วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้พนักงานยังคงอยากอยู่ทำงานกับองค์กร



เมื่อวานนี้ได้เขียนถึงงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของพนักงานที่ต้องการลาออกจากองค์กร ว่ามองอะไรเป็นปัจจัยหลักบ้าง วันนี้จะมาเขียนต่อในงานวิจัยเดียวกัน แต่มองในอีกมุมมองหนึ่ง ก็คือ เป็นมุมมองของพนักงานที่รักและต้องการทำงานกับองค์กรต่อไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกกว่า พนักงานที่มี Engagement ต่อองค์กรสูงๆ นั้น เขามองปัจจัยอะไรกันบ้าง
งานวิจัยนี้ตั้งคำถามกับพนักงานที่ทำงานในองค์กรว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้พนักงานยังคงอยู่ทำงานกับองค์กรต่อไป ซึ่งก็ประกอบไปด้วย 6 ปัจจัยเดียวกับเมื่อวานนี้ ดังนี้ เพียงแต่ลำดับความสำคัญแตกต่างกันเมื่อเทียบกับพนักงานที่ต้องการจะลาออกจากองค์กร
  • Total Compensation (ค่าตอบแทนรวม)
  • Base Pay (เงินเดือนมูลฐาน)
  • People they work with (เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน)
  • Type of work they do (ลักษณะงานที่ทำ)
  • Career opportunities (โอกาสความก้าวหน้าทางสายอาชีพ)
  • Learning and training opportunity (โอกาสในการเรียนรู้และฝึกอบรม)
พนักงานที่ยังคงอยากอยู่ทำงานกับองค์กรนั้น มองอะไรกันบ้าง ลองมาดูกันครับ
  • อันดับ 1: Type of work they do (ลักษณะงานที่ทำ) 93% ของพนักงานที่มีความผูกพันกับองค์กร ตอบเหมือนกันว่า ลักษณะงานที่ทำ เป็นตัวดึงดูดให้เขาอยากอยู่ทำงานต่อ เนื่องจากงานที่ทำนั้นมีความท้าทาย ไม่น่าเบื่อ รวมทั้งตรงกับความชอบของตนเอง
  • อันดับ 2: People they work with (เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน) 90% ของพนักงานที่ยังคงอยู่ทำงานกับองค์กรตอบว่า ที่รักจะอยู่ก็มาจาก มีเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้างานที่ดี อยู่แล้วรู้สึกอบอุ่น รวมทั้งได้รับการยอมรับจากทั้งเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้างานของตนเอง
  • อันดับ 3: Total Compensation (ค่าตอบแทนรวม) 77% มองว่าเรื่องของอัตราค่าตอบแทนรวมนั้นทำให้เขายังคงอยู่ทำงานกับองค์กร ซึ่งก็คือ เงินเดือนบวกเงินได้อื่น และเรื่องของสวัสดิการที่เหมาะสม และเป็นธรรม
  • อันดับ 4: Base Pay (เงินเดือนมูลฐาน) 71% มองเรื่องของอัตราเงินเดือนที่ได้รับว่าเป็นส่วนที่ทำให้เขายังคงอยู่ทำงานกับบริษัทต่อไป ทั้งนี้ก็ต้องมีอัตราเงินเดือนที่แข่งขันได้ และเป็นธรรม เมื่อเทียบกับหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับ
  • อันดับ 5: Learning and training opportunity (โอกาสในการเรียนรู้และฝึกอบรม) 69% บอกว่าอยู่เพราะเรื่องของการได้มีโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และโอกาสในการฝึกอบรม เพราะทำให้ตนเองรู้สึกมีคุณค่าในการทำงานมากขึ้น
  • อันดับ 6: Career opportunities (โอกาสความก้าวหน้าทางสายอาชีพ) 65% ตอบว่า อยู่ก็เนื่องจากการทำงานในบริษัทมีโอกาสเติบโตตามสายอาชีพของตนเอง มีความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน
เมื่อสังเกตจากคำตอบของทั้งสองมุมมอง คือ คนที่อยากลาออก กับคนที่อยากทำงานต่อ นั้น 2 อันดับแรกของทั้ง 2 กลุ่ม คือเรื่องเดียวกันเลยครับ ก็คือ ลักษณะงานที่ทำ และ เพื่อนร่วมงานกับหัวหน้างาน แสดงว่า ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ถ้าทำดีๆ จะทำให้พนักงานไม่อยากลาออกไปไหน และยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้พนักงานที่ได้ทำงานกับองค์กรแล้วรู้สึกอยากที่จะอยู่ทำงานต่อไปครับ

ดังนั้นถ้าบริษัทของท่านต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องของอัตราการลาออกของพนักงานที่สูงมากๆ 2 ปัจจัยที่กล่าวนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องรีบดำเนินการก่อนเลยครับ แต่ในทางปฏิบัตินั้น องค์กรส่วนใหญ่มักจะไปแก้ไขที่ระบบการจ่ายค่าตอบแทน และคิดเอาเองว่า เมื่อระบบค่าตอบแทนดีขึ้นแล้วพนักงานจะไม่ลาออกไปไหน ซึ่งในมุมมองของพนักงานนั้นเรื่องของค่าตอบแทนไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ เลยครับ

ถามว่าสำคัญหรือไม่ คำตอบก็คือสำคัญครับ แต่ถ้าเรามีระบบค่าตอบแทนที่ดีมาก จ่ายสูงจริงๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่งานที่ทำน่าเบื่อ ไม่ท้าทาย รวมทั้งเพื่อนร่วมงานก็แย่ ชอบแทงข้างหลัง หัวหน้างานก็ไม่ได้เรื่อง ไม่ค่อยใส่ใจพนักงาน ผมคิดว่า เราก็ยังคงรักษาพนักงานไว้ไม่ได้อยู่ดี ทั้งๆ ที่องค์กรเราจ่ายสูงมาก

การแก้ไขปัญหาอัตราการลาออกที่ดีจึงต้องทำเป็นระบบเลยครับ ไม่ควรเน้นไปที่เรื่องค่าจ้างหรือค่าตอบแทนเป็นอันดับหนึ่ง แต่ควรจะหาสาเหตุที่แท้จริง และดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มต้นจากคนที่เป็นหัวหน้าในทุกระดับจะต้องมีทักษะในการบริหารจัดการคนอย่างดี ส่วนเรื่องค่าตอบแทน ก็ทำให้ระบบมีความเป็นธรรมมากขึ้น

เรื่องค่าตอบแทนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็เป็นการบริหารในระยะสั้นๆ ถ้าเราต้องการให้พนักงานอยู่กับเรายาวๆ เราก็ต้องหันไปพัฒนาปัจจัยในด้านของความรู้สึกอยากทำงานของพนักงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน และที่สำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้างาน ให้ดีขึ้น  

แล้วอัตราการลาออกก็จะลดลงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น