วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ผลการสำรวจค่าจ้าง 2555: อัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษา ตอนที่ 2


เมื่อวานได้เขียนถึงผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนในเรื่องของอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษา โดยได้แสดงให้เห็นถึงอัตราแรกจ้างของวุฒิการศึกษาระดับปวช. และปวส. กันไปแล้ว วันนี้จะมาต่อเรื่องของอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาของระดับปริญญาตรีกันบ้าง ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจากปีที่ผ่านมาบ้างนะครับ อัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้น มีการขยับขึ้นมาด้วยสาเหตุ 2 ประการคือ
  • ขยับขึ้นมาจากผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งทำให้ต่อเดือนขั้นต่ำสุดที่ต้องจ่ายก็คือ 9,000 บาท ซึ่งก่อนการปรับค่าจ้าง 300 บาทนั้น บางบริษัทยังมีการจ้างพนักงานวุฒิปริญญาตรีจบใหม่ที่ประมาณ 9,000 – 10,000 บาทกันอยู่เลย แต่พอปรับเป็น 300 บาทต่อวันแล้ว ก็เลยเกิดผลกระทบต่อกันเป็นระลอก
  • ขยับขึ้นเนื่องจากการประกาศของภาครัฐ ที่ประกาศว่า อัตราเริ่มจ้างของผู้ที่จบวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีจะต้องเป็น 15,000 บาท ซึ่งอัตรานี้ไม่ได้บังคับใช้กับภาคเอกชนนะครับ ย้ำอีกครั้งหนึ่งนะครับว่า ไม่มีการบังคับใช้ 15,000 บาทกับภาคธุรกิจเอกชนนะครับ เพียงแต่การประกาศแบบนี้ของภาครัฐนั้นทำให้ภาคเอกชนบางแห่งจำเป็นที่จะต้องปรับอัตราแรกจ้างระดับปริญญาตรีใหม่ให้เท่ากับ 15,000 หรือสูงกว่าไปด้วย เพราะเนื่องจากหาพนักงานใหม่กันไม่ได้เลย เพราะเด็กจบใหม่ที่มาสมัครงานต่างก็ขอเงินเดือนกันที่ 15,000 กันหมด แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้เริ่มมีเด็กจบใหม่รับทราบกันแล้วว่า ตัวเลขนี้ใช้เฉพาะกับราชการเท่านั้น เอกชนไม่ได้บังคับ
อย่างไรก็ดีจาก 2 สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นก็เลยทำให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราแรกจ้างของระดับปริญญาตรีกันในหลายๆ บริษัทในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมานี้ ซึ่งผลจากการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการของทาง PMAT ในปี 2555 นี้จากตลาดรวมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการสำรวจประมาณ 200 บริษัท และเป็นอัตราแรกจ้างในกลุ่มกลางๆ ของตลาด (Percentile 50) ก็ได้ผลตามตารางข้างล่างครับ

วุฒิการศึกษา
สาขาวิชา
2554
2555
ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์
15,000
18,000
วิทยาศาสตร์
13,000
15,000
คอมพิวเตอร์
12,750
15,000
บริหารธุรกิจ
11,000
13,000
บัญชี
12,000
14,000
สังคมศาสตร์
10,500
13,000

จะสังเกตเห็นว่าตัวเลขอัตราแรกจ้างระดับปริญญาตรี ของทุกวุฒิการศึกษานั้น ขยับขึ้นหมด ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ปรับขึ้นก็อยู่ที่ประมาณ 17%โดยเฉลี่ย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ขยับขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอัตราแรกจ้างในปีที่ผ่านมา

ผลการสำรวจค่าจ้างออกมาเป็นตัวเลขแบบนี้ เวลาที่จะนำเอาไปใช้ในการกำหนดอัตราแรกจ้างของบริษัทเราเองก็คงต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยนะครับว่า คนของเราที่เราต้องการนั้น เราแข่งขันในการจ้างคนกับองค์กรแบบใด และเขาจ่ายอยู่เท่าไหร่ ถ้าเราต้องแข่งกับราชการ เราก็คงจะกำหนดต่ำกว่า 15,000 บาทไม่ได้ เพราะจะไม่มีใครอยากมาทำงานกับเรา

หรือถ้าองค์กรของเราเคยจ่ายอัตราแรกจ้างที่สูงอยู่แล้ว อัตราที่สำรวจมานั้นยังต่ำกว่าที่เราให้ ก็ไม่ต้องตกใจครับ เราอาศัยตัวเลข% ที่ขยับขึ้นเป็นตัวช่วยในการกำหนดอัตราแรกจ้างก็ได้ครับ เช่น ถ้าเราเคยจ้างวิศวกรในปี 2554 อยู่ที่ 18,000 บาท (ซึ่งสูงกว่าตลาดที่ 15,000 บาท) ปีนี้ตลาดบอกว่าเป็น 18,000 บาท ถ้าเราไม่ขยับเลย ก็ไม่จะไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะเราเองเคยเหนือกว่าตลาดอยู่ในอดีต ดังนั้นเราก็อาจจะใช้ตัวเลข 20% ที่ขยับขึ้นของอัตราแรกจ้างวิศวกรเป็นตัวคำนวณก็ได้ครับ ในกรณีนี้เราก็อาจจะกำหนดอัตราแรกจ้างจาก 18,000 เป็น 21,500 บาทนั่นเองครับ

 ในยุคปัจจุบันนี้ มีคนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีเยอะมาก ซึ่งทำให้อัตราแรกจ้างของวุฒิการศึกษานี้มีความหลากหลายมากขึ้น บางองค์กรตั้งเป้าหมายว่าจะต้องได้คนที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐเท่านั้น ก็กำหนดอัตราที่สูงกว่า องค์กรที่กำหนดว่าไม่ต้องถึงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำก็ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วคงอยู่ที่เป้าหมายของพนักงานที่เราต้องการว่าเราต้องการคนแบบไหนที่เข้ามาทำงาน และเราแข่งการจ้างคนแบบนั้นกับองค์กรใดบ้าง และต้องดูต่อว่าองค์กรเหล่านั้นเขามีการกำหนดอัตราแรกจ้างกันไว้เท่าไหร่ เราเองก็คงต้องกำหนดให้สามารถแข่งขันได้

 เพื่อสุดท้ายแล้วจะได้สามารถดึงดูด และรักษาพนักงานที่มีฝืมือให้ทำงานกับบริษัทนั่นเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น