ผมได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการประเมินผลงานมาพอสมควร เวลาเขียนถึงเรื่องนี้ทีไร ก็มักจะมีคำถามมาจากท่านผู้อ่านว่า ถ้าผลงานพนักงานออกมาแย่มาก องค์กรควรจะทำอย่างไรดีกับพนักงานคนนั้น
สิ่งที่องค์กรไทยๆ ส่วนใหญ่ทำกันก็คือ ปล่อยให้พนักงานคนนั้นทำงานต่อไปเรื่อยๆ ที่สำคัญก็คือ ไม่เคยบอกพนักงานคนนั้นเลยว่า ผลงานที่ออกมานั้นไม่ดีอย่างไร และจะต้องปรับปรุงอย่างไร พอไม่มีใครมาพูด หรือมาแจ้งผลงานของตนเอง พนักงานคนนั้นก็คิดว่าผลงานของเขาอยู่ในเกณฑ์ดีแน่นอน เพราะหัวหน้าไม่ได้พูดอะไรที่ไม่ดี และไม่ได้แจ้งผลงานอะไรให้เขาทราบ พอเป็นแบบนี้พนักงานก็จะทำงานแบบเดิม ก็คือแบบที่หัวหน้ารู้สึกว่าแย่ ไปเรื่อยๆ แล้วหัวหน้าก็จะมานั่งบ่นทุกวัน วันแล้ววันเล่า ว่าลูกน้องผลงานไม่ดีเลย ไม่รู้จะทำอย่างไรดี
บางองค์กรที่โหดหน่อย ก็จะใช้มาตรการให้ออกกันเลยครับ ใครที่ผลงานออกมาไม่เข้าตา หรือเห็นแล้วว่าไม่ดีจริงๆ สิ่งที่องค์กรวางนโยบายไว้ก็คือ ให้พนักงานคนนั้นออกจากการเป็นพนักงานของบริษัท โดยยินดีจ่ายค่าชดเชยทุกอย่างตามกฎหมาย บางแห่งก็ให้มากกว่าด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาไม่อยากให้คนแบบนี้อยู่ทำงานต่อ เพราะจะทำให้คนอื่นแย่ไปด้วย และพนักงานคนอื่นจะมองว่าองค์กรยังคงรักษาพนักงานที่ผลงานไม่ดีไว้ พนักงานที่ทำดีก็จะรู้สึกไม่เป็นธรรม และจะเริ่มไม่อยากทำดีอีกต่อไป
คำถามก็คือ พนักงานแบบไหนกันแน่ที่องค์กรไม่ควรจะรักษาไว้ มีกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า Hire slow, fire fast ซึ่งแปลว่า เวลาจะสรรหาคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานนั้นให้ดูให้ดี ดูนานๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่จะให้พนักงานออกเนื่องจากผลงานไม่ดีนั้น ให้เอาออกให้เร็วที่สุด อย่ายึกยักไปมา เพราะจะทำให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย แล้วพนักงานแบบไหนบ้างที่องค์กรควรจะเอาออกอย่างเร็วที่สุด ลองมาดูกันครับ
- พนักงานที่ปล่อยเกียร์ว่าง เราจ้างพนักงานมาทำงาน โดยให้ค่าจ้าง แค่พนักงานรับค่าจ้างแล้วปล่อยเกียร์ว่าง กล่าวคือ ไม่แสดงความอยากทำงานเลย แถมยังไม่มีใจที่อยากจะทำงานอีกด้วย พนักงานแบบนี้พฤติกรรมที่แสดงออกอย่างชัดเจนก็คือ เวลามอบหมายงานอะไรไป ก็มักจะไม่ทำ ค้านหัวชนฝา อ้างว่างานเยอะอยู่แล้ว ชักสีหน้ารำคาญ รวมทั้ง แสดงสีหน้าให้เราเห็นว่าเบื่อสุดๆ พนักงานลักษณะนี้ผลงานจะไม่ออกมาให้เราเห็นเลยครับ ทั้งผลงานและพฤติกรรมไม่มีอะไรให้เราเห็นว่าคุ้มค่ากับค่าจ้างที่เราให้ไป แบบนี้ให้เอาออกให้เร็วที่สุดเลยครับ
- พนักงานที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับการทำงานในบริษัท พนักงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทำงานโดยที่มีพฤติกรรมบางอย่างไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมหลักขององค์กร เช่น องค์กรเน้นเรื่องการให้บริการเป็นเลิศ แต่พนักงานกลับไม่เคยมีจิตใจที่รักงานบริการเลย หรือ องค์กรเน้นเรื่องของการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว แต่พนักงานกลับทำตัวต่อต้านการเปลี่ยนแปลงซะเอง หรืออาจจะมีพฤติกรรมที่เฉื่อยชา เช้าชามเย็นชาม ทำงานเรื่อยๆ แบบนี้ก็จะไม่สอดคล้องกับองค์กรที่ขับเคลื่อนผลงานด้วยความรวดเร็ว และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นต้นครับ
- พนักงานที่ทำงานมานานมาก แต่ผลงานไม่ออกเลย เคยเจอพนักงานแบบนี้มั้ยครับ ไม่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมในการทำงาน อยู่ในองค์กรได้อย่างดี แถมอยู่มานานด้วยครับ แต่ไม่เคยเห็นผลงานอะไรเลย บางครั้งผลงานที่ออกมาก็มีแต่ความผิดพลาด หัวหน้าจะต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลา พนักงานในลักษณะนี้จะเห็นในองค์กรแบบไทยๆ มากหน่อยครับ ก็คือ พฤติกรรมไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอะไร แต่ผลงานไม่ดี คนไทยใจดี ก็ปล่อยให้อยู่ไปเรื่อยๆ เขาก็อยู่ของเขาไป และหัวหน้าก็เริ่มไม่ใช้งาน หรือใช้งานแต่งานที่ไม่มีความสำคัญอะไร
ซึ่งหารู้ไม่ว่า ผลร้ายมีมากกว่าผลดีนะครับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ถ้าเรารักษาพนักงานกลุ่มนี้ไว้อย่างดี
- พนักงานกลุ่มนี้จะกลายเป็นเนื้อร้าย ที่ค่อยๆ แทรกซึม และแพร่เชื้อพฤติกรรมที่ไม่ดีให้กับพนักงานคนอื่นๆ ต่อไป เพราะเขาสามารถคุยได้เลยว่า ที่เขาทำแบบนี้องค์กรไม่เห็นมีมาตรการอะไรเลย แถมยังรักษาเขาไว้อย่างดีอีกด้วย ดังนั้นพวกเราไม่ต้องทำดีอะไรมากมายหรอก ทำแค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว
- คนเก่งจะค่อยๆ ทยอยออกจากบริษัทไป บางองค์กรเพิ่งมาค้นพบสาเหตุว่า ที่คนเก่งๆ ออกจากบริษัทไปนั้น หรือคนที่เราฝึกมาอย่างดีแล้วออกจากบริษัทไปโตที่อื่นนั้น ก็มีสาเหตุมาจากการที่เรารักษาคนไม่เหมาะสมไว้ในบริษัทที่แหละครับ พนักงานที่เก่ง จะรู้สึกได้ว่า องค์กรไม่ได้บริหารโดยเน้นไปที่ผลงาน แต่เน้นไปที่อะไรก็ไม่รู้ ซึ่งจะทำให้คนเก่งรู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะขนาดคนที่ไม่ทำงานองค์กรยังรักษาไว้ขนาดนี้เลย
- พนักงานจะเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็คือ เริ่มใสเกียร์ว่างกันมากขึ้น และผลงานขององค์กรก็จะไม่ออก องค์กรโตช้าลง หัวหน้างาน หรือผู้จัดการเหนื่อยมากขึ้น เพราะต้องลงมือทำงานเอง เนื่องจากลูกน้องไม่ทำ หรือไม่ไว้ใจให้ลูกน้องทำ
ผมไม่ได้แนะนำให้เราบริหารงานแบบโหดร้าย ไร้ความปราณีนะครับ ถ้าเราคิดว่าจะรักษาพนักงานกลุ่มนี้ไว้ให้ทำงานต่อไป แปลว่าองค์กรจะต้องมีมาตรการในการพัฒนาพนักงานกลุ่มนี้อย่างเข้มข้น ให้สร้างผลงานที่ดีขึ้น และจะต้องวางระบบการให้รางวัลที่ตอบแทนผลงานกันอย่างถึงพริงถึงขิงกันเลย เพราะสองระบบนี้จะทำให้พนักงานที่มีผลงานไม่ดี รู้ตัวเอง และน่าจะช่วยให้เขาพยายามพัฒนาตัวเองได้ เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น
จะว่าไปผมก็เคยลองมาแล้วนะครับ พัฒนาคนที่ไม่เหมาะกับองค์กรนี่แหละครับ สุดท้ายก็ไปกันไม่รอดครับ เพราะเขาไม่ใช่สำหรับองค์กรเราจริงๆ พอเราให้เขาออกไป กลับกลายเป็นว่า เขาไปได้ดีที่อื่นเลยครับ ปัจจุบันพนักงานคนนี้เป็นถึงผู้บริหารใหญ่โตของบริษัทอื่นไปแล้ว แต่ถ้าเขายังอยู่กับบริษัทผมก็คงยังเกียร์ว่างอยู่ตลอด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น