วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Coaching ให้ดีต้องเลือกวิธีการ Coach ให้เหมาะกับพนักงาน


ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการ Coaching มาหลายตอน ซึ่งก็น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพของคำว่าการ Coaching ได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากสิ่งที่ผมประสบมาก็คือ คนส่วนใหญ่มักจะมองการ Coaching ในแบบง่ายๆ ไม่มีอะไรมาก มายืนพูด ยืนสอน หรือนั่งคุยกันเล็กๆ น้อยๆ หรือสอนงานแนะนำงานกันเล็กน้อย ก็ถือเป็นการ coaching กันแล้ว ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่แค่นั้น


การ Coach ที่ดีนั้นจะต้องมีการวางแผนกัน มีการกำหนดเป้าหมายกันล่วงหน้าเลยว่า พนักงานแต่ละคนของเรานั้นจะต้องได้รับการพัฒนาในเรื่องอะไร อยากเห็นพนักงานดีขึ้นในมุมไหนบ้าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการกำหนดกันให้ชัดเจน จากนั้นก็เริ่มลงมือ Coach กันอย่างจริงๆ ตามแผนการ Coach ที่กำหนดไว้

อีกเรื่องที่ผู้เป็น Coach จะต้องพิจารณาให้ดี ถ้าเราคิดว่าประเด็นที่พนักงานคนนี้จะพัฒนาได้นั้น จะต้องอาศัยการ Coaching จริงๆ สิ่งที่ต้องวิเคราะห์ให้ได้คำตอบที่ชัดเจนก็คือ พนักงานคนที่เรากำลังจะ coach นั้นมีความรู้ ทักษะในเรื่องดังกล่าวสักแค่ไหน ไม่รู้เรื่องอะไรเลย หรือรู้บ้าง หรือมีความชำนาญอยู่บ้าง แต่ต้องเติมทักษะบางอย่างเพิ่มเติมลงไป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการกำหนดวิธีการ Coaching ให้กับพนักงานคนนั้น ว่าเราควรจะ Coach แบบใกล้ชิด และบอกวิธีการไปทีละขั้นตอน หรือจะต้อง Coach โดยการใช้คำถาม เพื่อให้พนักงานได้คิดเอง

ผมได้สรุปแนวทางในการ Coach ลงใน Model ข้างล่าง ซึ่งได้แนวทางมาจากหนังสือเรื่อง The Manager as coach and mentor ของ Eric Parsloe

 

จาก Model ข้างต้นก็น่าจะพอเป็นแนวทางให้กับท่านผู้อ่านที่กำลังจะวางแผน Coach ลูกน้องของตนเองว่าควรจะใช้วิธีการ Coach แบบไหนดี
  • บอกเล่าวิธีการอย่างละเอียด วิธีการ Coach แบบนี้จะเหมาะสำหรับพนักงานที่ไม่เคยรู้เรื่องนั้นๆ มาก่อนเลย หรือเรียกได้ว่าเป็นมือใหม่สำหรับเรื่องนั้นๆ เลยก็ว่าได้ ด้วยความที่ไม่รู้ ดังนั้นวิธีการ coach ที่เหมาะที่สุดก็คือ การบอกเล่าวิธีการ การให้หลักการ อย่างละเอียด เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะตามด้วยการให้คำแนะนำ และการสาธิตให้ดู เพื่อให้พนักงานเกิดความเข้าใจมากขึ้น
  • การให้คำแนะนำ วิธี การ Coach แบบนี้ พนักงานคนนั้นอาจจะพอมีความรู้มาบ้าง และอาจจะเคยผ่านประสบการณ์ในการทำงานนั้นๆ มาก่อน พื้นฐานในเรื่องนั้นๆ มาบ้าง แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาอีก ลักษณะนี้การให้คำแนะนำในเรื่องนั้นๆ ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อให้พนักงานคนนั้นมีทักษะในการทำงานที่ดีขึ้น
  • การสาธิต วิธี การ Coach แบบนี้ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มักจะใช้สำหรับพนักงานที่ยังไม่มีความชำนาญใน เรื่องนั้นมากนัก ก็จะเป็นลักษณะของการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และให้ลองทำจริงๆ ดูว่าเป็นอย่างไร ทำตามสิ่งที่ผู้ Coach ทำให้ดู ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพฤติกรรม และวิธีการทำงานที่ถูกต้องได้มาตรฐานที่กำหนดไว้
  • การให้แนวทางกว้างๆ ลักษณะ การ Coach แบบนี้จะใช้สำหรับพนักงานที่มีความรู้ และทักษะในเรื่องนั้นๆ ดีอยู่ แล้วเราต้องการจะเสริมในบางจุด หรืออาจจะเป็นการเสริมจุดแข็งของพนักงานก็ได้
  • การใช้คำถาม ก็ เป็นการ Coach อีกวิธีหนึ่งซึ่งเน้นให้พนักงานคิดเอง โดยผู้ Coach จะเป็นผู้ใช้คำถาม ถามไปเรื่อยๆ (ตามหลัก GROW Model) คนที่ coach ด้วยวิธีการนี้จะต้องเป็นคนที่ชำนาญ และมีประสบการณ์ในเรื่องที่จะ Coach เพราะถ้าไม่ชำนาญจริงๆ ก็คงจะตั้งคำถามได้ยาก เพราะคำถามเหล่านี้จะต้องเป็นคำถาม ที่นำผู้ถูก coach ให้สามารถคิดต่อยอดในเรื่องนั้นๆ ได้ด้วยตนเอง
วิธีการ Coach แต่ละแบบ ก็จะมีความเหมาะสมกับพนักงานในแต่ละแบบเช่นกัน และยังทำให้ความลึกในการเรียนรู้ที่จะได้รับ ก็แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน

ในฐานะที่ท่านเป็นผู้จัดการ และต้องทำหน้าที่ coach ด้วย ก็คงต้องพิจารณาเลือกใช้วิธีการ Coach ให้เหมาะสมกับคุณลักษณะของพนักงานด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น