หลังจากที่ได้เข้าใจบทบาทของผู้จัดการสายงานในการบริหารทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่ขั้นตอนแรกก็คือ การสรรหาคัดเลือกพนักงาน การพัฒนาพนักงาน การบริหารผลงานของพนักงานแล้ว วันนี้ ก็จะเข้าในเรื่องของการบริหารค่าตอบแทน เรื่องของค่าตอบแทนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในการบริหารทรัพยากร บุคคล เพราะเป็นสิ่งที่พนักงานทุกคนต้องการ เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนในการทำงานของเขา
เรื่องของการบริหารค่าตอบแทนเป็นเรื่องเดียวที่ผู้จัดการสายงานมีความเกี่ยวข้อง ด้วยน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ ที่ได้เขียนไป เนื่องจากหลักการในการบริหารค่าตอบแทนนั้นเน้นไปที่ความเป็นธรรม ดังนั้นก็เลยต้องบริหารโดยมาจากส่วนกลางมากกว่าที่จะให้อำนาจผู้จัดการทุกคน บริหารค่าจ้างของลูกน้องตนเอง เพราะนั่นจะทำให้เกิดความลักลั่นกัน และนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมในที่สุด
โดยทั่วไปหลักในการบริหารค่าตอบแทนจะประกอบไปด้วย
- หลักความเป็นธรรมภายในองค์กร ก็คือ การจ่ายค่าจ้างจะต้องมีความเป็นธรรมในการจ่าย การที่พนักงานแต่ละคนในองค์กรจะมีค่าจ้างเงินเดือนที่ไม่เท่ากันนั้นก็ต้อง มาจาก (1) ค่าของงาน ก็คือ ความยากง่ายของงานในตำแหน่งที่ทำอยู่ (2) ผลงานที่ทำได้ ถ้าพนักงานทำผลงานได้ดี ก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนเป็นรางวัลที่แตกต่างกันออกไปตามผลงานที่ทำได้
- หลักการแข่งขันภายนอก คือ การนำข้อมูลการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนของตลาดที่บริษัทแข่งขันด้วย มาเป็นตัวเปรียบเทียบ และกำหนดอัตราการจ่ายค่าตอบแทนของบริษัท ทั้งนี้ก็เพื่อให้อัตราค่าตอบแทนของบริษัทสามารถแข่งขันได้กับตลาด ไม่ได้จ่ายมากไป หรือน้อยไป แต่จ่ายในลักษณะที่สามารถแข่งขันได้นั่นเอง ผลก็คือ จะทำให้เกิดความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับองค์กรภายนอกในหน้าที่งานที่ใกล้เคียง กัน ก็จ่ายใกล้เคียงกันเช่นกัน
- หลักการจูงใจ คือ การสร้างแรงจูงใจแก่พนักงานในการสร้างผลงานที่ดีขึ้นทุกๆ ปี โดยอาศัยเครื่องมือที่เป็นค่าตอบแทน ซึ่งก็คือ การขึ้นเงินเดือนตามผลงานประจำปี และการให้รางวัลผลงาน หรือที่เรียกกันว่า โบนัส เป็นการสร้างระบบการขึ้นเงินเดือนและการให้โบนัสที่ทำให้พนักงานมีแรงจูงใจ อย่างต่อเนื่องในการสร้างผลงานให้กับบริษัท ระบบนี้โดยหลักการก็คือ ใครที่ทำผลงานได้ดี ก็ได้รางวัลมากกว่า คนที่ทำผลงานดีน้อยกว่านั่นเอง
แล้วบทบาทของผู้จัดการสายงานที่มีต่อการบริหารค่าตอบแทนจะมีอะไรบ้าง
- บริหารค่าตอบแทนพนักงานตามระบบของบริษัทที่กำหนดไว้ ถ้า ระบบของบริษัทไม่มีปัญหาอะไร ผู้จัดการสายงานก็จะต้องว่าตามกฎเกณฑ์ในการบริหารค่าตอบแทนของบริษัท อาทิ การกำหนดอัตราเงินเดือนให้กับพนักงาน ก็ต้องให้เป็นหน้าที่ของทางฝ่ายบุคคลเป็นผู้กำหนด เพราะเขารู้ว่าเงินเดือนใครตอนนี้เท่าไหร่ และถ้ารับพนักงานใหม่เข้ามาในตำแหน่งนี้ เมื่อเทียบกับโครงสร้างเงินเดือน และคนในที่อยู่ตำแหน่งเดียวกันแล้ว เราควรจะกำหนดเงินเดือนเท่าไหร่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ผู้จัดการสายงานไม่ควรจะเป็นผู้ตกลงอัตราเงินเดือนกับผู้สมัคร รวมทั้งไม่ควรที่จะรับปากผู้สมัครในเรื่องของค่าตอบแทนใดๆ ต้องปล่อยให้ทาง HR เขาเป็นคนดำเนินการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งองค์กร
- ให้ข้อเสนอแนะในการบริหารค่าตอบแทนขององค์กร สิ่ง ที่ผู้จัดการสายงานสามารถทำให้ระบบบริหารค่าตอบแทนขององค์กรเป็นธรรมมากขึ้น ก็คือ เมื่อพบกับวิธีการบริหารค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ก็ต้องแจ้งทาง HR ให้ทราบ เพื่อที่จะได้ดำเนินการแก้ไข รวมทั้งถ้าพนักงานในหน่วยงานของตนมีการบ่น หรือแสดงออกอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องของการบริหารค่าตอบแทนของบริษัท ก็คงต้องมีการหารือกับทาง HR ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เพื่อที่จะช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมและเป็นธรรมที่สุด
- ประเมินผลงานพนักงานอย่างเป็นธรรม การ ที่ผู้จัดการสายงานจะบริหารค่าตอบแทนของพนักงานให้เป็นธรรมได้นั้น ก็มาจากต้นทางก็คือ การประเมินผลงานพนักงานในหน่วยงานของตนเองให้เป็นธรรมมากที่สุด และเป็นไปตามผลงานที่ได้จริงๆ ไม่ใช่อาศัยความรู้สึกเพียงอย่างเดียวในการประเมินผลงาน หรืออยากให้ใครมาก ก็ประเมินผลงานแบบให้คะแนนเยอะเข้าไว้ หรืออยากจะแกล้งพนักงานคนไหน ก็กดคะแนนการประเมินผลงานลง ซึ่งต้นทางที่ไม่ดีแบบนี้ย่อมจะส่งผลต่อการบริหารการขึ้นเงินเดือน และการให้โบนัสที่ไม่เป็นธรรมตามมาอีกด้วยเช่นกัน
- ขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานอย่างเป็นธรรม ใน บางองค์กรผู้จัดการสายงานจะมีหน้าที่ในการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานใน หน่วยงานที่ตนดูแลด้วย โดยทาง HR จะสร้างตารางการขึ้นเงินเดือนมาให้ โดยอาศัยงบประมาณการขึ้นเงินเดือนที่ได้รับอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูง จากนั้นก็สร้างตารางการขึ้นเงินเดือนที่เป็นมาตรฐานให้กับทุกฝ่าย เพื่อนำไปใช้ในการขึ้นเงินเดือนพนักงานในฝ่ายของตนเอง ดังนั้นสิ่งที่ผู้จัดการสายงานควรจะดำเนินการก็คือ จะต้องยึดผลงานของพนักงานเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน แต่ละคน ไม่ควรใช้ความชอบส่วนตัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น