วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

ทำไมระบบประเมินผลงาน ถึงทำให้เราไม่รู้ผลงานของพนักงานจริงๆ

employee-performance-appraisals

เคยสงสัยหรือไม่ครับว่า ทำไมทุกบริษัทที่ต่างก็มีระบบประเมินผลงานของตนเอง และมีการประเมินผลงานพนักงานเป็นประจำทุกปี แต่ทำไมพอไปถามผู้จัดการและหัวหน้างาน ว่าผลงานของพนักงานแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง เอาแบบตอบจริงๆ เลยว่า ใครดี หรือใครไม่ดีเรื่องอะไรบ้าง กลับไม่ค่อยมีใครตอบได้เลย หรือบางคนตอบได้ แต่ก็เป็นคำตอบแบบความรู้สึกมากกว่า ที่จะเอาข้อเท็จจริงในการทำงานของพนักงานคนนั้นมาตอบได้อย่างชัดเจน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น


ทั้งๆ ที่ระบบประเมินผลงานที่เกิดขึ้นนั้น วัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ของระบบก็เพื่อที่จะประเมินผลงานของพนักงานแต่ละคนว่าใครทำผล งานออกมาได้เป็นอย่างไร มีอะไรที่เป็นจุดแข็ง อะไรที่เป็นจุดอ่อน มีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องพัฒนาเพื่อให้ผลงานพนักงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่พอเอาเข้าจริงๆ ระบบประเมินผลที่เราเหนื่อยยากทำมันทุกปี HR ก็ต้องคอยบอกคอยกล่าวกับผู้จัดการสายงานว่าจะต้องประเมินอย่างไรให้ดี ผู้จัดการสายเองก็รู้สึกไม่ค่อยจะสบายใจนักกับการที่จะต้องประเมินผล งานพนักงาน กลับกลายเป็นระบบที่ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าผลงานของพนักงานแต่ละคนนั้นเป็น อย่างไรกันแน่ หรือเรียกได้ว่า ไม่มีใครที่จะสามารถเชื่อข้อมูลจากการประเมินผลงานพนักงานของบริษัทได้เลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจาก
  • ตัวระบบประเมินผล สาเหตุ แรกก็คือ ตัวระบบประเมินผลงานที่ใช้อยู่นั้น ไม่ได้บอกถึงผลงานของพนักงานจริงๆ บริษัทสร้างระบบขึ้นมา โดยไม่ได้พิจารณาถึงผลงานของพนักงานจริงๆ บางแห่งไป copy แบบฟอร์มประเมินผลงานของที่อื่นมา โดยไม่มีความเข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงออกแบบมาอย่างนั้น แต่ก็เอามาใช้แบบที่ไม่เข้าใจ ผลก็คือ ไม่มีใครที่สามารถมองผลงานพนักงานออกเลย เพราะระบบประเมินมันไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก
  • ไม่มีการกำหนดเป้าหมายผลงาน สาเหตุประการถัดมาที่ทำให้เราไม่รู้ว่าผลงานพนักงานดีจริงๆ หรือไม่จากระบบประเมินผลงานก็คือ เราไม่มีการตั้งเป้าหมายผลงานให้กับพนักงาน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ หัวหน้ากับลูกน้องไม่เคยตกลงร่วมกันว่า ปีนี้จะต้องทำผลงานอะไรบ้าง และทำแค่ไหนถึงเรียกว่าดี พอไม่ตกลงกัน เวลามานั่งพิจารณาผลงาน ก็เลยไม่ได้มองผลงานจริงๆ ไปมองประเด็นอื่นมากกว่า
  • ทัศนคติของคนประเมินแตกต่างกัน คนประเมินผลงานแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน บางคนประเมินผลงานพนักงานจริงๆ บางคนมองแค่เพียงว่าทำให้มันเสร็จๆ ไป บางคนก็มองไปที่เรื่องของการขึ้นเงินเดือน และโบนัส ว่าจะประเมินอย่างไรให้ลูกน้องตนเองได้รางวัลผลงานเยอะๆ ผลก็คือ ไม่มีใครที่มองผลงานพนักงานจริงๆ เลยสักคน มัวแต่ไปมองผลสุดท้ายที่จะได้ออกมา
  • คนประเมินไม่ได้รับความรู้เรื่องการประเมินผลงาน หลาย คนอาจจะสงสัยว่า คนที่เป็นหัวหน้างาน ที่ต้องทำหน้าที่ประเมินผลงานลูกน้องนั้น ต้องถูกฝึกฝน และให้ความรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยหรือ คำตอบก็คือ จำเป็นอย่างมากเลยครับ เพราะหัวหน้าใหม่ๆ ส่วนใหญ่ พอถึงช่วงเวลาประเมินผลงาน ก็จะเริ่มงงๆ ว่าจะประเมินผลงานลูกน้องตนเองอย่างไรดี มองผลงานจะต้องมองอะไรบ้าง และต้องประเมินอย่างไร ฯลฯ พอไม่ได้รับการชี้แจงและให้ความรู้เรื่องเหล่านี้ ผลก็คือ ประเมินไปตามใจที่ตนเองคิดมากกว่า ที่จะมองผลงานของพนักงานจริงๆ
  • มองการประเมินผลเป็นแค่เพียงเครื่องมือในการขึ้นเงินเดือน คง ไม่มีผู้จัดการคนไหนที่อยากให้ลูกน้องตนเองได้ขึ้นเงินเดือนน้อยๆ อยู่แล้ว ดังนั้น การประเมินผลงานจึงเป็นเครื่องมือเดียวที่ทำให้ผู้จัดการสามารถบอกกับลูก น้องตนเองว่า เขาจะขึ้นเงินเดือนให้เยอะๆ นะ โดยที่ไม่ได้มองผลงานจริงๆ ด้วยซ้ำไป เพราะกลัวว่า ถ้าเขาประเมินให้ไม่ดี และมีผลต่อการขึ้นเงินเดือนแล้ว ลูกน้องก็จะไม่อยากทำงานด้วย และจะควบคุมดูแลสั่งการได้ยากขึ้นนั่นเอง
  • ไม่มีการบันทึกผลงานระหว่างปี เนื่อง จากการประเมินผลงานนั้นโดยปกติจะประเมินกันปีละ 2 ครั้ง บางแห่งก็แค่ 1 ครั้งเท่านั้น ผลก็คือ คนประเมินมักจะจำได้เฉพาะสิ่งที่พนักงานทำในช่วงใกล้ๆ จะประเมินผลงาน ซึ่งในระหว่างปีที่ผ่าน พนักงานก็ทำงานจริงๆ และอาจจะมีผลงานที่ดีด้วยซ้ำไป แต่หัวหน้าจำไม่ได้เลย ทั้งนี้ก็เนื่องจากเราไม่มีวิธีการเก็บข้อมูลผลงานของพนักงานในระหว่างปี สุดท้ายผลการประเมินก็ออกมาเฉพาะในช่วงปลายปีเท่านั้น เพราะหัวหน้าจำได้แค่นี้
นี่คือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ระบบประเมินผลงานของเรา ไม่สามารถบอกผลงานที่แท้จริงของพนักงานได้ ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลเสียตามมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาพนักงานก็ไม่ สามารถพัฒนาได้ถูกจุด เรื่องของการให้ผลตอบแทน ก็ให้ผิดคน เรื่องของความก้าวหน้าทางสายอาชีพ ก็เอาแต่เฉพาะจำนวนปีทำงานมาคิด เพราะผลงานมองไม่ออก เรื่องของการเลื่อนตำแหน่ง ก็อาศัยอยู่นานเป็นเกณฑ์ ส่วนเรื่องงานก็ไม่รู้เพราะมองไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร ฯลฯ

วิธีแก้ไข จริงๆ มันไม่ยาก เพราะต้องแก้ที่ ระบบประเมินผล ตัวผู้ประเมิน และตัวผู้ถูกประเมิน ปัจจุบันเองก็มีระบบต่างๆ เข้ามาช่วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ KPI Competency หรือ ระบบบริหารผลงานที่กำลังเป็นที่นิยม แต่ระบบเหล่านี้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าผู้ประเมิน และผู้ถูกประเมินยังไม่เข้าใจเรื่องของการมองผลงานลูกน้องของตนเองอย่างเป็น ธรรม

ขออย่าให้ระบบประเมินผลงานเป็นแค่เพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่งของบริษัทที่จะต้อง ทำทุกปี โดยที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากมันเลยครับ ถ้าเราทำกันดีๆ มันมีประโยชน์มหาศาลครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น