หัวหน้างานที่ดี ย่อมเป็นที่ต้องการของคนที่เป็นลูกน้อง พนักงานทุกคนเวลาที่เข้ามาทำงานในองค์กร ล้วนก็ต้องมีหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการที่จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าอยากทำ งาน และสนุกกับการทำงาน ประเด็นที่สำคัญก็คือ หัวหน้างาน ถ้าพนักงานได้ทำงานกับหัวหน้างานที่ดี ก็ย่อมจะมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วที่พึ่งแรกของพนักงานเวลาเข้ามาทำงานในองค์กรก็คือ หัวหน้างานโดยตรง แต่ถ้าพนักงานรู้สึกว่าหัวหน้างานของตนเองพึ่งอะไรไม่ได้เลย ก็คงไม่มีพลังที่จะทำงานต่อไปแน่นอน
แล้วปกติพนักงานต้องการอะไรจากหัวหน้าของตนเองบ้าง ผมได้คำตอบจากการทำ workshop เรื่องของการเป็นหัวหน้างานที่ดี โดยการสอบถามในมุมของพนักงานว่า ต้องการอะไรจากหัวหน้าของตนเองบ้าง ลองมาดูกันครับ
- ยิ้มแย้มแจ่มใส สิ่งพี่พนักงานต้องการจากหัวหน้างานของตนเป็นอันดับแรกเลยก็คือ เข้ามาทำงานด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายลูกน้องด้วยอาการที่สดใส ไม่ใช่เข้ามาทำงานแบบหน้าตาบึ้งตึง บอกบุญไม่รับ ซึ่งอย่างหลังนี่จะมีแต่ทำให้บรรยากาศในการทำงานเสียไปหมด ลูกน้องจากที่อยากคุย หารือ เรื่องงานก็กลายเป็นไม่อยากคุย พอไม่อยากคุย ก็จะมีปัญหาเรื่องของการทำงาน เพราะไม่ได้รับคำปรึกษา จากนั้นงานก็อาจจะออกมาผิดพลาด พอพลาด หัวหน้าก็ด่า บรรยากาศก็ยิ่งแย่ไปกว่าเดิม แต่ถ้าหัวหน้าเข้ามาทำงานด้วยอาการสดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส พนักงานเองก็จะรู้สึกดี และบรรยากาศในการทำงานก็จะดีไปด้วย ลูกน้องเองเวลามีปัญหา ก็กล้าที่จะเข้ามาหารือ และขอคำปรึกษาได้ ผลงานก็จะออกมาดีกว่า
- ขอคำชมบ้าง อันดับที่สองที่พนักงานต้องการจากหัวหน้าก็คือ เวลาที่ทำงานได้ดี ก็อยากได้คำเชยจากหัวหน้าบ้าง และต้องเป็นคำชมที่จริงใจด้วยนะครับ ไม่ใช่ชมเพราะเป็นแค่หน้าที่เท่านั้น พนักงานเองต้องการที่จะให้หัวหน้ารู้สึกชื่นชมในผลงานที่ตนเองทำออกมาได้ คนเราเวลาทำงานได้ดี ก็ย่อมจะต้องการให้คนอื่นเห็นและยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหัวหน้าของตนเอง
- ฟังกันบ้าง อันดับ ที่สามที่พนักงานต้องการจากหัวหน้าก็คือ รับฟังลูกน้องอย่างตั้งใจ และเข้าใจในสิ่งที่พนักงานคุยให้ฟัง ไม่ใช่เวลาพนักงานจะมีเรื่องหารือ ก็ทำเป็นไม่สนใจ นั่งพิมพ์งานไปเรื่อย ไม่หันหน้ามาแสดงให้เห็นว่ากำลังฟังอยู่ หรือทำอย่างอื่นไปด้วยฟังไปด้วย ฯลฯ พฤติกรรมแบบนี้เป็นพฤติกรรมที่พนักงานไม่ชอบ เพราะเหมือนไม่ให้เกียรติกัน จริงๆ พนักงานเองก็เป็นคนคนหนึ่ง หัวหน้าเองก็เป็นคนคนหนึ่งเช่นกัน ก็ย่อมต้องการให้คนอื่นให้เกียรติเช่นกัน ถ้าหัวหน้าไม่ให้เกียรติลูกน้อง ตัวหัวหน้าเองก็จะไม่ได้รับเกียรตินั้นจากลูกน้องเช่นกัน
- ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม อันดับ ที่สี่ ก็คือ พนักงานต้องการให้หัวหน้างานของตนเองปฏิบัติต่อทุกคนในทีมงานอย่างเท่าเทียม กัน แน่นอนว่าหัวหน้าเองอาจจะรู้สึก ชอบหรือไม่ชอบใคร แต่ในการทำงานและการเป็นหัวหน้างานแบบมืออาชีพนั้น จะต้องละในเรื่องนั้นไปให้ได้ โดยมองแต่จุดดีของพนักงานเพื่อดึงเอาผลงานของพนักงานออกมาให้ได้ ที่สำคัญก็คือ การปฏิบัติต่อพนักงานแบบลำเอียง เลือกที่รักมักที่ชัง มอบหมายงานที่ไม่เท่าเทียมกัน สอนงานบางคน บางคนก็ไม่ยอมสอนเลย อีกทั้งลูกน้องบางคนที่หัวหน้าไม่ชอบพฤติกรรมนัก ก็มักจะไม่อยากคุยด้วย ไม่อยากสุงสิงด้วย เวลาลูกน้องมาคุย ก็ไม่อยากคุย แสดงอาการแบบว่า ไม่พอใจ ชักสีหน้าไม่ดีใส่ ฯลฯ ซึ่งทำให้พนักงานเองก็รู้สึกไม่ดี สิ่งที่สำคัญก็คือ การกระทำเช่นนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลยด้วยซ้ำไป มีแต่จะทำให้ผลงานของพนักงานคนนั้นแย่ลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลงานของหัวหน้าแน่ๆ ดังนั้น หัวหน้างานก็คงต้องเป็นมืออาชีพมากพอที่จะมองข้ามพฤติกรรมที่ตนเองอาจจะไม่ ชอบนัก แต่หันไปมองจุดดี จุดแข็งของพนักงาน เพื่อให้พนักงานคนนั้นสร้างผลงานออกมาให้ดีที่สุด พนักงานเองก็จะรู้สึกว่า หัวหน้างานมีความเป็นธรรม เพราะไม่เลือกปฏิบัติ ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่ก็ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม
- สอนและให้คำแนะนำการทำงาน อันดับ ที่ห้า ก็คือพนักงานต้องการให้หัวหน้างานของตนเองมีการสอนงาน และให้คำแนะนำวิธีการทำงานที่ถูกต้อง และเหมาะสมบ้าง ไม่ใช่เข้ามาก็ปล่อยให้ทำงานไปตามยถากรรม โดยไม่เคยสอน หรือแนะนำวิธีการทำงานอะไรเลย แถมบางคนไม่สอน แต่ยังมาติดตามผลงานอีก ซึ่งพนักงานเองก็งงว่าแล้วจะทำได้อย่างไร เพราะสิ่งที่ถูกก็ไม่เคยบอกว่าจะต้องทำอย่างไรพอถึงเวลาก็มาบอกว่าทำไม่ได้ แบบนี้พนักงานเองก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับเขาเหมือนกัน แต่ถ้าหัวหน้ามีการสอนงาน แนะนำงาน และบอกถึงวิธีการทำงานที่ถูกต้องก่อนที่จะให้พนักงานทำงาน
เพราะเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติของคนเราอยู่แล้ว ถ้าใครไม่มี ก็แสดงว่า กำลังฝืนธรรมชาติบางอย่างอยู่เหมือนกันนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น