วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหลังจากได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการ

manager

เมื่อวานได้เขียนเรื่องของผู้จัดการมือใหม่ว่าส่วนใหญ่ขาดทักษะอะไรบ้างในการ บริหารจัดการ ก็มีอีเมล์มาสอบถามว่า จริงๆ แล้วสำหรับการเลื่อนตำแหน่งจากพนักงานคนหนึ่งไปเป็นผู้จัดการมือใหม่นั้น มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง จริงๆ แล้วมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมากครับ เพราะถ้าเป็นการเลื่อนตำแหน่งจริงๆ ไม่ใช่ทำงานเดิม แต่เปลี่ยนแค่ชื่อตำแหน่งอย่างเดียว คนที่เปลี่ยนสถานะจากพนักงานมาเป็นผู้จัดการนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยครับ เราลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไป

  • เป้าหมายของงาน และความคาดหวังจากองค์กร สิ่งแรกที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับคนที่เลื่อนตำแหน่งจากพนักงานเป็นผู้จัดการ มือใหม่ก็คือ เป้าหมายในการทำงานที่เปลี่ยนไป พร้อมกับความคาดหวังของหัวหน้าที่มากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องรับผิดชอบดูแลผลงานของหน่วยงานทั้งหน่วย ไม่ใช่แค่เพียงผลงานของตนเองเท่านั้น จากเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้เรื่องของความรับผิดชอบก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นอกจากผลงานของหน่วยงานแล้ว ยังต้องรับผิดชอบพนักงานในทีมงานให้สร้างผลงานอีกด้วย เรียกว่าไม่ใช่ทำงานคนเดียวแล้ว
  • คนรอบตัว สิ่ง ที่สองที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก จากเดิมมีนาย มีเพื่อน แต่พอได้รับการเลื่อนตำแหน่ง อาจจะขึ้นมาเท่ากับนายของตนเอง หรืออาจจะมีเพื่อนมาเป็นลูกน้อง หัวหน้าคนเดิมที่เคยทำงานด้วยกัน ก็เปลี่ยนเป็นคนใหม่ ที่ตำแหน่งสูงขึ้น จากเดิมไม่มีลูกน้อง ก็ต้องมีลูกน้องที่ต้องดูแล อีกทั้งยังมีเพื่อนระดับผู้จัดการด้วยกันมากขึ้นอีก คนรอบข้างที่เปลี่ยนไปเยอะขนาดนี้ ย่อมทำให้ผู้จัดมือใหม่เกิดความเครียดได้ ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้ามากพอ
  • ความรู้และทักษะในการทำงาน เรื่อง ที่สาม ที่มีการเปลี่ยนแปลงก็คือ ความรู้ ทักษะ ในการทำงานนั่นเองครับ เดิมทำงานเป็นพนักงาน ก็รู้เฉพาะงานที่ตนเองทำก็พอ แต่พอได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการ รู้แค่งานของตนเองไม่พอแล้ว สิ่งที่จะต้องรู้มากขึ้นก็คือ การรู้กว้าง รู้ว่าหน่วยงานของตนจะต้องไปทำงาน และสัมพันธ์กับหน่วยงานใด งานอะไรบ้าง นอกจากเรื่องงานแล้ว ทักษะที่จะต้องมีเพิ่มขึ้นจากการเป็นพนักงานปกติ ก็คือ จะต้องมีทักษะการสื่อความที่ลึกขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ไม่เอาแต่ใจตนเองเหมือนตอนที่เคยเป็นพนักงาน ต้องมีทักษะในการสอนงานมากขึ้น เพราะเริ่มมีลูกน้อง ต้องสามารถสร้างทีมงานที่ดี สร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นกับทีมงานที่ตนดูแลอยู่ได้ นี่ก็เป็นอีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ทำให้ผู้จัดการมือใหม่หลายคนก็เริ่มท้อ ใจ และถอดใจได้เช่นกัน
  • มุมมองและความเชื่อมโยง ประเด็นสุดท้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงก็คือ คนที่เป็นผู้จัดการจะต้องมีมุมมองที่ต่างไปจากเดิมที่เคยเป็นพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมุมมองที่มีต่อการลำดับความสำคัญของงาน งานไหนก่อน งานไหนหลัง ต้องเห็นภาพรวมในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ที่ดูเฉพาะงานของตนเองเท่านั้น รวมทั้งจะต้องมี network ในการทำงานที่มากขึ้นไม่ว่าจะภายใน และภายนอกองค์กร
การเปลี่ยนแปลง 4 ประการข้างต้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับคนที่ได้รับการเลื่อน ตำแหน่งจากพนักงานขึ้นมาเป็นผู้จัดการ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เครียดกับการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป ก็เลยต้องมีการเตรียมความพร้อมกันล่วงหน้า อีกทั้งยังต้องได้รับการสนับสนุนจากนาย และผู้บริหารในระดับสูงขึ้นไปอีกด้วย มิฉะนั้นผู้จัดการมือใหม่ก็อาจจะเกิดการท้อแท้ได้ และจะมีผลต่อผลงานของตนเอง และหน่วยงานได้อีกเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น