วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แนวทางการแก้ไขปัญหาการประเมินผลงาน ตอนที่ 3



และแล้วก็มาถึงตอนที่ 3 ของแนวทางในการแก้ไขปัญหาการประเมินผลงานขององค์กร ซึ่งตอนแรกผมได้พูดถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการวางระบบการประเมินผลงานให้ชัดเจน โดยเน้นไปที่ตัวระบบก่อน จากนั้นก็มาเน้นที่คนประเมิน ก็คือหัวหน้างานในทุกระดับจะต้องเข้าใจในระบบการประเมินผลงานของบริษัทอย่างถ่องแท้ และสามารถประเมินผลงานพนักงานได้โดยใช้มาตรฐานและระบบเดียวกันที่กำหนดไว้

วันนี้ก็จะพูดถึงเรื่องสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาการประเมินผลงาน ก็คือ เรื่องของการพัฒนาผู้ถูกประเมินนั่นเอง
แปลกแต่จริงที่ว่า ปกติองค์กรใดที่ต้องการพัฒนาและปรับปรุงระบบการประเมินผลงานของตนเอง ก็มักจะเน้นไปที่การวางระบบประเมินผลงานใหม่ การแก้ไขแบบฟอร์มใหม่ รวมทั้ง การฝึกอบรมหัวหน้างานให้สามารถประเมินผลงานได้ แต่องค์กรส่วนใหญ่จะลืมคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จของระบบการประเมินผลงานเช่นกัน คนกลุ่มนั้นก็คือ “พนักงานทุกคนในองค์กร” ที่เป็นกลุ่มผู้ถูกประเมินนั่นเองครับ
  • ผู้ถูกประเมินจะต้องได้รับการเรียนรู้ถึงระบบประเมินผลงานที่องค์กรวางไว้ โดยการเรียนรู้ระบบการประเมินผลงานนั้นจะต้องเรียนรู้เหมือนกับที่หัวหน้าได้เรียนรู้ไปเช่นกัน จะต้องเข้าใจถึงปัจจัยในการประเมิน ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ผลงาน และพฤติกรรม และมีรายละเอียดอะไรบ้าง แบบฟอร์มในการประเมินผลงานหน้าตาเป็นอย่างไร และภาพรวมของการประเมินผลงานนั้นเอาไปใช้ทำอะไร เพื่ออะไร ฯลฯ เพื่อให้คนถูกประเมินได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการประเมินผลงานอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือ การนำไปใช้ในการพัฒนาผลงานของพนักงานเองให้ดีขึ้นในระยะยาว
  • ผู้ถูกประเมินจะต้องเข้าใจเกณฑ์การให้คะแนนเหมือนกับที่ผู้ประเมินเข้าใจ ก็คือ ต้องเข้าใจว่า ถ้าทำงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว คะแนนที่จะได้ก็คือ 3 จาก 5 นะ ไม่ใช่ได้ 5 เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะต้องให้ทั้งสองฝ่ายมองไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในการประเมินผลงาน
  • ผู้ถูกประเมินจะต้องรับทราบความคาดหวังของหัวหน้า หรือขององค์กร ประเด็นนี้มีปัญหามากในหลายองค์กร กล่าวคือ พนักงานส่วนใหญ่เข้ามาทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าหัวหน้างานของตนเองนั้นคาดหวังผลงานอะไรกับตนบ้าง ไม่เคยพูดหรือบอกกับพนักงานเลยว่า ผลงานที่อยากได้เป็นอย่างไร และจะชี้วัดกันที่ตรงไหน รวมทั้งไม่เคยบอกถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่คาดหวังว่าเป็นอย่างไร แม้กระทั่งเวลาทำงานกันไปแล้ว ผลงานออกมาไม่ค่อยจะดีนัก หัวหน้าเองก็ไม่เคยคิดที่จะบอกให้พนักงานทราบเลย มีแต่เก็บเงียบ และเอาไปบ่นกับคนอื่นมากกว่าที่จะเรียกลูกน้องมาคุยและแก้ไขกันไป สุดท้ายพนักงานเองก็มองไม่เห็นและไม่รู้ว่าเป้าหมายของการทำงานของตนคืออะไร พอหัวหน้าประเมินออกมาว่าผลงานดี หรือไม่ดี ก็เลยมีปัญหาตามมากันอีก ว่าไม่ตรงกับที่ตัวพนักงานคาดหวังไว้เลย
ดังนั้นแนวทางที่ดี และที่ควรทำสำหรับผู้ถูกประเมินก็คือ
  • เล่าให้ฟังถึงระบบกาประเมินผลงานของบริษัท ตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน โดยอธิบายถึงปัจจัยผลงาน และพฤติกรรมที่คาดหวัง รวมทั้งเอาแบบฟอร์มในการประเมินผลงานให้ดูกันเลยครับ เพื่อให้พนักงานเข้าใจระบบการประเมินผลงานในภาพรวมในวันแรกที่เข้าทำงานกันเลย ที่ต้องเขียนแบบนี้ก็เนื่องจาก เราจ้างพนักงานเข้ามาทำงาน จ่ายเงินเดือนให้เขา เขาก็ต้องรู้สิครับว่า เงินเดือนที่ให้ไปนั้น บริษัทต้องการผลงานอะไรเป็นการตอบแทนบ้าง
  • บอกถึงความคาดหวังที่ต้องการจากพนักงาน หลังจากที่ได้รับทราบระบบประเมินผลงานแล้ว ตัวพนักงานเองจะต้องรับทราบถึงผลงานที่บริษัทคาดหวัง โดยหัวหน้างานจะต้องเป็นคนบอกให้พนักงานทราบอย่างชัดเจนว่า ผลงานที่ต้องการจากพนักงานนั้น คืออะไร เป็นอย่างไร และแบบไหนที่เรียกว่าผลงานดี แบบไหนที่เรียกว่าผลงานไม่ดี รวมทั้งด้านพฤติกรรมก็เช่นกัน จะต้องบอกว่าคาดหวังอะไรในแต่ละมุมมองของพฤติกรรม พนักงานจะได้ทำผลงานได้ถูกต้อง และเป็นไปตามที่องค์กรต้องการด้วย เวลาประเมินผลงานก็ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องคิดกันไปเองระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง
  • ชี้แจงระบบและแนวทางในการประเมินผลงานให้ทราบทุกปี เรื่องนี้หลายคนอาจจะถามว่าทำเป็นด้วยหรือ บอกครั้งเดียวก็พอแล้วมั้ง ไม่เห็นจำเป็นต้องบอกทุกๆ ปีเลย แต่ในความเห็นของผมก็คือ จำเป็นอย่างมากเลยครับ เพราะเราประเมินผลงานกันปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น พนักงานก็อาจจะจำไม่ได้ว่าระบบคืออะไร และเป็นอย่างไร ดังนั้นช่วงต้นปีก็อาจจะมาเล่าให้ฟังกันหน่อย รวมทั้งช่วยก่อนประเมินผลงานก็อาจจะต้องมาเล่าให้ฟังกันอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันนั่นเองครับ
นี่คือแนวทางที่ 3 สำหรับการแก้ไขปัญหาการประเมินผลงานขององค์กร ซึ่งในวันพรุ่งนี้ผมจะเสนอตอนจบว่าเมื่อทั้ง 3 ส่วนเห็นภาพเดียวกันทั้งหมดแล้ว เราจะต้องสร้างกระบวนการในการบริหารผลงานขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่หยุดอยู่แค่เพียงการประเมินผลงานเป็นครั้งคราวเท่านั้น ระบบนี้จะต้องนำไปผูกกับระบบผลงานขององค์กรด้วย เพื่อให้ผลงานของพนักงานมีผลต่อผลงานขององค์กรด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อผูกกันได้ตรงๆ แบบนี้ ก็จะง่ายในการผูกเรื่องผลงานกับรางวัลตอบแทนอีกด้วยเช่นกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น