ช่วงนี้ก็เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว เป็นช่วงของการประเมินผลงาน และเตรียมตัวของบประมาณสำหรับขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน มีผู้อ่านหลายท่านที่เขียนมาสอบถามว่า ถ้าจะเสนอเรื่องของอนุมัติงบประมาณการขึ้นเงินเดือนนั้น จะต้องเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อนำเสนอให้ผู้บริหารเห็นอย่างมีเหตุมีผล ผมก็เลยถือโอกาสเอาประเด็นนี้มาเขียนไว้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านพอได้ไอเดีย และเอาไปปรับใช้ในการเสนออนุมัติของงบประมาณการขึ้นเงินเดือนของบริษัทได้
ปกติเรื่องของการของบประมาณขึ้นเงินเดือนนั้น ส่วนใหญ่มักจะไปสนใจข้อมูลว่าตลาดทั่วไปเขาขึ้นกันเท่าไหร่ แล้วเราก็พยายามขึ้นให้ใกล้เคียงกับตลาด ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะเราพิจารณาไม่หมดทุกประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกัน
โดยหลักการแล้วข้อมูลที่ต้องมี เพื่อใช้ประกอบในการนำเสนอของบประมาณการขึ้นเงินเดือนมักจะมีข้อมูลดังต่อไปนี้
- อัตราการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยของตลาด ข้อมูลตัวแรกเป็นข้อมูลยอดฮิต ที่ทุกบริษัทอยากรู้มากๆ ก็คือ ข้อมูลที่ว่า แนวโน้มของตลาดจะขึ้นเงินเดือนกันเท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะมีบริษัทที่ปรึกษาที่เขาพยากรณ์ตัวเลขไว้ ก็เป็นข้อมูลที่เรามักจะหา และนำมาใช้นำเสนอ โดยปกติแล้วเราควรจะมีข้อมูลย้อนหลังสักนิดก็ยังดีนะครับ ในเรื่องของอัตราการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยของตลาดสัก 3-5 ปีย้อนหลังไป เพื่อที่จะได้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น ยิ่งถ้าเรามีตัวเลขย้อนหลังดีๆ เราจะมองเห็นว่า แนวโน้มตลาดปีหน้า น่าจะขึ้นเงินเดือนกันสักเท่าไหร่ดี แต่ข้อมูลเพียงแค่นี้ ยังไม่พอนะครับ เราจะต้องมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบด้วย ก็คือ
- อัตราค่าครองชีพ ข้อมูล อีกตัวหนึ่งซึ่ง HR มักจะต้องอ้างอิงเสมอ นอกจากแนวโน้มอัตราการขึ้นเงินเดือนของตลาด ก็คือ ข้อมูลอัตราค่าครองชีพของตลาดปัจจุบันว่าเป็นเท่าไหร่ ขยับสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเท่าไหร่ ตัวเลขตัวนี้เป็นตัวบอกเราว่า อัตราสินค้าในตลาดนั้นมีราคาสูงขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปกติแล้วตัวเลขนี้ก็มักจะนำมามีส่วนในการพิจารณาอัตราการขึ้นเงินเดือน ของบริษัทด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ถ้าอัตราค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ก็อาจจะมีผลต่อตัวเลขการขึ้นเงินเดือนประจำปีด้วยเช่นกัน
- สภาพเศรษฐกิจของประเทศ ตัว เลขอีกตัวหนึ่งที่หลายองค์กรนำมาใช้ประกอบ ก็คือ ตัวเลขที่บอกถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโดยมากก็จะใช้ตัวเลข GDP เป็นตัวอ้างอิงว่า เศรษฐกิจของประเทศเติบโตกันสักกี่เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้จะเป็นตัวบอกถึงแนวโน้มของบริษัทว่า พอที่จะมีเงินมาขึ้นเงินเดือนพนักงานหรือไม่ เช่นในปีนี้ (2557) มีหลายสำนักประเมิน GDP ของประเทศว่าอยู่แค่เพียง 5% เท่านั้น แปลว่า อัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานั้นเติบโตน้อยมาก ซึ่งแปลว่า องค์กรต่างๆ ก็เติบโตน้อยไม่มาก โตไม่มาก ก็แปลว่าผลประกอบการไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ ซึ่งก็อาจจะส่งผลต่องบประมาณการขึ้นเงินเดือนอีกเช่นกัน เพราะนี่คือความสามารถในการจ่ายของบริษัทนั่นเอง
- อัตราเงินเดือนของบริษัทเทียบกับตลาด ตัว เลขอีกตัวหนึ่ง ซึ่งหลายองค์กรไม่เคยนำมาใช้เลยก็คือ ตัวเลขที่บอกสภาพของการจ่ายเงินเดือนของบริษัทเราเองว่า อยู่ในระดับดับ เมื่อเทียบกับตลาด กล่าวคือ เมื่อเทียบกับตลาดที่เราแข่งขันด้วยแล้ว อัตราเงินเดือนของบริษัทเรานั้น อยู่ในระดับต่ำกว่า เท่ากับ หรือสูงกว่าตลาดกันแน่ เพื่อที่จะได้รู้สภาพการจ่ายของบริษัทเราเอง ซึ่งข้อมูลนี้ ถือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญมากอีกอันหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าที่ผ่านมาบริษัทเราจ่ายเงินเดือนต่ำกว่าตลาดมาโดยตลอด เมื่อเทียบกับตลาดแล้ว เราก็จะได้ประมาณการว่า ถ้าเราต้องการให้เงินเดือนของเราแข่งขันได้อย่างทัดเทียมกับตลาดมากขึ้น เราจะต้องปรับตัวเลขที่จะของบประมาณการขึ้นเงินเดือนเป็นสักเท่าไหร่ เช่น ถ้าเราคำนวณเปรียบเทียบกับตลาดแล้วพบว่า โดยเฉลี่ยบริษัทเราจ่ายต่ำกว่าตลาดอยู่ประมาณ 5% แล้วปีหน้าแนวโน้มตลาดประมาณการกันว่าจะขึ้นเงินเดือนประมาณ 5% แล้วถ้าเราต้องการให้เงินเดือนเราทัดเทียมกับตลาด เราอาจจะต้องของบประมาณอยู่ในช่วง 7-10% เพื่อทำให้เงินเดือนของเราวิ่งเข้าใกล้กับตลาดมากขึ้นนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น