วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Feedback อย่างไรให้พนักงานยอมรับได้

time feedback

เรื่องของการให้ Feedback ผลงานกับพนักงานเป็นเรื่องที่ในช่วงนี้มีคนพูดถึงบ่อยๆ อาจจะเป็นเพราะเริ่มที่จะเข้าใจเรื่องราวของการพัฒนาผลงานของพนักงานมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของระบบบริหารผลงานที่หลายๆ บริษัทเริ่มนำเอาระบบนี้มาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งระบบนี้ได้กล่าวถึงเรื่องของการให้ Feedback ผลงานของพนักงานว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะถ้าอยากจะให้ผลงานของพนักงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็ต้องมีการให้ Feedback ผลงานกันอย่างสม่ำเสมอ


แต่พอถึงเวลาเอาเรื่อง Feedback ไปใช้ในทางปฏิบัติ ก็เริ่มเกิดปัญหาตามมา ปัญหาที่เจอกันมากก็คือ ผู้จัดการที่จะต้องให้ Feed            back พนักงานก็จะมาบ่นให้ฟังว่า ไม่ค่อยชอบใจที่จะเรียกพนักงานมาคุยเรื่องแบบนี้เลย เพราะไม่อยากทำให้พนักงานคนนั้นรู้สึกไม่ดีในการทำงาน ในกรณีที่มีผลงานที่ไม่ดี ปัญหาที่ผู้จัดการบ่นกันเยอะก็คือ พนักงานบางคนให้ Feedback ไปแล้ว เขาก็ไม่ฟัง ไม่สนใจ และไม่ใส่ใจที่จะฟังและคิดตามในสิ่งที่เราบอกเขาไป

บอกให้ปรับปรุง อะไรก็ไม่สนใจ บอกว่านี่คือสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่สนใจเช่นกัน จนทำให้ผู้จัดการบางคนเริ่มท้อแท้และมองว่าระบบ Feedback นี้มันไม่ได้ผลอะไรเลย ไหนว่าดีนักดีหนา ท่านผู้อ่านล่ะครับคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ครับ

เคยดูรายการ The Voice บ้างมั้ยครับ เอาของประเทศไทยก็ได้

เคยเห็นเวลาที่โค้ชทั้ง 4 คน Feedback คนที่เข้ามาคัดเลือกหรือไม่ครับ สังเกตมั้ยครับว่า คนที่เข้าประกวดเขายินดีรับฟังอย่างมาก เปิดใจฟัง และยินดีที่จะเอาสิ่งที่ได้ไปทำการพัฒนาตนเองต่อ

คำถามก็คือ ทำไมเขาถึงยอมรับฟัง

เหตุผลมีดังนี้ครับ
  • ความเชื่อมั่น (Trust) คนที่เข้ามาคัดเลือกแต่ละคน เข้ามาในรายการนี้ก็เนื่องจากมีเป้าหมายเดียวกัน ก็คือต้องการแสดงความสามารถในการร้องเพลง ซึ่งคนที่เป็นโค้ช ก็ได้พิสูจน์จากผลงานของตนเองแล้วว่าเป็นคนที่มีผลงานที่ดี ยิ่งไปกว่านั้นในรายการปีที่ผ่านๆ มา เราก็ได้เห็นผลงานการโค้ชของคนเหล่านี้อย่างดี ก็เลยทำให้คนที่เข้าประกวดมีความเชื่อมั่นต่อโค้ชกลุ่มนี้ เวลาที่ได้ Feedback ก็ยินดีที่จะรับฟัง และน้อมรับเอาสิ่งที่โค้ชได้บอกมาพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เนื่องมากจากคำว่า Trust นั่นเอง
  • ต้องการให้ผลงานดีขึ้นจริงๆ คน ที่เป็นโค้ช ที่ให้ Feedback กับผู้แข่งขันนั้น เขาไม่ได้ต้องการอะไรเลย สิ่งที่เขาพยายามทำก็คือ ทำให้ผลงานของนักร้องคนนั้นดีขึ้นไปอีก หาจุดแข็ง และจุดที่ได้เปรียบคนอื่นมาเป็นจุดในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก คนที่ถูกโค้ชเอง ก็รับรู้ได้ว่า Feedback ที่ได้รับมาจากโค้ชนั้น มีแต่ความหวังดี และจริงใจ และเป็นข้อแนะนำที่จะทำให้ตนเองดีขึ้นไปอีก ดังนั้นก็เลยยิ่งอยากเปิดใจรับฟัง เพื่อให้ตนเองมีผลงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม
  • เน้นบรรยากาศเชิงบวก เวลา ที่โค้ชกลุ่มนี้ให้ Feedback เรามักจะเห็นว่าจะมีบรรยากาศในเชิงบวกอยู่เสมอ มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ และพยายามสร้างอารมณ์ขันให้เกิดขึ้นกับการให้ Feedback อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ทิ้งแก่นของมัน เมื่อคนรับ Feedback รู้สึกถึงความจริงใจ และรับรู้ถึงบรรยากาศในเชิงบวกแล้ว ก็ยิ่งทำให้เขาเปิดใจรับฟัง Feedback มากขึ้น
ลองมองย้อนกลับมา ในเรื่องของการให้ Feedback ของผู้จัดการกับลูกน้องของตนเอง จากประสบการณ์ของผมเองโดยตรง ถ้าข้อแรกไม่ผ่าน (Trust) การให้ Feedback ครั้งนั้นก็จะไม่ได้ผลอะไรเลย แม้ว่าเราจะเรียนเทคนิคการให้ Feedback มาอย่างดี รู้ว่าจะต้องพูดอะไร อย่างไร ใช้คำพูดแบบไหน ฯลฯ แต่ถ้าเรากับลูกน้องไม่ได้มีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน และไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้ว ให้ Feedback ดีแค่ไหน ลูกน้องก็ไม่ฟังอยู่ดีครับ ถึงแม้จะเป็นคำชม แต่ถ้าไม่รู้สึกดีต่อกัน พนักงานก็จะมองคำชมนั้นเป็นการประชดประชัน หรือชมแบบขอไปทีเท่านั้น

ดังนั้นถ้าเราอยากจะทำให้ Feedback ได้ผลจริงๆ แล้วล่ะก็ หัวหน้าเองจะต้องเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตนเองกับลูกน้องแต่ ละคนก่อน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาเกิดขึ้น เมื่อเกิดสองสิ่งนี้แล้ว Feedback ก็จะได้ผลดีมากขึ้น นอกนั้นก็เป็นเรื่องของความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาให้ผลงานของพนักงานดีขึ้น จริงๆ ก็คือ ไม่ใช่ให้ Feedback เพื่อความสะใจที่พนักงานทำงานไม่ได้ตามเป้า แต่ต้องให้เพื่อที่จะทำให้พนักงานรู้ว่าอะไรดีไม่ดี เจตนาก็คือต้องการที่จะพัฒนาพนักงานให้มีผลงานที่ดีขึ้นมากกว่า ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ พนักงานเองก็รับรู้ได้ไม่ยากว่านายคิดยังไงกันแน่

ย้ำอีกครั้งนะครับ Feedback ที่ดีและพนักงานรับฟังนั้น มีพื้นฐานมาจาก ความสัมพันธ์ที่ดี และ Trust ระหว่างกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น