วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ข้อพึงระวังในการการตั้งเป้าหมายผลงานปีถัดไป

KPI2222

สำหรับบริษัทที่มีการใช้ระบบบริหารผลงาน และมีการกำหนดตัวชี้วัดผลงานกันอย่างจริงจัง ช่วงนี้ก็น่าจะอยู่ในช่วงของการกำหนดตัวชี้วัดผลงาน และเป้าหมายผลงานในปีถัดไปกันอย่างขะมักเขม้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารบางคนอาจจะกำลังหัวหมุนอยู่ว่าจะกำหนดตัวชี้วัดผลงานอะไร อย่างไรดี และเป้าหมายผลงานที่จะตั้งในปีหน้านั้น ควรจะเป็นเท่าไหร่ดี


เรื่องของการบริหารผลงาน หรือ บางบริษัทอาจจะยังใช้ระบบประเมินผลงานอยู่ สิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารผลงาน หรือประเมินผลงาน ก็คือ การกำหนดตัวชี้วัดผลงานและเป้าหมายผลงานในแต่ละปี ซึ่งกำหนดแล้วก็ต้องมีการแจ้งให้กับพนักงานได้ทราบตั้งแต่ต้นปี เพื่อที่จะเป็นเป้าหมายในการทำงานของพนักงานในปีนั้นๆ ว่าตนเองจะต้องทำอะไรบ้าง ถ้าจะให้ผลงานออกมาดี หรือดีมาก ฯลฯ

แต่ประเด็นเรื่องของการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายผลงานนั้น สำหรับบริษัทที่ต้องกำหนดสิ่งเหล่านี้ ก็มีสิ่งที่พึงระวัง เพราะถ้ากำหนดออกมาไม่ดี หรือ ไม่ตรงกับสิ่งที่องค์กรต้องการ มันก็จะไม่สะท้อนผลงานขององค์กรเลย ดังนั้นการกำหนดตัวชี้วัดผลงาน และเป้าหมายผลงานที่ดี จึงต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
  • ตัวชี้วัดผลงานของตำแหน่งงาน และของหน่วยงาน ควรจะมีการเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดผลงานขององค์กร ประเด็นนี้องค์กรส่วนใหญ่จะเข้าใจในหลักการ แต่พอลงมือปฏิบัติจริง ก็มักจะมองข้ามการเชื่อมโยงตัวชี้วัดขององค์กรลงสู่หน่วยงานและตำแหน่งงาน มักจะเอาเร็วเข้าว่า โดยผู้บริหารก็สั่งการลงไปเลยว่า ต้องการตัวชี้วัดผลงานของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานก็ไปกำหนดกันออกมา โดยไม่พิจารณาเป้าหมายขององค์กรแต่อย่างใด
  • อย่าลืมตรวจสอบตัวชี้วัดผลงานของแต่ละหน่วยงาน หลายๆ ครั้งที่ผมเจอมาว่า ผู้บริหารของหน่วยงานเองกำหนดตัวชี้วัดผลงานแบบเอาสิ่งที่หน่วยงานตนเองทำ ได้อยู่แล้วมาตั้ง ซึ่งถ้าเราตรวจสอบจริงๆ ก็จะพบว่า สิ่งที่กำหนดขึ้นมานั้น ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร อีกทั้งบางตัวยังเป็นสิ่งที่ทำได้อยู่แล้ว ถ้าทำต่อไป มันก็ไม่ได้ทำให้องค์กรดีขึ้นแต่อย่างใด แต่ผลงานของพนักงานจะออกมาดี เพราะทำได้แบบนั้นอยู่แล้ว นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องให้ความสำคัญในการกำหนด ตัวชี้วัดผลงานของแต่ละหน่วยงาน บางหน่วยงานก็มองว่า ตัวชี้วัดบางตัวมีความสำคัญต่อองค์กรจริงๆ แต่ไม่กล้ากำหนด เพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้ ก็เลยกำหนดแต่ตัวที่เราทำได้ก็พอ ซึ่งถ้าผู้บริหารไม่มีการตรวจสอบให้ดี ก็จะมีผลต่อผลงานขององค์กรด้วยเช่นกัน
  • การกำหนดเป้าหมายจะต้องพิจารณาให้ดี เรื่อง ของตัวเลขเป้าหมายในการทำงานที่จะนำมาวัดผลงานกันนั้น ก็เป็นอีกประเด็นที่จะต้องพิจารณาให้ดี เพราะจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า กำหนดเป้าหมายที่แบบทำได้อยู่แล้วก็พอ อย่าไปกำหนดให้มันยากเกินไป แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือเป้าหมายขององค์กรมันคืออะไร ซึ่งตัวเลขเป้าหมายของหน่วยงานก็ต้องสอดคล้องกันไปด้วย ไม่ใช่องค์กรตั้งไว้อย่างหนึ่ง และหน่วยงานก็ตั้งอีกอย่างหนึ่ง ไม่ไปด้วยกัน แบบนี้ทำให้ตาย ก็ไม่สามารถไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้เช่นกัน
  • เป้าหมายบางเรื่องต้องอาศัยผลงานปีที่ผ่านมาเป็นตัวกำหนด เป้า หมายในการทำงานจะสูงหรือต่ำนั้น บางรายการอาจจะต้องใช้ข้อมูลผลงานในปีที่ผ่านมาเป็น base line ในการกำหนด ซึ่งก็จะพอทำให้เรามองเห็นภาพในด้านของการพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นในปีถัดๆ ไป เป้าหมายบางตัวต้องเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา บางตัวต้องลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการพัฒนาให้ผลงานดีขึ้น ไม่ใช่เคยทำได้แค่ไหน ปีหน้าก็กำหนดแค่นั้น แบบนี้ก็คงไม่ใช่เป้าหมายที่มีความท้าทาย และไม่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กรอีกเหมือนกัน
  • อย่าเน้นตัวชี้วัดทางการเงินมากเกินไป บางบริษัท กำหนดตัวชี้วัดผลงานโดยเน้นไปที่เรื่องของการเงิน ไม่ว่าจะเป็นกำไร ยอดขาย ต้นทุน ผลตอบแทนจากการลงทุน ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วธุรกิจเราต้องการผลตอบแทนทางการเงินก็จริง แต่ต้องอย่าลืมว่า เงินที่เราต้องการนั้น มันมีที่มาจากไหน เช่น จากลูกค้าที่พอใจในสินค้าและบริการของเรา และจากกระบวนการทำงานที่สามารถส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีให้กับลูกค้าได้ ดังนั้นถ้าเราต้องการเป้าหมายทางการเงินที่ดี แปลว่าเราก็ต้องมีการปรับปรุงระบบงาน เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีให้กับลูกค้าของเรา เพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการของเรา เราก็จะได้ยอดขายและกำไรตามมา ดังนั้น การกำหนดตัวชี้วัดผลงานและเป้าหมายนั้น ควรจะต้องกำหนดในมุมอื่น ที่มากกว่าเรื่องของการเงินเพียงอย่างเดียว อาจจะกำหนดในมุมมองของลูกค้า และมุมมองของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยเช่นกัน
สรุปแล้วเวลาที่เรากำหนดตัวชี้วัดผลงานในปีถัดไป ก็คงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น และมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบทั้งในแนวนอน และในแนวตั้ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป้าหมายผลงานที่กำหนดออกมานั้น ขัดกันในระหว่างหน่วยงาน และขัดกับเป้าหมายขององค์กรนั่นเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น