ผมเชื่อว่า HR หลายท่านคงรอลุ้นอยู่ว่า ผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนในหมวดของแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงานนั้น จะออกมาเป็นตัวเลขกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะได้นำเอาตัวเลขแนวโน้มที่ไปปรับใช้ในการกำหนดงบประมาณการขึ้นเงินเดือนในปีถัดไปนั่นเอง
สำหรับปี 2555 นี้ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมนั้นอยู่ในเกณฑ์ชะลอตัวมาตลอดทั้งปี จริงๆ ถ้าดูจากตัวเลขก็มีการเติบโตนะครับ เพียงแต่เติบโตขึ้นในอัตราที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ณ สิ้นปี 2555 ไว้ประมาณ 5.7% จากปีที่แล้ว ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงนัก
อัตราเงินเฟ้อเองก็เพิ่มขึ้นพอๆ กับปีที่ผ่านมา (2554) จากตัวเลขประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณการว่า ปลายปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณ 2.8% ซึ่งก็ปรับขึ้นมาพอๆ กับปีที่ผ่านมาอีกเช่นกัน
พอดูภาพรวมของเศรษฐกิจไทยแบบนี้แล้ว พอจะประมาณการตัวเลขการขึ้นเงินเดือนประจำปีออกหรือไม่ครับ
โดยส่วนตัวของผมเอง ผมมักจะมีตัวเลขอีกตัวหนึ่งไว้ในใจก็คือ ตัวเลขที่เรียกกว่า Real Merit ก็คือ ตัวเลขที่บริษัทต้องการให้รางวัลแก่พนักงานจริงๆโดยไม่รวมตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปผมมักจะคำนวณ Real Merit โดยเอาตัวเลขการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยจริงเมื่อปีที่ผ่านมาตั้ง ลบด้วยอัตราเงินเฟ้อของปีนั้นๆ เช่นปีที่แล้ว อัตราการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6.5% และเงินเฟ้อปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 3.5% แสดงว่า Real Merit ก็คือ 3% ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า เราตอบแทนผลงานพนักงานด้วยการขึ้นเงินเดือนจริงๆ ที่ 3%
โดยทั่วไปตัวเลข Real Merit ผมมักจะคำนวณย้อนหลังไปหาค่าเฉลี่ยที่ 3 ปีย้อนหลัง ซึ่งผลที่ผมคำนวณได้ในปีนี้ก็คือประมาณ 2.8 - 3% ดังนั้น ถ้าเราต้องการ Real Merit เพื่อตอบแทนผลงานพนักงานที่ 3% และภาวะเงินเฟ้อปลายปีนี้ประมาณการไว้ที่ 2.8%
ดังนั้นงบประมาณที่เราจะเสนอขึ้นเงินเดือนก็น่าจะประมาณ 5.8% (3%+2.8%)
โดยสรุป ตัวเลขแนวโน้มในการขึ้นเงินเดือนปีหน้า 2556 น่าจะอยู่ในช่วง 5.5 – 6.5% ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นเพิ่มเติมด้วยดังนี้ครับ
- อัตราเงินเดือนของพนักงานเราเทียบกับตลาด ถ้าเราเข้าร่วมสำรวจค่าจ้าง ก็น่าจะพอทำตัวเลขออกมาได้ว่า ค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทเราเมื่อเทียบกับตลาดแล้ว สูงกว่า หรือ ต่ำกว่าตลาดสักแค่ไหน ซึ่งถ้าเราเทียบออกมาแล้วเฉลี่ยบริษัทเรายังต่ำกว่าตลาด อัตราการขึ้นเงินเดือนปีหน้าก็ต้องสูงกว่า 6% เพราะจะได้ทำให้เงินเดือนของพนักงานเราทัดเทียมกับตลาดมากขึ้นนั่นเอง หรือถ้าเทียบออกมาแล้วค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทเราสูงกว่าตลาด ตัวเลขการขึ้นเงินเดือนก็อาจจะอยู่ที่ต่ำกว่า 6% ได้
- ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ประเด็นความสามารถในการจ่ายสำหรับปีหน้าก็ยังคงเป็นประเด็นที่นายจ้างเกือบทุกรายต้องกุมขมับคิดมากมาย เพราะเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง เม.ย. 2555 ทำให้นายจ้างต้องเพิ่มค่าจ้างให้กับพนักงานโดยที่ผลิตผลไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย และยิ่งไปกว่านั้น ต้นปี 2556 ก็ยังต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ ก็ยิ่งทำให้นายจ้างที่อยู่ในเขตที่ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในส่วนนี้ด้วย จึงอาจจะทำให้ตัวเลขอัตราการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงานไม่ถึง 6% ได้นั่นเองครับ เพราะถ้าขึ้นเยอะก็จะทำให้นายจ้างต้องแบกภาระต้นทุนทางด้านค่าจ้างเงินเดือนสูงขึ้น โดยที่ผลผลิตอาจจะไม่ได้สูงขึ้นตามอัตราการเพิ่มของค่าจ้าง
แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า ถ้าเราต้องการทรัพยากรบุคคลที่มีฝีมือ และให้เขาเข้ามาสร้างผลงานที่ดีให้กับบริษัทของเรา เราเองก็คงต้องพิจารณาถึงเรื่องของการแข่งขันทางด้านค่าจ้างเงินเดือนประกอบด้วย เนื่องจากช่วงนี้ผมได้รับคำบ่นจากบรรดา HR เยอะครับว่า ถูกซื้อตัวบ้าง สมัครแล้วไม่มาเริ่มงานบ้าง ทำงานได้สัก 2 สัปดาห์ก็ไปที่อื่นบ้าง ฯลฯ เหตุผลประการแรกที่สอบถามมาได้ ก็คือเรื่องของ “ค่าจ้างเงินเดือนที่แข่งขันไม่ได้” นั่นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น