วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557

ระบบการประเมินผลงานที่ดี ต้องมีการสื่อสารที่ดีเสมอ

interview

ช่วงนี้ก็เริ่มที่จะเข้าสู่ช่วงของการประเมินผลงานกันแล้วในแต่ละบริษัท ซึ่งเป็นช่วงที่หัวหน้างาน และผู้จัดการในแต่ละระดับจะต้องรับบทหนักในเรื่องของการประเมินผลงานลูกน้อง ของตนเอง บางคนก็มองว่าเป็นงานที่ยากมาก และไม่ค่อยอยากจะทำ เพราะไม่รู้ว่าจะไปตอบลูกน้องของตนเองอย่างไรว่าผลงานเป็นอย่างไร


จริงๆ แล้ว ปัญหาของการประเมินผลงานที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้น สาเหตุลึกๆ แล้วก็คือ ขาดการสื่อสารในเรื่องของผลงานร่วมกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หัวหน้ากับลูกน้องบางคู่ แทบจะไม่เคยคุยกันเลยในเรื่องของผลงาน พอไม่คุยกัน หัวหน้าก็จะคาดหวังอย่างหนึ่ง ลูกน้องเองก็จะมองผลงานของตนเองไปอีกอย่างหนึ่ง สุดท้ายก็ไม่เข้าใจกัน

ถ้าเราอยากจะแก้ไขปัญหาของการประเมินผลงาน โดยไม่ต้องอาศัยการวางระบบบริหารผลงานให้ยุ่งยากมากนัก ก็คงต้องเริ่มต้นด้วยการสื่อสารระหว่างกันในองค์กรให้ชัดเจน ดังนี้ครับ
  • หัวหน้ากับลูกน้องต้องตกลงแผนผลงานกันตั้งแต่ต้นปี ก่อนที่จะรู้ว่าผลงานของพนักงานออกมาเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีอย่างไรนั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำให้ชัดเจนก็คือ หัวหน้ากับลูกน้องจะต้องตกลงกันในเรื่องของผลงานว่าในแต่ละปี หัวหน้าคาดหวังผลงานอะไรบ้าง โดยอาจจะมีการกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลงาน และกำหนดเป้าหมายในการทำผลงาน รวมทั้งกำหนดเป้าหมายในเชิงพฤติกรรมด้วย เป้าหมายเหล่านี้ หัวหน้ากับลูกน้องจะต้องคุยกัน สื่อสารกัน และมีการตกลงกันตั้งแต่ต้นปี และบันทึกลงในแบบฟอร์มการประเมินผลงานไว้ตั้งแต่ต้นปีเลย บางแห่งคุยกันเสร็จก็มีการลงนามระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ผมคิดว่าการพูดคุยกันในเรื่องของผลงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องนั้น จะช่วยทำให้ความเข้าใจกันในเรื่องของความคาดหวังผลงานของหัวหน้า ตรงกับลูกน้องได้มากขึ้น และมีความชัดเจนขึ้นว่า ต้องทำผลงานอะไร อย่างไร และแค่ไหน
  • สื่อสารความคืบหน้าผลงานระหว่างปี เมื่อ มีการวางแผนผลงานกันตอนต้นปีเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างปี ก็ต้องไม่ลืมที่จะสื่อสารในเรื่องของความคืบหน้าของผลงานที่เกิดขึ้นด้วย เวลาที่พนักงานทำงานได้ดี ก็ต้องคุยกัน ต้องบอกกัน ว่าอะไรดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าพนักงานทำงานได้ไม่ดีพอ ไม่ตรงกับเป้าหมาย หรือความคาดหวังที่กำหนดไว้ หัวหน้าเองก็ต้องแจ้งพนักงานด้วย เพื่อให้พนักงานรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันไม่ถูกต้อง จะได้แก้ไขใหม่ เพื่อให้ผลงานดีขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในการทำงานของบริษัทก็คือ เวลาที่พนักงานทำผลงานไม่ถูกต้อง หรืองานออกมาไม่ดี แต่หัวหน้าไม่เคยบอก ไม่เคยสื่อสารให้พนักงานได้ทราบ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานคนนั้นก็จะคิดว่า สิ่งที่เขาทำนั้นมันดีแน่ๆ เพราะหัวหน้าไม่บอกเขาเลยว่ามันไม่ดี หรือไม่ถูก ดังนั้นการที่หัวหน้าพบว่าผลงานของลูกน้องออกมาไม่ดีแต่ไม่บอก ก็อาจจะทำให้พนักงานเข้าใจผิดได้ สุดท้ายก็จะมีผลต่อการประเมินผลงานตอนปลายปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเราบอกพนักงานบ่อยๆ และพยายามบอกเขาเพื่อให้เขาได้พัฒนา ปลายปี เวลาประเมินผลงานก็จะง่ายขึ้น พนักงานเองก็จะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ผลงานเท่านี้ ก็เพราะเรามีการพูดคุยกันตลอดทั้งปีนั่นเอง
  • สื่อสารเรื่องผลงานปลายปี พอ เข้าปลายปีต้องมีการประเมินผลงานอย่างเป็นทางการ หัวหน้าเองก็ต้องพิจารณาจากผลงานของพนักงานตลอดทั้งปีที่ผ่านมา จากนั้นก็ประเมินผลงานตามเกณฑ์ที่เราได้คุยกันไว้ตอนต้นปี โดยอาศัยข้อมูลผลงานที่ได้คุยกันตลอดทั้งปีมาประกอบการพิจารณา พอประเมินผลงานเสร็จแล้ว ก็ต้องมีการพูดคุยกัน มีการสื่อสารกันว่าทำไมถึงได้คะแนนผลงานแบบนี้ ซึ่งถ้าเราคุยกันชัดเจนตั้งแต่ต้นปี และมีการคุยกันถึงความคืบหน้าผลงานระหว่างปีมาโดยตลอด ตอนประเมินผลปลายปี ปัญหาจะเกิดขึ้นน้อยลงไปมาก เพราะทั้งผู้ประเมิน และผู้ถูกประเมินมีความเข้าใจกันตลอดเวลา
ส่วนใหญ่ปัญหาของการ ประเมินผลงานที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้น เริ่มต้นจากการที่ผู้ประเมินกับผู้ถูกประเมินไม่มีการสื่อสารกัน ไม่มีการคุยกันว่าอะไรคือผลงานที่คาดหวังว่าจะต้องทำให้ได้ และได้แค่ไหนถึงจะเรียกว่าผลงานดี หรือไม่ดี พอต้นปีไม่คุยกัน มันก็ไม่มีอะไรชัดเจน และบอกได้ว่าพนักงานจะต้องทำงานอะไร อย่างไร แค่ไหนถึงเรียกว่าผลงานออกมาดี

ยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่พนักงานทำงานออกมาแล้วไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือมีปัญหาในการทำงาน หัวหน้างานก็ไม่บอกอีกไม่เคยพูด ไม่เคยสื่อสารเลยว่า ผลงานที่ออกมานั้นมีปัญหาอะไรบ้าง พนักงานเองก็ไม่รู้ว่าตนเองทำผิด หรือรู้แต่ทำเป็นไม่รู้ เพราะหัวหน้าไม่เคยบอก สุดท้ายปลายปี ปัญหาการประเมินผลงานก็เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น