วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เด็กรุ่นใหม่ไม่ขยันเท่าคนรุ่นก่อน จริงหรือ


เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมได้ยินผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่ง กล่าวขึ้นมาว่า “เด็กสมัยนี้ ไม่มีความทุ่มเท ไม่ขยันขันแข็ง เหมือนคนรุ่นก่อนเลย” จาก นั้นก็มีคำบ่นถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ ว่า เป็นคนที่ทำงานไม่เต็มที่ ชอบเล่นเทคโนโลยี เอาเวลางานไปทำอย่างอื่น แทนที่จะทำงาน ฯลฯ ผมเองก็เลยสงสัยขึ้นมาว่า จริงๆ แล้วเด็กสมัยนี้ที่เข้ามาทำงานในองค์กรนั้น ขยันน้อยกว่าคนรุ่นเดิมๆ จริงๆหรือ


จากที่เคยได้ศึกษาเรื่องของ Generation ต่างๆ มาบ้าง ก็เลยเอาความรู้เหล่านั้นมาวิเคราะห์กันสักหน่อย เพื่อที่จะดูว่า จริงๆ แล้วเป็นอย่างที่ผู้บริหารท่านนั้นกล่าวมาจริงๆ หรือไม่ โดยมีผลการวิจัยเรื่องนี้ดังต่อไปนี้ครับ
  • คนรุ่นก่อนทำงานโดยเน้นเรื่องของกระบวนการทำงานเป็นหลัก โดยเอาวิธีการทำงานมาก่อนเรื่องของเป้าหมายและผลสำเร็จของงาน พอเน้นเรื่องของกระบวนการในการทำงาน ก็เลยต้องไปพิจารณาจากการมาทำงานของพนักงาน ซึ่งสมัยก่อนนั้น พนักงานคนไหนที่มาทำงานแต่เช้าก่อนคนอื่น และกลับบ้านหลังคนอื่น อยู่บริษัทตลอดเวลา ก็จะถูกพิจารณาว่า นี่แหละพนักงานที่ทุ่มเททำงานให้กับบริษัท โดยที่ไม่ได้ไปเน้นที่ผลลัพธ์ของงานมากนัก งานจะเสร็จเร็ว หรือเสร็จช้านั้น ไม่สำคัญเท่ากับวิธีการทำงาน และการมาทำงานของพนักงาน
เมื่อเป็นแบบนี้ ผู้บริหารรุ่นเก่าๆ ก็มักจะมองเรื่องของเวลาการทำงานของพนักงาน การทุ่มเทเวลาให้กับองค์กร การอยู่ทำงานดึกๆ ดื่นๆ เสาร์อาทิตย์ไม่เคยหยุด ฯลฯ นั้น ว่าเป็นคนที่มีความขยันขันแข็ง ทุ่มเททำงานให้กับบริษัทอย่างแท้จริง
  • คนรุ่นใหม่ทำงานโดยเน้นไปที่ผลสำเร็จของงานเป็นหลัก โดย เอากระบวนการหรือวิธีในการทำงานเป็นเรื่องรอง ก็เลยทำให้คนรุ่นใหม่นั้น ไม่เน้นการมาทำงานที่บริษัท แบบหามรุ่งหามค่ำ แต่จะพยายามหาวิธีการทำงานด้วยตนเอง จัดเวลาการทำงานด้วยตนเอง รวมทั้งยังคิดว่า เราสามารถทำงานได้ทุกที่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเข้าบริษัทถึงจะทำงานได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเรื่องของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ก็เลยทำให้คนรุ่นใหม่ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ ดังนั้นคนสมัยนี้ก็เลยไม่ค่อยอยู่ทำงานในบริษัทนานๆ หรือมาแต่เช้า กลับตอนดึกๆ เขาอาจจะนั่งทำงานที่บ้าน ร้านกาแฟ หรือแม้แต่ห้องน้ำ ก็ทำงานได้ คนสมัยนี้ก็เลยคิดแค่ว่า เขาทำงานให้บริษัทได้สำเร็จตามเป้าหมายอย่างแน่นอน แต่ด้วยวิธีการที่เขาออกแบบเอง
เมื่อเป็นแบบนี้ ผู้บริหารรุ่นเก่าๆ ที่ยังบริหารบริษัทอยู่ ก็จะมองเด็กรุ่นใหม่ว่า ไม่ค่อยทุ่มเทเหมือนคนสมัยก่อน มาทำงานตรงเวลาเป๊ะ แถมยังไม่เคยทำงานเลยเวลางานเลย พอถึงเวลาเลิกงาน ก็กระเด้งออกจากบริษัททันที เนื่องจากความเชื่อพื้นฐานที่แตกต่างกัน ก็เลยทำให้คนรุ่นเดิมมองคนรุ่นใหม่ว่าขยันน้อยกว่าเดิม

แต่ถ้าเราพิจารณาจากความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในองค์กรมากขึ้น ถ้าคนรุ่นนี้ขยันน้อยลงจริงๆ ผลงานอันโดดเด่นของหลายๆ บริษัทที่ประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่ ก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้แบบทุกวันนี้

พอไปถามคนรุ่นใหม่ เขาก็จะตอบว่า เขาไม่เห็นจะต้องเดินตามรอยคนรุ่นเดิมเลย เพราะเขาสามารถนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ ขอเพียงบอก หรือมอบหมายงานมาให้ชัดเจน ว่าต้องการอะไร และเสร็จเมื่อไหร่ คุณภาพงานที่ต้องการเป็นอย่างไร แค่นี้ เดี๋ยวเขาก็สามารถจัดการให้ได้ ดีไม่ดีทำเสร็จก่อนเวลาที่กำหนดด้วยซ้ำไป

เมื่ออ้างอิงจากงานวิจัยเรื่องของ Generation Gap แล้ว ก็จะเห็นว่า จริงๆแล้ว ไม่มีรุ่นไหนที่ขยันกว่ารุ่นไหนหรอกครับ คนรุ่นเดิมนั้นบางคนก็มาถึงที่ทำงานแต่เช้าตรู่ กลับบ้านดึกๆ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ไม่ได้ทำงานอะไรเลยก็มี นั่งไปเรื่อยๆ แบบไม่ทำอะไรมากกว่า

คนรุ่นใหม่ ที่บอกว่าทำงานที่ไหนก็ได้ บางคนเองก็หลุดไปเหมือนกัน ประเภท ลืมว่าเป้าหมายในการทำงานของตนเองคืออะไร เลยถูกเทคโนโลยีดึงเวลาไปทำให้ผลงานไม่ออกก็มีเยอะครับ

โดยสรุปแล้ว ผมว่าไม่ว่าจะยุคก่อนหรือยุคนี้ จริงๆ ก็ขยันเหมือนกัน สำหรับคนที่ขยัน และก็ขี้เกียจเหมือนกัน สำหรับคนที่ขี้เกียจ เพียงแต่สภาพแวดล้อมในการทำงานมากกว่า ที่เปลี่ยนแปลงไป และมุมมองของคนรุ่นเดิมที่มองไม่เหมือนคนรุ่นใหม่ ก็เลยทำให้รู้สึกกันไปแบบนั้น

การแก้ไขก็คือ ผู้บริหารจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองของตนเองใหม่ โดยพยายามมองในมุมมองของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น และบริหารงานโดยอาศัยผลของงานเป็นหลัก กระบวนการทำงานเป็นรอง ก็น่าจะทำให้เราเห็นว่า คนสมัยนี้ก็ขยันไม่แพ้คนรุ่นเดิมเหมือนกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น