครับ
รู้แบบนี้แล้ว อย่าปล่อยให้ระบบ HR ของบริษัทเราเป็นแค่เพียงพิธีกรรมที่ต้องทำ โดยที่ทำไปแล้วไม่เคยรู้ว่าจะได้ผลดีอะไรบ้าง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็คงถึงเวลาแล้วมั้งครับ ที่จะต้องปรับปรุงระบบ HR ดังกล่าวให้ดีขึ้นครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น