องค์กรของท่านเคยจ้างที่ปรึกษาบ้างหรือเปล่าครับ ผมเองทำงานอยู่ในแวดวงนี้มานาน และได้พบกับบริษัทมากมายที่มีการใช้ที่ปรึกษาให้เข้ามาวางระบบงานต่างๆ ภายในบริษัท โดยเฉพาะที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ไม่ว่าจะเป็นระบบ HRM หรือ HRD บริษัทที่ใช้บริการที่ปรึกษาก็มักจะเป็นบริษัทที่ต้องการผลสำเร็จที่รวดเร็ว และสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้เลย โดยไม่ต้องลงมือทำเองให้ยุ่งยาก ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาที่ดี ส่วนใหญ่ก็สามารถที่จะวางระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทได้โดยไม่ ยากเย็นนัก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คือ บางบริษัทจ้างที่ปรึกษามากกว่า 4 รายเข้ามาทำระบบเดียวกันภายในไม่ถึง 3 ปี ผมมีโอกาสได้พบกับผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้มาอยู่พอสมควร และได้สอบถามว่า สาเหตุอะไรที่ต้องจ้างที่ปรึกษาเข้ามาทำงานที่ทำไปแล้ว คำตอบที่ได้ก็คือ ที่ปรึกษาแต่ละรายที่เข้ามาทำงานให้นั้น ไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทได้เลย
ผมเองก็ชักสงสัยว่า จริงหรือ ที่บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกจำนวนถึง 4 ราย ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริหารได้เลยสักนิด ถ้าเป็นรายเดียว หรือสองราย ผมยังพอเข้าใจ เพราะตัวที่ปรึกษาเอง ก็มีทั้งที่เหมาะ และไม่เหมาะกับบริษัท แต่นี่จำนวนถึง 4 ราย แต่กลับได้คำตอบเดียวกันว่า จ้างแล้วก็ไม่สามารถเอาไปใช้จริงได้ และก็ยังคงตามหาที่ปรึกษาที่สามารถเข้าไปช่วยตอบโจทย์ผู้บริหารให้ได้
แล้วก็ถึงคิวผมที่ต้องเข้าไปพูดคุยเพื่อรับทราบความต้องการของผู้บริหาร ผมฟังผู้บริหารเล่าให้ฟังแล้ว ก็เกิดความสงสัยในสิ่งที่ที่ปรึกษาแต่ละรายดำเนินการให้ ก็เลยลองขอดูระบบงานที่ที่ปรึกษาแต่ละรายได้วางไว้ให้ ซึ่งผู้บริหารก็ใจดี และเข้าใจ ก็ได้เอารายงาน และระบบที่ที่ปรึกษาได้วางไว้มาให้ผมดู
ผมเองนั่งดูอยู่สักพัก ก็พบว่า ที่ปรึกษาแต่ละรายนั้นมีหลักการ มีงานวิจัย และมีทฤษฎีที่ถูกต้องตามหลักการในเรื่องนั้นๆ จริงๆ ไม่ได้มีอะไรที่ผิดไปจากหลักการปกติของการบริหารทรัพยากรบุคคลในเรื่องนั้น เลยสักนิด แถมบางรายยังมีแนวทางในการ Implementation ไว้ให้อย่างชัดเจน ผมเองมองว่าเป็นระบบที่วางไว้ดีมากทั้ง 4 ที่เลย แต่ทำไมถึงไม่สามารถเอามาปรับใช้ได้เลยล่ะ
ผมก็สอบถามผู้บริหารต่อไปว่า ทำไมถึงไม่นำไปใช้ในการบริหาร คำตอบก็คือ สิ่งที่ที่ปรึกษาแต่ละแห่งทำมานั้น มันเป็นระบบที่ผู้บริหารไม่ชอบใจ และไม่อยากเปลี่ยนแปลงให้เกิดระบบแบบนั้น ผู้บริหารอยากหาที่ปรึกษาที่เข้ามาทำงานได้ตรงกับสิ่งที่ผู้บริหารคนนั้นคิด ไว้แบบเป๊ะๆ พอผมฟังสาเหตุจบ ผมก็คิดในใจว่า ถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ จ้างที่ปรึกษาเก่งแค่ไหนก็คงไม่สามารถเข้ามาช่วยเขาได้เลย
การว่าจ้างที่ปรึกษานั้น ถือว่าเป็นทางลัดไปสู่ความสำเร็จได้ค่อนข้างดี ถ้าได้เจอกับที่ปรึกษาที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนั้นๆ มาพอสมควร และถือเป็นการลงทุนที่สูงพอสมควรเช่นกัน ดังนั้น ถ้าองค์กรตัดสินใจจ้างที่ปรึกษาให้เข้ามาดำเนินการวางระบบทางด้านบริหาร ทรัพยากรบุคคลแล้ว สิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้ดีก็คือ
- เตรียมความพร้อมของผู้บริหารระดับสูง ให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อไหร่มีที่ปรึกษามาวางระบบใหม่ให้ นั่นก็แปลว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน และระบบความคิดบางเรื่องใหม่ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น ถ้าผู้บริหารระดับสูงไม่พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ ระบบที่วางไว้จะดีแค่ไหนก็ตาม ก็จะไม่สามารถนำไปใช้จริงได้เลย
- ให้ความรู้และความเข้าใจกับกลุ่มผู้บริหารระดับรองๆ ลงมา หลัง จากที่ผู้บริหารระดับสูงเข้าใจแล้วว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ขั้นตอนถัดไปก็คือ การสร้างการยอมรับในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้กับกลุ่มผู้จัดการสายงาน ระดับรองๆ ลงมา ว่าถ้าเราจ้างที่ปรึกษามาทำงานเรื่องนี้ ก็จะเกิดผลแบบนี้ และต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
- ถึงเวลาวางระบบ ต้องมีคณะทำงานของบริษัทด้วย สิ่ง ที่ต้องทำถัดไปก็คือ การตั้งคณะทำงาน ในการทำงานร่วมกับที่ปรึกษา นอกจากการประสานงานระหว่างบริษัท กับที่ปรึกษาแล้ว คณะทำงานชุดนี้จะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆ ของบริษัทที่จำเป็นแก่ที่ปรึกษา ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ รวมทั้งเรียนรู้ระบบใหม่ๆ ที่ที่ปรึกษาได้วางไว้ให้ พร้อมกันนั้นก็ต้องทำหน้าที่ในการชี้แจง ทำความเข้าใจกับพนักงานภายในบริษัทในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้งานไปสู่ผลสำเร็จที่กำหนดไว้ และสุดท้ายคณะทำงานนี้ก็ต้องรับช่วงต่อจากที่ปรึกษาในการบริหารระบบงานที่ วางไว้ต่อไปหลังจากที่จบโครงการ
แต่พอสิ่งที่ที่ปรึกษาคิดไว้ไม่ตรงกับใจของผู้บริหาร ก็เลยใช้เป็นข้ออ้างว่า จ้างใหม่ดีกว่า พอจ้างรายใหม่เข้ามา ก็ไม่ตรงใจอีก เพราะเหมือนกับรายแรกที่ทำไว้เลย ก็หาใหม่อีก หายังไงก็หาไม่เจอแน่ๆ ครับ เพราะหลักการในเรื่องนั้นๆ ถ้าเป็นหลักสากลแล้ว ผมเชื่อว่ายังไงมันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนักระหว่างที่ปรึกษาแต่ละราย
นอกจากนั้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ HR ในบริษัทต้องปวดหัวก็คือ ระบบเดิมที่ที่ปรึกษารายแรกได้วางไว้ให้นั้น HR ก็สามารถบริหารระบบนั้นได้อย่างดี พนักงานก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น แต่พอมีผู้บริหารคนใหม่เข้ามา ผู้บริหารท่านนั้นไม่เคยคิดที่จะเข้ามาศึกษาระบบเดิมของบริษัทที่อยู่แล้ว เลยสักนิด แต่คิดว่าสิ่งที่ท่านรู้มาจากประสบการณ์ในการทำงานกับองค์กรอื่นๆ นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็เลยสั่งรื้อระบบเดิมที่ทำไว้หมดเลย โดยไม่สนใจว่าระบบเดิมนั้นมันมีข้อดีของมันอยู่แล้วในตัว และก็ดำเนินการให้ HR หาที่ปรึกษารายใหม่เข้ามาวางระบบทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง HR ก็จัดให้ เพราะนั่นคือคำสั่ง พอทำระบบเสร็จก็ผ่านไปสองปี เริ่มใช้งานระบบได้ ครบ 4 ปีผู้บริหารระดับสูงก็ถูกเปลี่ยนตัวมาใหม่อีก แล้ววงจรเดิมก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จบ
ผลเสียก็คือ ระบบไม่นิ่ง พนักงานงง สับสนในชีวิต เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ของเก่าเป็นของใหม่ แล้วก็ของใหม่มาเป็นของเก่า เปลืองเงินจ้างที่ปรึกษาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องเดิมๆ ไม่มีการต่อยอดจากของเดิม แต่เป็นการเริ่มใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงๆ ความสับสนเหล่านี้ของพนักงานมันส่งผลต่อการทำงาน และการสร้างผลงานของพนักงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยครับ
สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์โดยไม่เสียอะไรเลย ก็คือบริษัทที่ปรึกษา ร่ำรวยกันถ้วนหน้าครับ
อย่าลืมนะครับ ถ้าคิดจะจ้างที่ปรึกษาวางระบบใหม่ๆ ก็คงต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมทัศนคติ ของผู้บริหารระดับสูงให้พร้อม เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ ครับ ถ้าไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนจริง ก็อย่าเพิ่งจ้างเลยครับ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และทำให้พนักงานเองก็เสียความรู้สึกด้วยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น