เรื่อง ของการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้างาน หรือเป็นผู้จัดการนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่พนักงานเกือบทุกคนที่เข้ามาทำงานในบริษัทใฝ่ฝันกัน เพราะเป็นตัวบอกเราว่า เรากำลังก้าวหน้า จากพนักงานกลายเป็นหัวหน้า จากหัวหน้ากลายเป็นผู้จัดการ ประเด็นก็คือ การเป็นหัวหน้านั้น แค่เลื่อนตำแหน่งให้พนักงานคนหนึ่งขึ้นไป เขาก็สามารถเป็นหัวหน้าคนได้เลยจริงๆ หรือ
ภาพในชีวิตจริงที่เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ ก็คือ หัวหน้า และผู้จัดการมือใหม่ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมา และต้องทำหน้าที่ดูแลพนักงานในทีมงาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มีลูกน้องที่ต้องดูแล จากเดิมที่ทำงานคนเดียว ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พอได้ขึ้นมาเป็นตำแหน่งหัวหน้าคนแล้ว มันเครียดมาก และไม่มีความสุขเลย บางคนถึงกับท้อแท้ในการทำงาน และหมดพลังในการทำงานเลยก็มี สุดท้ายกลายเป็นว่า เราก็เสียอดีตพนักงานมือดีไป แล้วก็ได้หัวหน้าที่ไม่พร้อมที่จะเป็นหัวหน้าขึ้นมา
ปัญหาที่หัวหน้างานมือใหม่มักจะประสบพบเจอกันแทบทุกคนก็คือ
- ไม่รู้ว่าบทบาทหน้าที่ในการเป็นหัวหน้านั้นเป็นอย่างไร จะ ว่าไปก็แปลกนะครับ ที่หลายๆ คนคิดว่า การที่พนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแล้ว ก็น่าจะรู้ว่า การเป็นหัวหน้านั้นจะต้องทำอย่างไร แต่พอเอาเข้าจริงๆ คนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นหัวหน้านั้น ส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เลยว่า การที่เราต้องมาเป็นหัวหน้าคนอื่นนั้น เราจะต้องมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง ไม่รู้ว่าจะต้องคุยกับลูกน้องอย่างไร ไม่รู้ว่าจะต้องทำงานกันอย่างไร จะต้องดูแลลูกน้องอย่างไรบ้าง ฯลฯ
- ไม่สามารถรับมือกับลูกน้องได้เลย หัว หน้ามือใหม่จะมีปัญหาอีกอย่างที่เหมือนกันก็คือ ปัญหากับลูกน้องตนเอง ลูกน้องพอได้รับทราบว่ามีหัวหน้าคนใหม่ที่ได้รับเลื่อนขึ้นมา ก็มักจะลองภูมิบ้าง หรือป่วนบ้าง พยายามทำตัวให้เกิดความยุ่งยากบ้าง ฯลฯ ก็ไม่รู้ทำไปเพื่ออะไรเหมือนกัน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้หัวหน้ามือใหม่ต้องปวดหัวมาแล้วนักต่อนัก จนหัวหน้ามือใหม่บางคนถึงกับเครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หัวหน้าบางคนที่เป็นผู้หญิง ก็ถึงกับต้องกลับบ้านร้องไห้ทุกคืนก็มี และที่สำคัญก็คือ พวกเขาเหล่านี้ไม่รู้ด้วยซ้ำกว่าวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง สุดท้ายก็ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อย ซึ่งเป็นการเสียเวลา และเสียประสิทธิภาพในการทำงานไปอย่างมาก
- สั่งงานลูกน้องไม่เป็น หัว หน้ามือใหม่บางคน มีความเกรงใจลูกน้อง ถึงเวลาที่ต้องมอบหมายงาน ก็ไม่รู้จะมอบอย่างไรดี เกรงใจ กลัวว่าลูกน้องจะไม่ชอบในสิ่งที่ตนมอบหมายไป สุดท้ายหัวหน้าก็เลยเก็บงานไว้ทำเองเกือบหมด จนไม่ได้ทำงานของหัวหน้าเอง เพราะมัวแต่ทำงานที่ควรจะเป็นของลูกน้อง
- ประเมินผลงานลูกน้องไม่ได้ อีกประเด็นที่เป็นประเด็นที่ยากสำหรับหัวหน้ามือใหม่ก็คือ ไม่สามารถที่จะประเมินผลงานลูกน้องตนเองได้ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องประเมินอย่างไร ถึงเวลาประเมินผลงานก็อาศัยความรู้สึกล้วนๆ นี่แหละ
- จูงใจลูกน้องไม่เป็น อีก เรื่องที่ยากมากก็คือ การสร้างแรงจูงใจให้กับลูกน้องในทีมงาน เพื่อให้มีพลังที่จะทำงาน พอจูงใจลูกน้องไม่ได้ มันก็เหมือนกับต่างคนต่างทำงาน ทีมงานไม่เป็นทีม ความรู้สึกร่วมในการทำงานไม่มีเลย สุดท้ายพนักงานในทีมก็รู้สึกว่าการมีหัวหน้า กับการไม่มีหัวหน้ามันก็ไม่แตกต่างกันเลย
ถ้าองค์กรของเราไม่ต้องการให้เกิดปัญหาข้างต้นที่กล่าวมา สิ่งที่จะต้องทำก็คือ จะต้องมีการวางแผนพัฒนาพนักงานกันแต่เนิ่นๆ ต้องมีการวางแผนการพัฒนาสายอาชีพของพนักงาน เช่น ถ้าเราเริ่มรู้ตัวว่าเราจะเลื่อนพนักงานคนนี้ขึ้นเป็นหัวหน้า สิ่งที่ท่านในฐานะหัวหน้าของเขาจะต้องทำก็คือ การพัฒนาทักษะในการบังคับบัญชาให้กับพนักงานคนนั้น อาจจะเป็นการส่งไปอบรม กลับมาแล้ว ก็เริ่มมอบหมายงานที่ต้องดูแลทีมงานเล็กๆ ก่อน ซึ่งเป็นงานโครงการก็ได้ครับ เพื่อให้ได้ลองทำงานจริงๆกับลูกทีม และได้ลองวางแผน สั่งการ ควบคุมงาน รวมทั้งแก้ไขปัญหาเรื่องของคนจริงๆ ในการทำงาน ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าตัวจริง
ปกติเท่าที่ผมสัมผัสกับการบริหารบุคคลในองค์กรต่างๆ มา จะพบว่า ไม่ค่อยมีใครที่เตรียมความพร้อมกับพนักงานก่อนที่จะเลื่อนเขาเป็นหัวหน้ากัน เลย มีแต่เลื่อนขึ้นไปแล้ว และรอให้ปัญหาเกิดแล้ว จึงค่อยมานั่งคิดหาทางพัฒนาพนักงาน ซึ่งก็อาจจะสายเกินไป และอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการทำงานมากขึ้นไปอีก
และที่สำคัญกว่านั้นก็ คือ คนที่พิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานนั้น มักจะคิดเอาเองว่า พนักงานคนนี้ผลงานดีมาก ก็น่าจะเป็นหัวหน้างานที่ดีมากด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วมันคนละเรื่องกันเลยครับ
หัวหน้างานมือใหม่ทุกคนต้องการการสนับ สนุนจากหัวหน้าของเขาอีกทีหนึ่งเหมือนกันนะครับ การที่เขามีปัญหากับลูกน้อง สั่งงานไม่ได้ ลูกน้องไม่ให้การเคารพ หรือลองภูมิ นอกจากแก้ไขโดยการพัฒนาตัวหัวหน้าแล้ว ตัวผู้บริหารเองที่เป็นหัวหน้าของหัวหน้ามือใหม่คนนั้น ก็ต้องคอยสนับสนุน และส่งเสริม โดยให้การยอมรับ และแสดงให้ทีมงานเห็นว่า เราในฐานะผู้บริหารให้การยอมรับหัวหน้าคนนี้อย่างดี
ซึ่งก็น่าจะช่วยให้หัวหน้ามือใหม่ผ่านพ้นวิกฤตในช่วงแรกๆ ของการเป็นหัวหน้าไปได้ด้วยดี และเติบใหญ่เป็นหัวหน้าที่ดีต่อไปในอนาคตได้โดยไม่ยากนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น