วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เห็นพฤติกรรมเหล่านี้ของพนักงานแล้ว รู้สึกสงสารบริษัทจริงๆ


ปัจจัยในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น มีอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ คน เงิน เครื่องจักร การบริหารจัดการ ฯลฯ ในปัจจุบันเรามักจะพูดเหมือนๆ กันว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของ “คน” หรือที่มักจะเรียกกันว่า “ทรัพยากรบุคคล”


องค์กรที่บริหารงานได้อย่างประสบความสำเร็จ มักจะให้ความสำคัญของคนมากหน่อย ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาคัดเลือก การพัฒนา การบริหารผลงาน การบริหารค่าจ้างเงินเดือน ฯลฯ จะมีทิศทาง และแนวทางที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ดี พนักงานที่หาเข้ามาได้นั้น ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีพฤติกรรมที่ดี แต่ละคนจะมีพฤติกรรม ทัศนคติ ความคิดที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็เป็นผลดีต่อบริษัท บ้างก็ไม่ค่อยดีนัก และพฤติกรรมเหล่านี้เองที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กรเช่นกัน

พฤติกรรมที่พบเห็นมาจากพนักงานขององค์กรต่างๆ ที่มักจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของทั้งหัวหน้างาน และของบริษัท ผมเองเห็นแล้วบางครั้งก็รู้สึกสงสารบริษัทนั้นจับใจจริงๆ ที่มีพนักงานที่มีพฤติกรรมเหล่านี้เข้ามาทำงาน
  • ใช้เวลาของบริษัทในการทำงานอย่างอื่น พฤติกรรมแรกที่ผมเห็นมา ก็คือ พนักงานของบริษัท ในบางตำแหน่งที่ต้องมีการออกทำงานพบปะลูกค้าภายนอกบริษัทเป็นประจำ คนที่ดี ก็มีการวางแผนพบปะลูกค้าและใช้เวลาของบริษัทในการทำงานร่วมกับลูกค้าอย่าง เต็มที่ แต่ในทางตรงกันข้าม พนักงานบางคนกลับเอาเวลาของบริษัทไปทำงานอื่น เช่น ไปขายสินค้าที่ไม่ใช่ของบริษัท บางครั้งก็พบปะลูกค้าแค่ไม่นาน แต่เอาเวลาที่เหลือไปเที่ยวเล่น และทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานของบริษัท แต่รับเงินเดือนของบริษัทเต็มๆ
  • งานไม่ทำ เอาแต่เข้า (เครือข่าย)สังคม เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างมากมาย การติดต่อสื่อสารกันเป็นไปได้อย่างทันที และตลอดเวลา ทุกคนมีเครื่องมือสื่อสารติดตัวอยู่เสมอ ก็เลยทำให้มีพฤติกรรมที่ติดเทคโนโลยี และต้องการที่จะสื่อสาร หรือเข้าเครือข่ายสังคมอยู่ตลอดเวลา เวลาทำงาน 8 ชั่วโมง แต่ทำงานจริงๆ แทบไม่ถึง ครึ่ง อีกครึ่งหนึ่งนั้นเอาไปใช้ในการเข้าเครือข่ายสังคม ในเวลาทำงาน ผลก็คือ ผลงานไม่ออก หรือไม่ก็งานออกมาช้าๆ ผิดๆ ถูกๆ เพราะพนักงานไม่มีสมาธิจดจ่อในการทำงานนั้นๆ ทำงานได้แป๊ปเดียว ก็หันไปตอบ line เพื่อนบ้าง ไปเม้น status เพื่อนใน facebook บ้าง ฯลฯ
  • จัดฝึกอบรมภายใน แต่พนักงานมาเข้าพอเป็นพิธี การ จัดการฝึกอบรมภายใน (In-house Training) ให้กับพนักงาน เพื่อเป็นการพัฒนาพนักงานให้มีความรู้ ทักษะในการทำงานที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่มักจะเห็นเวลาที่มีการฝึกอบรมภายในบริษัท ก็คือ พนักงานมาเข้าอบรมแบบไม่มีความตั้งใจที่จะเข้ามาเรียนเลย มาถึงก่อน ก็พยายามไปหาที่นั่งข้างหลังห้อง เหตุผลก็คือ เพื่อที่จะได้เดินออกจากห้องได้สะดวกหน่อยในระหว่างการอบรม และเหตุผลที่ต้องเดินออกก็เพราะ จะต้องทำงาน เดี๋ยวมีใครติดต่อมาต้องรับโทรศัพท์ บางคนก็เอาคอมพิวเตอร์เข้ามาทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย (แล้วจะได้เรียนหรือ?) ฯลฯ คำถามก็คือ พฤติกรรมแบบนี้ พนักงานคนนั้นจะได้ความรู้สักแค่ไหน แล้วที่บริษัทลงทุนให้พนักงานได้รับการพัฒนา ก็เท่ากับว่าเปล่าประโยชน์ เรียนจบ ก็ยังไม่สามารถเอาความรู้ไปใช้ได้จริง เนื่องจากไม่เคยตั้งใจเรียนเลย
  • ส่งพนักงานไปอบรมภายนอก แต่ก็ไม่เข้าเรียน การ ฝึกอบรมอีกลักษณะหนึ่งก็คือ บริษัทส่งพนักงานออกไปฝึกอบรมกับบริษัทภายนอก แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับข้อที่แล้ว ก็คือ ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ มานั่งฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง เล่นโทรศัพท์บ้าง เดินเข้าเดินออกบ้าง หนักหน่อย ก็คือ มาเซ็นชื่อ แล้วก็หายไปเลยก็มี แต่บริษัท ไม่รู้เลย คิดว่าพนักงานมาเอาความรู้ไปอย่างแน่นอน
  • ไม่เคยให้ความร่วมมืออะไรกับทางบริษัทเลย พนักงาน บางคน ไม่เคยให้ความร่วมมือกับกิจกรรมใดๆ ของบริษัทเลย ให้มาร่วมประชุมงานโครงการ ก็ไม่มา บอกว่าติดงาน ให้มาเข้าร่วมกิจกรรมที่บริษัทจัดขึ้น ก็อ้างว่าไม่สะดวก เรียกว่า งานประจำก็ไม่ค่อยจำทำ แถมงานที่บริษัทขอความร่วมมือ ก็ไม่อยากจะทำอีก
ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ของพนักงาน ผมเชื่อว่า ทุกท่านที่พบเจอ ต้องรู้สึกเอือมระอามากมาย ผมเองก็รู้สึกเช่นกัน เวลาที่ไปทำงานที่ปรึกษาให้กับบริษัทลูกค้า เขาลงทุนมากมาย เพื่อที่จะให้ได้ระบบงานที่ดี แต่กลับมาแป๊ก เพราะพนักงานไม่ให้ความร่วมมือบ้าง ไม่ยอมเข้าร่วมบ้าง อย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้น

สิ่งที่ผมรู้สึกต่อมาก็คือ รู้สึกสงสารบริษัท และผู้บริหารของบริษัท ที่พยายามสร้างผลงาน และทำงานอย่างหนัก เพื่อให้บริษัทเดินไปข้างหน้า และสามารถอยู่รอดได้ แต่กลับได้พนักงานเหล่านี้เข้ามาทำงาน โดยที่บางครั้งผู้บริหารแทบไม่รู้เลยว่าพนักงานแสดงพฤติกรรมดังกล่าว

ถ้าจะถามว่าจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร ผมคงต้องขอตอบว่า แก้ไขคงจะยากหน่อย เพราะไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของพนักงานเยอะ ดังนั้นวิธีการที่น่าจะนำมาใช้ ก็คือ การใช้เรื่องของทางวินัยเข้ามาดำเนินการมากหน่อย และเอาเรื่องของการประเมินผลงานเข้ามาใช้ในการหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เหล่านี้ ถ้าองค์กรของเรามีพนักงานลักษณะนี้อยู่จริง โดยต้องอาศัยความร่วมมือของหัวหน้า และผู้จัดการที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องเหล่านี้

นอกจากการแก้ไขปัญหา สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การป้องกันปัญหาเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นมากกว่า และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ สิ่งแรกที่บริษัทควรจะทำก็คือ การวางระบบการสรรหาคัดเลือกที่เข้มงวดมากหน่อย ไม่ปล่อยให้พนักงานเข้ามาง่ายๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการคนด่วน ถ้าเราหาคนที่เหมาะสมกับองค์กร และมีพฤติกรรมที่ดี มีทัศนคติที่ดี ปัญหาทุกอย่างจะเกิดขึ้นน้อยลง และถ้าเกิดก็จะแก้ไขปัญหาได้ไม่ยากนัก

อย่าให้บริษัทต้องมีคนประเภทนี้อยู่มากเกินความจำเป็น เพราะมันจะมีแต่ผลเสียต่อธุรกิจของเรามากกว่าผลดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น