วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เทคนิคการสัมภาษณ์ผู้สมัครตามแนวทางของ Google (ตอนที่ 1)


คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า Google เป็นบริษัทระดับโลกที่มีผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และมีแนวโน้มว่า จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคตข้างหน้าอีกด้วยซ้ำไป อีกทั้งผลจากการจัดอันดับของ Fortune Magazine ในเรื่องของบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด Google เองก็อยู่ในอันดับ 1 ติดต่อกันหลายปี


สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Google เป็นบริษัทชั้นนำได้ และยังคงรักษาความเป็นอันดับหนึ่งในโลกได้นั้น จริงๆ มีอยู่หลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย ก็คือ เรื่องของทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเหมาะสมกับบริษัทอย่างมาก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Google มีทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพมากๆ ก็คือ ระบบการสรรหาคัดเลือกคนเข้าทำงานของบริษัทนี้ จะค่อนข้างเอาจริงเอาจังมากๆ ไม่ปล่อยให้เข้ามาทำงานได้ง่ายๆ มีวิธีในการสรรหาและคัดเลือกคนที่มีประสิทธิภาพมากๆ โดยเฉพาะเรื่องของการสัมภาษณ์พนักงานที่มาสมัครงาน วันนี้ก็เลยสรุปเอาเทคนิคในการสัมภาษณ์ผู้สมัครงานที่ Google เขาใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกพนักงานมาแชร์ให้อ่านกันครับ เผื่อจะนำไปใช้กับองค์กรของเราได้บ้าง
  • มีการเตรียมตัวสัมภาษณ์ล่วงหน้า ที่ Google นั้น จะมีการศึกษาผู้สมัครที่น่าสนใจแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง จะมีการสืบเสาะหาประวัติการทำงานกันก่อน อีกทั้งเวลาจะสัมภาษณ์ก็จะมีการเตรียมตัวตั้งคำถามกันล่วงหน้า ให้สอดคล้องกับพนักงาน และตำแหน่งงานที่เรากำลังจะรับเข้ามา จะไม่เหมือนองค์กรแบบบ้านเรา ที่เวลาสัมภาษณ์ ก็ดูจากรูปถ่าย และประวัติที่ผู้สมัครเขียนมา อีกทั้งยังไม่เคยเตรียมการสัมภาษณ์ล่วงหน้ากันเลย เข้าห้องสัมภาษณ์ก็ยิงคำถามกันสดๆ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการคัดเลือกคนน้อยลงไปมาก เมื่อเทียบกับการที่มีการเตรียมตัวกันล่วงหน้า
  • ค้นหาข้อจำกัดในความสามารถของพนักงานให้เจอ โดย ปกติแล้วผู้สมัครจะพยายามแสดงให้เราเห็นว่าเขามีความสามารถ และมีประสบการณ์มามาก เพื่อให้เราสนใจ สิ่งที่ผู้บริหาร Google ใช้เวลาสัมภาษณ์ก็คือ การตั้งคำถามที่มีความท้าทายมากๆ มีความซับซ้อนมากๆ และอาจจะมีความยากมากในการที่จะต้องคิดหาคำตอบ เพื่อให้ผู้สมัครต้องใช้ความคิดมากกว่าปกติ ในการหาคำตอบ แล้วเราก็จะพิจารณาจากกระบวนการคิดของเขา โดยที่คำตอบนั้นผู้สัมภาษณ์จะไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิด แต่จะสนใจที่กระบวนการคิดของผู้สมัครมากกว่า
  • ถามผู้สมัครถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ การ ถามด้วยคำถามที่ว่า เคยผ่านงานอะไรมาบ้าง หรือ มีประสบการณ์ในการทำงานอะไรมาบ้าง นั้น เป็นคำถามที่ผู้ตอบมักจะตอบเพื่อแสดงถึงสิ่งที่เขาเคยทำมาในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ผู้สมัครเตรียมตัวมาได้อยู่แล้ว แต่เราเองจะไม่ได้อะไรเลย เพราะใน Resume ก็มีเขียนไว้แล้ว ทำไมต้องเสียเวลาให้เขาเล่าให้เราฟังอีกรอบทั้งๆ ที่เราก็อ่านเจอไปแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหาร Google มักจะถาม ก็จะเป็นในประเด็นว่า จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานแบบนั้นมานั้น ได้เรียนรู้อะไรมาบ้างจากการทำงานแบบนั้น อะไรที่ดี อะไรที่ไม่ดี ซึ่งเป็นการถามเพื่อพิจารณากระบวนการคิดวิเคราะห์ได้ดีอีกคำถามหนึ่ง เราเองก็จะได้แง่มุม ได้มองเห็นทัศนคติของผู้สมัครแต่ละคนอย่างชัดเจนขึ้นอีกด้วยเช่นกัน
  • ใช้คำถามที่เป็นสถานการณ์สมมุติ สิ่ง ที่ Google ชอบใช้ในการสัมภาษณ์ก็คือ คำถามที่เป็นสถานการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นสถานการณ์แบบสมมุติขึ้นมา หรืออาจจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในองค์กร แต่เอามาดัดแปลงใหม่ เพื่อใช้เป็นคำถาม การถามคำถามแบบนี้ จะช่วยทำให้เรามองเห็นวิธีคิด และวิธีการตัดสินใจของผู้สมัครแต่ละคนได้อย่างดี แล้วเราก็จะเห็นว่า ผู้สมัครบางคน ก็ตอบโดยอาศัยการไปลอกเอาทฤษฎีบางอย่างมาตอบ ซึ่งเราสามารถที่จะบอกได้เลยว่า ผู้สมัครคนไหนเป็นแบบทั่วๆ ไป และผู้สมัครคนไหนที่มีความคิดที่ดีเป็นพิเศษ เราสามารถที่จะใช้คำถามเดียวกันนี้กับผู้สมัครแต่ละคน เพื่อที่จะนำมาเปรียบเทียบคำตอบกันได้ ก็จะช่วยให้เราคัดเลือกพนักงานที่มีความเหมาะสมกับบริษัทได้ดีขึ้น
  • ใช้ปัญหาเชาว์ สิ่ง ที่ Google ชอบมากในการสัมภาษณ์ผู้สมัครก็คือ การถามผู้สมัครด้วยปัญหาเชาว์ และปัญหาฝึกสมอง เพื่อที่จะดูความเร็วในการคิด วิเคราะห์ และดูเรื่องของความเฉลียวฉลาดในมุมของความฉับไวในการคิดในแง่มุมต่างๆ
ในตอนที่ 1 นี้ จะสังเกตได้ว่า ผู้สัมภาษณ์ของ Google จะใช้เทคนิคในการตั้งคำถามที่มักจะต้องให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ต้องใช้ความคิด ซึ่งผู้บริหารเขาเน้นว่า เรื่องของความรู้ ทักษะนั้นเป็นเรื่องที่ฝึกฝนกันได้ แต่ในการทำงานที่ google นั้นพนักงานจะต้องคิดเป็น จะต้องเอาความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอดออกไปให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะงานที่นี่มักจะเป็นงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งบางเรื่องแทบจะไม่มีในตำราเรียนเลยด้วยซ้ำไป ดังนั้นก็เลยต้องการพนักงานที่คิดเป็น และมีแง่มุมในการคิดที่น่าสนใจ เพื่อมาต่อยอดเป้าหมายขององค์กรให้ไปไกลกว่าเดิม

พรุ่งนี้เราจะมาต่อในเรื่องของเทคนิคในการสัมภาษณ์ของ Google ในตอนที่สองกัน อย่าลืมติดตามกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น