วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

สาเหตุที่ผู้สมัครปฎิเสธ และไม่เลือกทำงานที่บริษัทของเรา


เวลาที่เราพูดถึงเรื่องของการสรรหาและคัดเลือกพนักงาน เรามักจะมองในมุมของบริษัท ที่จะคัดเลือกพนักงานที่มีความเหมาะสมกับการทำงาน โดยที่มีวิธีพิจารณาว่า คนไหนที่มีคุณสมบัติตรงกับที่เราต้องการ โดยอาจจะมีเครื่องมือในการคัดเลือกพนักงานในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับงานที่เรากำลังสรรหาอยู่


หลังจากที่เราคัดเลือกจนได้ผู้สมัครที่ตรงตามคุณสมบัติที่เราต้องการแล้ว เราก็จะติดต่อผู้สมัครเพื่อบอกกับเขาว่า เรารับเขาเข้าทำงาน ซึ่งในขั้นตอนนี้ มีท่านใดบ้างที่ประสบปัญหาว่า ผู้สมัครส่วนหนึ่งปฏิเสธที่จะทำงานกับบริษัทของเรา เคยสงสัยหรือไม่ครับว่า ทำไมผู้สมัครถึงปฏิเสธการทำงานกับบริษัทของเรา หลังจากที่เราได้พูดคุยรายละเอียดทุกอย่างของการทำงานไปทั้งหมดแล้ว เราลองมาดูสาเหตุกันครับ
  • ไม่ถูกใจเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ เหตุผลแรกของผู้สมัครที่ปฏิเสธการรับเข้าทำงานของบริษัท ก็คือ เรื่องของตัวเลขเงินเดือนค่าจ้าง และสวัสดิการที่บริษัทเสนอนั้น ยังไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้สมัครคาดหวังไว้ เรื่องนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องแรกๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้สมัครค่อนข้างจะมาก เพราะเรื่องอื่นยังไม่รู้ แต่ขอให้เรื่องนี้ได้ตรงตามที่เราต้องการไว้ก่อน ซึ่งบริษัทที่มีอัตราค่าจ้างที่แข่งขันได้ ก็จะได้เปรียบในเรื่องนี้ เพราะเสนอตัวเลขค่าจ้างที่อยู่ในอัตราที่แข่งขันได้ อัตราการปฏิเสธของผู้สมัครก็จะน้อยลง
  • รู้สึกว่าไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กร ตัว ผู้สมัครเองก็มีการพิจารณาเรื่องของความเหมาะสมในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่เพียงองค์กรพิจารณาเพียงฝ่ายเดียว ผู้สมัครเองก็พยายามที่จะหาข้อมูล ทั้งจากเว็บไซต์ จากเพื่อนๆ จากข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมทั้งข้อมูลจากการสัมภาษณ์ มาประกอบการตัดสินใจว่า ด้วยวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้ เราจะทำงานได้ด้วยหรือไม่ และถ้าพนักงานรู้สึกว่าคุยแล้วไม่ใช่ ก็จะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาปฏิเสธการตอบรับงานของบริษัทได้
  • งานไม่เหมือนกับที่คิดไว้ อีก เหตุผลหนึ่งที่ผู้สมัครงานปฏิเสธเข้าทำงานก็คือ ตัวงานเองที่คุยแล้วรู้สึกว่ามันไม่ตรงกับสิ่งที่ตนเองคิดและคาดหวังไว้ โดยปกติเวลาสมัครงานก็มักจะมีรายละเอียดหน้าที่และความรับผิดชอบของงานสั้นๆ เขียนกำกับไว้เท่านั้น ซึ่งก็อาจจะทำให้ผู้สมัครคิดไปเองมากมาย ว่างานจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ บางแห่งเขียนไว้อย่างหรู แต่พอถึงเวลาสัมภาษณ์ถามเข้าจริงๆ ก็ไม่เหมือนกับสิ่งที่คิดไว้ เมื่อมันไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้สมัครคาดหวังไว้ ก็เป็นเหตุให้เขาปฏิเสธได้อีกเช่นกัน
  • รู้สึกว่าทำงานที่นี่อาจจะไม่มี Work-Like Balance เรื่อง ของการสร้างความสมดุลของชีวิตส่วนตัวกับเรื่องงานนั้น ปัจจุบันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้น พนักงานเองต้องการเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน แต่ถ้าการสมัครงานครั้งนั้น มีข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่า การทำงานที่นี่ไม่มี Work Life Balance แล้ว ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พนักงานปฏิเสธไม่ทำงานด้วย แม้ว่าผู้สัมภาษณ์อาจจะโม้ไว้เยอะ แต่ถ้าเริ่มต้นทำงานแล้วมันไม่เป็นไปตามที่โม้ไว้ จะยิ่งทำให้ความรู้สึกของผู้สมัครยิ่งแย่ไปได้ด้วย และสุดท้ายก็ต้องขอลาออกจากองค์กรไปอยู่ดี
  • อ่านเจอแต่เรื่องไม่ดีเกี่ยวกับบริษัท ปัจจุบัน นี้ผู้สมัครส่วนใหญ่มักจะหาข้อมูล และสอบถามเพื่อนๆ หรือไม่ก็ ทิ้งคำถามไว้ใน Social Media ต่างๆ แล้วสักพักก็จะเริ่มได้คำตอบมา ซึ่งถ้าคำตอบที่ได้มีแต่เรื่องที่ไม่ดีเกี่ยวกับบริษัท มันก็ไม่แปลกที่ผู้สมัครจะปฏิเสธงานของบริษัท โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน เรื่องที่ไม่ดีนั้น แพร่กระจายได้เร็วมาก ซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ระบบการสรรหาคัดเลือกที่ไม่ดีพอ อาทิ ทิ้งช่วงนานเกินไป บางบริษัทมีขั้นตอนในการสรรหาคัดเลือกที่นานเกินไป และทิ้งช่วงในการติดต่อกับผู้สมัครนานมาก จนทำให้ผู้สมัครเองก็รู้สึกถึงความไม่ใส่ใจของบริษัทที่มีต่อตนเอง หรือบางองค์กรมีระบบการคัดเลือกที่ดูยุ่งยากมากมาย ทดสอบแล้วทดสอบอีก และเป็นการทดสอบที่ไม่มีตรรกะใดๆ กับงานที่สมัครเลย ยิ่งไปกว่านั้น เวลาสัมภาษณ์ ก็ไม่มีคำถามอะไรที่ออกมาจากผู้สัมภาษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความน่าดึงดูดใจใน การทำงานที่นี่เลย
  • ตัวคนสัมภาษณ์เองนี่แหละ สาเหตุ สุดท้ายของผู้สมัครที่ปฏิเสธงานก็คือ ตัวคนสัมภาษณ์เองนี่แหละครับ คุยไปคุยมา รู้สึกว่าไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้ใจ ตัวคนสัมภาษณ์ถามอะไรก็ไม่รู้ อีกทั้งดูแล้วไม่ค่อยน่าทำงานด้วยเท่าไหร่
อ่านจบแล้ว พอรู้ว่าผู้สมัครคิดอย่างไรบ้างแล้ว ก็อย่าลืมหาวิธีการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ นะครับ เพราะการสรรหาคัดเลือกพนักงานนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณมาก ถ้าหาแล้ว ถูกปฏิเสธบ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนในการหาคนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีผลต่อการทำงาน ซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่มีมูลค่ามหาศาลที่ทำให้องค์กรขาดคนทำงาน และผลงานก็จะยิ่งไปสู่เป้าหมายได้ยากขึ้นไปอีกครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น