อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การเติบโต และความสำเร็จขององค์กรนั้น มีองค์กรประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ทรัพยากรบุคคล และจะต้องเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งยิ่งถ้าองค์กรมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งมันก็ตรงกับเป้าหมายของการบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคปัจจุบันต่อเนื่องใน อนาคตว่า จะต้องหาวิธีการที่จะดึงดูด และเก็บรักษาพนักงานที่เป็น Talent ไว้ให้ได้อย่างดีที่สุด
ผมคิดว่าผู้บริหารของทุกองค์กรที่มองเห็นความสำคัญของการบริหารทรัพยากรบุคคล ต่างก็คิดแบบนี้ แต่คิดแล้วจะทำอย่างที่คิดหรือไม่นั้น อันนี้ก็เป็นอีกเรื่อง มีผู้บริหารบางองค์กรที่มักจะพูดว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารคน แต่นโยบายทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลกลับไปในทางตรงกันข้ามทั้งหมด
ในการดึงดูดและรักษาคนเก่งให้ทำงานกับองค์กรนั้น จริงๆ เป็นเป้าหมายสำคัญ และเป็นเป้าหมายที่หลายองค์กรต่างก็ตระหนักในเรื่องนี้ ซึ่งฝ่ายบุคคลเองก็จะเป็นหน่วยงานที่เป็นคนรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง แต่ในทางปฏิบัตินั้น การที่เราจะดึงดูด และรักษาพนักงานเก่งๆ ไว้นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายบุคคลแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ลองมาดูแนวทางในการบริหารคนเก่ง (Talent) กันสักหน่อยนะครับว่า ควรจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง
- ดึงดูด Talent ใน ปัจจุบันนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ใช้ในการดึงดูดพนักงานที่เก่ง และมีฝีมือเข้าทำงาน ซึ่งองค์กรเองจะต้องกำหนดแนวทางเหล่านี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราค่าจ้างเงินเดือนที่อย่างน้อยจะต้องแข่งขันได้ กับตลาดและธุรกิจในกลุ่มเดียวกันกับบริษัท มีโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงาน งานมีความท้าทายมากพอ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนเก่งๆ ที่อยู่ภายนอกองค์กรเห็นถึงความน่าสนใจของงาน และขององค์กร และอยากที่จะเข้ามาร่วมงานกับองค์กรด้วย และเมื่อมีพนักงานเก่งๆ เข้ามาทำงานกับองค์กรแล้วสิ่งต่อไปที่จะต้องทำก็คือ การเก็บรักษาคนเก่งเหล่านี้ไว้ให้ดี
- Career Path การเก็บรักษาคนเก่งๆ ด้วยระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เป็นที่นิยมกันมากก็คือ การสร้างระบบความก้าวหน้าทางสายอาชีพ หรือที่เราเรียกกันว่า Career Path ที่ทำให้พนักงานที่เข้ามาทำงานกับองค์กรมองเห็นว่า ถ้าเขายังทำงานที่นี่ต่อไป เขาจะสามารถเติบโตไปไหนได้บ้าง ในสายอาชีพใด และจะเติบโตไปได้อย่างไร ซึ่งถ้าคนเก่งๆ เขาสามารถเห็นอนาคตของตนเองได้ และเป็นอนาคตที่ตรงกับที่พนักงานต้องการด้วย ก็จะยิ่งส่งเสริมให้พนักงานไม่อยากออกไปทำงานที่อื่น
- ระบบการพัฒนาพนักงานที่ดี องค์กรที่จะบริหาร Talent ได้ดี รวมทั้งเก็บรักษาคนเก่งๆ นี้ไว้ได้ดีนั้น จะต้องมีระบบการพัฒนาพนักงานที่ดีด้วยเช่นกัน เพราะคนเก่ง ต่างก็อยากที่จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเห็นเรื่องของความรู้ ทักษะ และเทคนิคในการทำงานใหม่ๆ และการพัฒนาก็ต้องเป็นการพัฒนาที่เป็นระบบ แต่ต่อเนื่อง โดยกำหนดแนวทางในการพัฒนาจากเป้าหมายการเติบโตของพนักงานแต่ละคน โดยทั่วไปพนักงานที่รู้ว่าตนเองอยากจะโตไปไหน แล้วองค์กรยังมีการวางแผนพัฒนาเพื่อให้เขาเติบโตได้อีกด้วยนั้น ก็จะเป็นพนักงานที่ไม่อยากออกไปไหนอีกเช่นกัน
- ระบบค่าจ้างเงินเดือนที่ดี ใน การเก็บรักษาพนักงานมือดีๆ ไว้ทำงานกับองค์กรนั้น ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่เป็นธรรม นอกจากความเป็นธรรมแล้ว กลุ่ม Talent นั้นมักจะมีแนวโน้มที่จะถูกซื้อตัว หรือดึงตัวจากบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน ซึ่งองค์กรเราเองจะต้องมีระบบการบริหารค่าตอบแทนที่สามารถแข่งขันได้
- ระบบบริหารผลงาน คน เก่งมักจะเป็นคนที่สร้างผลงานที่ดีให้กับตนเองและองค์กร ดังนั้น ถ้าองค์กรของเรามีระบบบริหารผลงานที่ดี กล่าวคือ มองเรื่องของผลงานของพนักงานเป็นหลัก เป็นเกณฑ์ที่จะเติบโต และการให้รางวัล ไม่ใช่ดูแค่เพียงอายุงาน หรือระบบอาวุโสเท่านั้น คนเก่งๆ มักจะไม่ค่อยเชื่อเรื่องของระบบอาวุโสเท่าไหร่ แต่จะเชื่อเรื่องของผลงาน ดังนั้นองค์กรที่มีระบบการบริหารผลงานที่ดี ทำงานโดยเน้นไปที่ผลงาน มีการพัฒนาผลงานของพนักงานกันอย่างต่อเนื่อง นี่ก็เป็นอีกระบบในฝันของคนที่เป็น Talent เช่นกัน
- Leadership ประเด็น สุดท้ายที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพนักงานไว้ได้ ก็คือ ภาวะผู้นำของกลุ่มผู้บังคับบัญชาในแต่ละระดับ คนที่เป็นหัวหน้าจะเป็นคนที่มีบทบาทที่สำคัญมากๆ ในการบริหารจัดการและรักษาไว้ซึ่งพนักงานเก่งๆ ให้อยู่ทำงานกับองค์กร ทักษะที่จำเป็นสำหรับคนที่เป็นหัวหน้างานในการรักษา Talent ไว้ ก็คือ การสร้างแรงบันดาลใจ และแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงาน การสื่อสาร การให้ Feedback และการสอนงานพนักงาน ฯลฯ
การบริหารคนเก่ง (Talent) จึงไม่ใช่งานของ HR อย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมประสานกันทั้งผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ผู้จัดการสายงาน หัวหน้างาน พนักงาน และฝ่ายบุคคลครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น