เรื่องราวของการบริหารผลงานนั้น ยังคงได้รับความสนใจจากหลายองค์กรอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน ซึ่งในระยะหลังๆ มานี้ องค์กรภาครัฐ เช่น ราชการ และรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ได้พยายามที่จะนำเอาระบบบริหารผลงานนี้มาใช้จริงในการทำงานขององค์กร ซึ่งก็คงต้องอาศัยเวลา และการเปลี่ยนแปลงแนวคิด และวิธีการทำงานภายในองค์กรค่อนข้างมาก เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานกันเลยทีเดียว
แต่สำหรับภาคเอกชนนั้น สามารถนำระบบบริหารผลงานมาใช้งานได้ง่ายกว่า เนื่องจากธรรมชาติของการทำงานเอกชนก็คือการมุ่งเน้นกำไร ซึ่งแน่นอนว่า เป้าหมายในการบริหารจัดการก็ชัดเจนมาก วัฒนธรรมในการทำงานเองก็มุ่งเน้นไปที่ผลงานได้ง่ายกว่า
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ หรือเอกชน ถ้ามีการนำเอาระบบบริหารผลงานมาใช้งานจริงๆ สิ่งที่จำเป็นต้องมี และต้องเกิดขึ้นให้ได้ในการบริหารผลงานก็คือ การ Feedback ผลงานของพนักงาน เพื่อบอกพนักงานว่า ขณะนี้ผลงานของพนักงานนั้นไปถึงไหนแล้ว เมื่อเทียบกับเป้าหมาย และจะต้องทำอะไร ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อทำให้ผลงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
หลายๆ องค์กรเวลานำเอาระบบบริหารผลงานมาใช้ ต่างก็มองว่า เรื่องของ Feedback นั้นเป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดขึ้นได้ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่เราบริหารจัดการผลงานของพนักงาน คนที่เป็นหัวหน้านอกจากที่จะต้องกำหนดเป้าหมายผลงานให้ชัดเจนแล้ว สิ่งที่หัวหน้าจะต้องทำต่อไปก็คือ การตรวจสอบความคืบหน้าของผลงานพนักงาน และในการตรวจสอบความคืบหน้านี้เอง หัวหน้าจะต้องมีการพูดคุย และบอกถึงสิ่งที่ดี และไม่ดี ในการทำงานของพนักงานแต่ละคนอยู่แล้ว โดยหลักการที่ถูกต้องสำหรับการทำให้พนักงานมีผลงานที่ดีนั้น หัวหน้าจะต้องพูดคุย และ Feedback ผลงานของพนักงานอยู่เสมอ
ดังนั้นการ Feedback ผลงานพนักงานจึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่แล้ว แต่เราลืมทำกัน จนฝรั่งเขาเห็น ก็เลยหยิบเอาประเด็นนี้มากำหนดเป็นแนวทางในการบริหารผลงาน ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องปกติที่จะต้องทำกัน แต่เราไม่เคยคิดจะทำ หรือทำมันน้อยจนเกินไป
โดยเฉพาะในบ้านเรา ที่เรื่องของการพูดคุยกันเรื่องผลงานนั้น เป็นสิ่งที่หัวหน้ากับลูกน้องไม่ค่อยจะอยากคุยกันสักเท่าไหร่ หัวหน้าเองก็มองว่า ไม่รู้จะพูดอะไร พูดไปเดี๋ยวพนักงานก็รู้สึกไม่ดี เรื่องไม่ดี ก็เลยไม่อยากบอกพนักงาน พอไม่บอก ไม่ Feedback พนักงานก็ไม่รู้ว่าผลงานของตนเองเป็นอย่างไร สุดท้ายก็ทำผิดซ้ำแบบเดิมมาเรื่อยๆ เพราะหัวหน้าไม่เคยบอกว่าผิด
ฝ่ายพนักงานเองก็มองเรื่องของ Feedback เป็นเรื่องที่รุนแรง และไม่ค่อยอยากได้จากหัวหน้าสักเท่าไหร่ เพราะการที่หัวหน้าเรียกคุยผลงานนั้นแสดงว่า ต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ เลย ก็เลยไม่อยากให้หัวหน้าเรียก
ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว ทั้งคู่ต่างก็มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องนักต่อ Feedback
การที่จะทำให้ระบบ Feedback ผลงานได้ผลนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้างมาดูกันครับ
- เปลี่ยนทัศนคติของหัวหน้าใหม่ ว่า Feedback ผลงานนั้นไม่ใช่การตำหนิลูกน้องอย่างเดียว แต่เป็นการทำให้ลูกน้องมีผลงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าหัวหน้ารู้จักวิธีการให้ Feedback ที่ถูกวิธี หัวหน้าเองจะต้องคิดเสมอว่า การที่เราให้ Feedback แก่ลูกน้องของตนเองนั้น จะเป็นการช่วยทำให้ลูกน้องเราเก่งขึ้น และทำให้เขารู้ว่าจะต้องพัฒนาอะไร อะไรที่เป็นจุดแข็ง อะไรที่เป็นจุดอ่อน ในการทำงานบ้าง จริงๆ การให้ Feedback ในเชิงบวกก็มี อาทิ คำชมเชยแก่ลูกน้องเป็นต้น
- เปลี่ยนทัศนคติของพนักงาน นอก จากหัวหน้าแล้ว พนักงานเองก็ต้องมีความคิดเกี่ยวกับ Feedback ที่ดีด้วยเช่นกัน ต้องเปลี่ยนทัศนคติโดยมองว่า Feedback จากหัวหน้านั้นเป็นของขวัญชั้นเยี่ยม ที่จะทำให้เราได้รับการพัฒนาผลงานขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่องค์กรทั่วไปมักจะลืมก็คือ ลืมให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เพราะมัวแต่ไปให้ความรู้แก่หัวหน้างานแต่ฝ่ายเดียว จริงๆ แล้ว ถ้าจะทำเรื่องของ Feedback ให้สำเร็จได้ ทั้งหัวหน้า และลูกน้องจะต้องได้รับความรู้ที่ดี และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเองในเรื่องนี้
- หัวหน้าต้องเรียนรู้วิธีการให้ Feedback ที่ถูกต้อง เนื่อง จากการให้ Feedback นั้นเป็นการพูดคุยซึ่งอาจจะมีผลต่อความรู้สึกของพนักงานดังนั้น หัวหน้างานเองจะต้องได้รับการพัฒนาวิธีการพูดคุย และให้ Feedback ที่ดี มิฉะนั้นแล้ว การให้ Feedback จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง แทนที่จะได้รับสิ่งที่ดีจากเรื่องนี้
- พนักงานเองต้องเรียนรู้วิธีการรับ Feedback ใน มุมของพนักงานเอง ก็ต้องเรียนรู้วิธีการรับ Feedback จากหัวหน้าของตนเองด้วยเช่นกัน เรียนรู้วิธีการฟัง วิธีการถาม และวิธีการควบคุมอารมณ์ของตนเองเช่นกัน เวลาที่นั่งฟัง Feedback จากนาย
เชื่อหรือไม่ครับว่า ท่านเองก็อยากได้ Feedback ทุกวัน ตอนเช้า อาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ถ้าเรายืนส่องกระจกดูว่าตนเองเป็นอย่างไรบ้าง นั่นแหละครับ คือ Feedback ที่เราอยากได้ จะได้รู้ว่าตนเองดูดีแล้วหรือยัง ถ้ายังจะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้
ผลงานก็เช่นกันครับ เพียงแต่กระจกบานนั้นก็คือหัวหน้าของเราเองครับ (ซึ่งต้องฝึกเพื่อให้เป็นกระจกที่สะท้อนภาพที่ชัดเจนได้)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น