หลังจากเขียนเรื่องราวของผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนมาสักพักใหญ่ ก็เริ่มมาตั้งแต่เรื่องของอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษา มาถึงเรื่องของแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน วันนี้จะขอแตะอีกเรื่องที่เป็นข้อมูลจากผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการของ PMAT ก็คือเรื่องของการจ่ายโบนัสตามผลงานนั่นเองครับ
โบนัสเขาจ่ายกันอย่างไรกันบ้างลองมาดูลักษณะของการให้โบนัสกันนะครับ
- โบนัสคงที่ โบนัสในลักษณะนี้ จะเป็นการจ่ายโดยให้คงที่เท่ากันสำหรับพนักงานทุกคนในองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่ที่มาของโบนัสก้อนนี้ ก็คือ พิจารณาจากผลประกอบการของบริษัทว่าพอจะมีกำไรสักเท่าไหร่ และจะปันบางส่วนมาจ่ายเป็นเงินโบนัสสักเท่าไหร่ ซึ่งพออนุมัติแล้วทุกคนในองค์กร ไม่ว่าผลงานจะดีหรือไม่ดี ก็จะได้เท่ากันหมด ซึ่งผลการสำรวจค่าจ้างในปี 2555 นี้ แนวโน้มของโบนัสคงที่จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 เดือน
- โบนัสผันแปร โบนัสในลักษณะนี้จะจ่ายให้กับพนักงานในอัตราที่แตกต่างกันออกไปตามผลงานของพนักงานแต่ละคน ใครที่ทำผลงานดี ก็จะได้อัตราโบนัสที่สูงกว่า พนักงานที่ทำผลงานได้ด้อยกว่านั่นเองครับ ซึ่งจากผลการสำรวจค่าจ้างในปี 2555 นี้ ตัวเลขโบนัสผันแปรอยู่ที่ประมาณ 2.7 เดือน
- โบนัสคงที่ + ผันแปร บางบริษัทก็มีการจ่ายโบนัสทั้งสองประเภทประกอบกัน กล่าวคือ แบ่งโบนัสออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจ่ายให้พนักงานทุกคนเท่ากัน ซึ่งถือว่าเป็นโบนัสคงที่ และอีกส่วนหนึ่งก็จ่ายแตกต่างกันออกไปตามผลงานของพนักงานแต่ละคน ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะกำหนดโบนัสคงที่ตรงนี้ไว้ที่ประมาณ 1 เดือน และผันแปรอยู่ที่ประมาณอีก 1.5 เดือน ซึ่งรวมแล้วก็ประมาณ 2.5 เดือน
อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องของการให้โบนัสนั้น ปัจจุบันนี้จะนำตัวเลขโบนัสมาเป็นตัวเลขเปรียบเทียบกันแทบไม่ได้เลย ในอดีตเราอาจจะต้องอ้างอิงอัตราโบนัสของตลาด เพื่อมากำหนดอัตราการจ่ายโบนัสขององค์กรเรา เพื่อให้ใกล้เคียงกัน และแข่งขันได้ แต่ในปัจจุบันนั้น เรื่องของโบนัสกลายเป็นเรื่องของการตอบแทนผลงานของพนักงานกันอย่างจริงจัง กล่าวคือ ถ้าบริษัทนั้นๆ พนักงานสามารถช่วยกันทำงานจนได้ผลกำไรตามเป้าหมาย บริษัทก็สามารถที่จะปันส่วนโบนัสให้กับพนักงานได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปดูเลยว่าตลาดให้โบนัสกันกี่เดือน
บางบริษัทตั้งเป้าโบนัสโดยผูกกับผลกำไรของบริษัท ว่าถ้าทำได้ตามเป้า จะให้กี่เดือน ถ้าได้มากกว่าเป้าจะให้กี่เดือน โดยคำนวณไว้ตั้วแต่ต้นปี เพื่อใช้เป็นตัวเลขในการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้พนักงานช่วยกันสร้างผลกำไรให้กับบริษัท ผลก็คือ บางบริษัทสามารถให้โบนัสพนักงานได้สูงถึง 10 เดือน โดยที่ไม่ต้องไปเหลือบดูคู่แข่งเลยด้วยซ้ำไปว่าจ่ายกันกี่เดือน
ดังนั้นปัจจุบันเรื่องของโบนัสตามผลงานจึงนำมาใช้ในการกระตุ้นผลงานของพนักงานมากขึ้น และนำมาใช้เป็นรางวัลผลงานในระยะสั้นได้ดีกว่าเรื่องของการขึ้นเงินเดือน เช่น ปีนี้กำไรเยอะ ก็ปันเป็นโบนัสเยอะหน่อย แต่ขึ้นเงินเดือนก็ขึ้นตามอัตราตลาดปกติ เพราะถ้ากำไรมากแล้วขึ้นเงินเดือนมาก ก็จะทำให้ระยะยาวบริษัทจะมีภาระในเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนที่สูงขึ้นมากกว่าคู่แข่งอื่นๆ ได้
โบนัสจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้กระตุ้นผลงานได้ดีอีกเครื่องมือหนึ่งนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจากผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนในเรื่องของโบนัสนั้น ก็สามารถนำมาอ้างอิงได้ว่า จริงๆ แล้วเฉลี่ยในตลาดเขาจ่ายๆ กันสักเท่าไหร่ แล้วเราจ่ายอยู่เท่าไหร่ ก็น่าจะพอบอกได้ว่าเราแข่งขันได้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเข้าร่วมสำรวจค่าจ้างแล้วปรากฎว่าเงินเดือนเราเทียบกับตลาดก็ต่ำกว่าตลาด อีกทั้งโบนัสเฉลี่ยของเราเองก็ยังต่ำกว่าทั่วๆ ที่เขาให้กัน ผลแบบนี้ต้องระวังให้ดีนะครับ แปลว่าเราอาจจะเกิดอาการสมองไหลได้ครับ เพราะแปลความได้ง่ายๆ ว่า เราจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าตลาดแน่นอน
สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อก็คือ วางแนวทางในการปรับปรุงระบบการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนให้สามารถแข่งขันได้กับตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ระบบค่าจ้างของบริษัทเราสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีฝีมือไว้ได้นั่นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น