วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557
นิทานสอนใจ เรื่องของทิฐิ
วันศุกร์วนมาอีกครั้งแล้วนะครับ วันนี้ก็เอานิทานสอนใจ ซึ่งมาจากหนังสือชุดนิทานสีขาว ของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา มาถ่ายทอดให้อ่านกันต่อ ผมอ่านแล้วรู้สึกดีมาก และก็เชื่อว่าอีกหลายๆ คนก็น่าจะเคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์ของทิฐิที่เข้ามามีส่วนทำให้การตัดสินใจ ของเราเองผิดพลาดไป เพราะด้วยความยึดมั่นถือมั่นที่มากเกินไป จนไม่เปิดใจฟังคนอื่น ไม่คิดที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นคิด หรือพูด คิดอยู่อย่างเดียวว่า ตนเองเก่งที่สุด และคนอื่นที่คิดไม่เหมือนตนเองนั่นคือคนที่ผิดตลอดเวลา เรื่องราวมีดังนี้ครับ
นาน มาแล้วมีชายคนหนึ่งชื่อ ว่า ทิฐิ เขาเป็นคนที่มีนิสัยอวดดื้อถือดี ไม่ต่างจากชื่อ เพราะเมื่อได้ลองเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้ว ทิฐิคนนี้ก็จะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นไม่เปลี่ยน และจะไม่ยอมรับฟังข้อคิดเห็นที่ผิดไปจากความเชื่อเดิมโดยเด็ดขาด แม้ว่านี่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนเอาจริงเอาจัง และเคร่งครัดกับชีวิต แต่บางครั้งเขาก็ดื้อรั้นมากเกินไปจนขาดเหตุผล และทำให้สูญเสียสิ่งดี ๆ ในชีวิตไปมากมาย โดยที่เขาเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน
กล่าวสำหรับ ทิฐิ เขาไม่ใช่คนร่ำรวย ดังนั้นจึงต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย กระทั่งมีฐานะขึ้นมาในระดับหนึ่ง ทิฐิจึงคิดที่จะหยุดพักตัวเองจากการงาน แล้วเดินทางไปเรื่อย ๆ เพื่อเที่ยวชมโลกกว้าง เมื่อตัดสินใจได้ดังนั้น ทิฐิจึงจัดการฝากบ้านไว้กับญาติพี่น้อง แล้วเก็บสัมภาระออกเดินทางทันที
ทิฐิ เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ชมนั่นแลนี่ และพูดคุยกับผู้คนที่อยู่ในที่เหล่านั้นมากมาย การท่องโลกกว้างของทิฐิน่าจะทำให้เขามีความรู้ดี ๆ หรือเกิดทัศนคติใหม่ ๆ ขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อไรก็ตามที่มีคนกล่าวคำซึ่งผิดไปจากความรู้หรือความเชื่อมั่นเดิมของ เขา ทิฐิก็จะรีบกล่าวแก่คน ๆ นั้นทันทีว่า
"นั่นไม่ถูกเลยนะ ที่จริงแล้วมันต้องเป็นดังที่ข้ารู้มาต่างหาก"
สิ่งนี้เองทำให้การเดินทางไปทั่วโลกของเขา แทบจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดขึ้นในชีวิตของเขาเลย
กระทั่ง วันหนึ่งทิฐิได้พลัดหลงเข้าไป ในดินแดนแห่งทะเลทรายอันแสนแห้งแล้ง และไร้ผู้คนสัญจร เขาหลงทางอยู่ในดินแดนแห่งนั้นสามวันสามคืน จนกระทั่งอาหาร และน้ำดื่มร่อยหรอและหมดลงในที่สุด ทิฐิจึงเดินต่อไปไม่ไหว เขาล้มลงนอนบนผืนทรายอย่างคนสิ้นเรี่ยวแรง
แต่ทิฐิยังไม่อยากตายตอน นี้ ดังนั้นแม้ร่างกายจะอ่อนระโหยโรยแรงขนาดไหน แต่เขาก็รวบรวมพลังใจของตนเฝ้ากล่าวคำภาวนาขอความเมตตาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ช่วยเหลือเขาด้วย
"ข้าแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดเมตตาข้า ผู้ซึ่งไม่เคยเบียดเบียนใคร ขอทรงประทานน้ำมาให้ข้าได้รักษาชีวิตของตนเองไว้ แม้เพียงหนึ่งหยดก็ยังดี" แล้วในตอนนั้นเอง ทิฐิก็เห็นชายแปลกหน้าชาวเยอรมันคนหนึ่งเดินตรงมาหาเขา ทิฐิดีใจสุดจะกล่าว แล้วรีบพูดขึ้นทันทีว่า
"โอ...ท่านผู้เป็นความหวังของข้า โปรดแบ่งน้ำของท่านให้ข้าดื่มด้วยเถิด"
ชายคนนั้นยื่นถุงหนังสีน้ำตาลในมือให้แก่ทิฐิ แล้วกล่าวว่า
"นี่คือ วาสซ่าร์ จงดื่มเสียสิ"
แต่ทิฐิไม่อยากได้วาสซ่าร์ เขาอยากได้น้ำ ดังนั้นเขาจึงปฏิเสธที่จะรับถุงหนังสีน้ำตาลจากชายแปลกหน้าคนนั้น ชายคนนั้นจึงเดินจากไป
ทิฐิภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง คราวนี้มีชายชาวจีนคนหนึ่งเดินถือถุงหนังสีแดงเข้ามายื่นให้แก่ทิฐิ
"นี่คือ น้ำ ใช่หรือไม่" ทิฐิถามชายชาวจีน
"นี่คือ ซือจุ้ย จงดื่มเสียสิ" ชายชาวจีนตอบ
ทิฐิ รู้สึกไม่พอใจ ตอนนี้เขากระหายน้ำมากเหลือเกินแล้ว แต่ทำไมชายผู้นี้จึงนำซือจุ้ย มามอบให้แก่เขาเล่า ทิฐิจึงปฏิเสธถุงหนังสีแดงของชายชาวจีน ชายชาวจีนจึงเดินจากไป
ทิฐิเริ่มภาวนาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีก และครั้งนี้มีผู้หญิงชาวอินเดียคนหนึ่งมาปรากฏกายตรงหน้าของเขาในแทบจะทันที
"เธอผู้มีใจเมตตา ขอน้ำให้ข้าดื่มหน่อยเถิด" ทิฐิพึมพำคำอ้อนวอนออกจากริมฝีปากที่แห้งผาก
"นี่คือ ปานี จงดื่มเสียสิ" หญิงชาวอินเดียกล่าวพร้อมกับยื่นถุงหนังสีเขียวให้กับทิฐิ แต่นั่นทำให้ทิฐิโกรธมาก เขารวบรวมเรี่ยวแรงทั้งหมดที่มี ยกแขนปัดถุงหนังสีเขียวให้พ้นหน้า แล้วพูดอย่างโกรธเคืองว่า
"ข้าไม่เอาของ ๆ เจ้า ข้าจะตายเพราะขาดน้ำอยู่แล้ว ข้าต้องการน้ำเท่านั้น!"
หญิงอินเดียเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เดินจากไปอีกคน ทิฐิเฝ้าอ้อนวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่มีใครนำอะไรมายื่นให้เขาอีกแล้ว
จิตของทิฐิกำลังหลุดลอยออกจากร่างที่ใกล้แตกดับ แล้วในตอนนั้นเอง เสียง ๆ หนนึ่งก็ดังแว่ว ๆ ให้ได้ยินว่า
"ทิฐิ คนถือดีเอ๋ย เราช่วยเจ้าแล้ว แต่เจ้ากลับไม่เคยให้โอกาสตนเองเลย หากเจ้าเปิดใจให้กว้าง และยอมรับในข้อดีของสิ่งที่ไม่คุ้นเคยเสียบ้าง เจ้าก็คงรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในถุงหนังทั้งสามนั้น ต่างก็เป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ทั้งสิ้น"
เมื่อสิ้นเสียงแว่วนั้น ทิฐิคนถือดีก็สิ้นลมหายใจทันที
บทสรุปของผู้แต่ง
เรื่องราวของทิฐินั้น สอนให้เราเปิดตาตนเองให้กว้าง แล้วมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วยสายตา และหัวใจที่ไร้อคติ หากปิดกั้นหัวใจ และสายตาเอาไว้ ก็อาจพลาดสิ่งดี ๆ ในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งบางครั้งสิ่งดี ๆ เหล่านั้นก็อาจจะไม่หวนกลับมาหาอีกแล้ว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น