วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผู้จัดการกับการเป็นCoach ที่ดี


ต่อจากเรื่องเมื่อวานนี้ที่เกี่ยวกับการ Coaching เพื่อพัฒนาผลงาน องค์กรที่มีการนำเอา Competency มาใช้เพื่อการพัฒนาผลงานพนักงานนั้น มักจะหนีเครื่องมือการพัฒนาตัวหนึ่งไม่พ้น ก็คือ Coaching เพราะถือเป็นบทบาทหน้าที่ของหัวหน้างาน ผู้จัดการ และผู้บริหารที่ต้องบริหารผลงานพนักงาน จะต้องทำหน้าที่เป็น Coach ที่ดีด้วย


แต่หัวหน้างาน ผู้จัดการ และผู้บริหารทุกคนสามารถเป็น Coach ที่ดีได้จริงๆหรือ

คำตอบก็คือ “ได้ครับ” เพียงแต่แต่ละคนอาจจะต้องใช้เวลาที่แตกต่างกันในการพัฒนาทักษะการ Coach บางคนอาจจะเร็วมาก บางคนก็ต้องฝึกฝนอยู่พอสมควร บางคนฝึกเท่าไหร่ก็เป็น Coach ไม่ได้เลยก็มี

ดังนั้นการที่องค์กรต่างๆ นำเอาเครื่องมือเรื่องของการ Coaching มาใช้ในการพัฒนาผลงานของพนักงานนั้น ก็ต้องอย่าลืมพัฒนาทักษะการ Coach ให้กับคนกลุ่มนี้ด้วยนะครับ อย่าคิดไปเองว่าคนเหล่านี้พอเป็นหัวหน้าแล้ว ทักษะการ Coach จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้เลยครับ

ด้วยเหตุดังกล่าวก็เลยทำให้บางองค์กร ผู้บริหารระดับสูงเกิดความรู้สึกว่า ทำไมเราใช้ระบบการบริหารผลงานแล้ว แต่ทำไมพนักงานกลับไม่เห็นได้รับการพัฒนาอะไร หรือเราพยายามให้หัวหน้าทำการ Coach ลูกน้องของตนเองแล้ว แต่ทำไมลูกน้องก็ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ต้องการ

คำตอบก็คือ หัวหน้างานคนนั้น Coach ไม่เป็นนั่นเองครับ

แล้วการ Coaching คืออะไรกันแน่
  • การ Coach จะเป็นอะไรที่ลึกกว่าการสอนงานมากมายครับ บางคนคิดว่าการที่ตนเองไปยืนพูด ยืนบรรยายอยู่หน้าห้องประชุมเพื่อให้พนักงานได้เข้าใจวิธีการทำงาน และเทคนิคในการทำงานต่างๆ นั่นคือการ Coach
  • บางคนคิดว่า ทุกวันตอนเช้าจะต้องมีการพูดคุยกับพนักงานก่อนเริ่มงานทุกวัน ที่เรียกกันว่า Morning Talk นั้น ก็คือการ Coach แล้ว
  • บางคนคิดว่า การที่เขาสาธิตการทำงานให้ดูเป็นตัวอย่าง นั่นก็เป็นการ Coach แล้วอีกเช่นกัน
แต่จริงๆแล้ว 3 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ใช่การ Coaching เลยครับ เป็นเพียง Teaching, Meeting เท่านั้น

แล้วการ Coaching มันต้องเป็นยังไง ลองนึกภาพของ Coach นักกีฬาสิครับ เขาทำอะไรบ้าง สิ่งที่ Coach ส่วนใหญ่เขาทำก็คือ
  • พิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน ของนักกีฬาแต่ละคนในทีม เพื่อดูว่า Coach จะสามารถเสริมจุดแข็ง และอุดจุดอ่อนของแต่ละคนได้อย่างไร
  • มี การพูดคุยกันกับนักกีฬาเพื่อให้นักกีฬาลองประเมินตนเองว่ามองตนเองเป็นอย่าง ไร อยากจะประสบความสำเร็จในระดับใด และมีช่องว่างตรงไหนที่จะต้องเติมบ้าง เพื่อทำให้ผลงานออกมาประสบความสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจไว้ โดย Coach เองก็จะฟังอย่างตั้งใจ และพยายามเข้าใจมุมมองของนักกีฬาว่ามองตนเองอย่างไรบ้าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการ Coach ต่อไป
  • มีการวาง แผนการพัฒนานักกีฬากันล่วงหน้า ว่าในปีนี้จะต้องพัฒนาอะไร จะต้องต่อยอดในเรื่องอะไร เพื่อให้ผลงานออกมาดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา และมีการกำหนดตารางเวลาเพื่อการพัฒนากันอย่างจริงจัง
  • ให้ เทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อเสริมจุดแข็ง และอุดจุดอ่อนที่มี Coach จะศึกษาแง่มุมต่างๆ ที่ได้จากผลการวิเคราะห์ในข้อแรกข้างตนของนักกีฬา จากนั้นก็จะเริ่มทดลองให้เปลี่ยนเทคนิคการเล่น โดยเอาจุดแข็งที่มีมาเสริม และพยายามหาและทดลองการเล่นแบบใหม่ๆ เพื่ออุดจุดอ่อนที่มีอยู่เช่นกัน จากนั้นก็ให้ซ้อมบ่อยๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือทักษะ ทักษะจะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้มันบ่อยๆ ได้ฝึกบ่อยๆ
  • ประเมิน ผลการ Coach จากนั้น Coach ก็จะประเมินผลดูว่า ผลงานโดยภาพรวมดีขึ้นหรือไม่ และนักกีฬาได้นำเอาเทคนิคใหม่ๆ เหล่านั้นไปใช้แล้วเกิดผลอย่างไร จะต้องเอาผลดังกล่าวมาวิเคราะห์ต่อ แล้วก็นำไปให้ Feedback แก่นักกีฬาแต่ละคน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาต่อไป
  • ให้ กำลังใจ อีกหน้าที่หนึ่งของ Coach ที่ดี นอกจากเรื่องของเทคนิคต่างๆ แล้ว ก็ต้องมีการเสริมกำลังใจ เสริมเรื่องของพลัง และความมุ่งมั่นในการแข่งขันด้วย จะต้องเป็นที่ปรึกษาที่ดี เป็นผู้สอนให้คิด ให้แนวคิด และแรงบันดาลใจกับนักกีฬาคนนั้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักกีฬามีความแข็งแกร่งทั้งร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้พร้อมที่จะเป็นนักกีฬาระดับโลก
เมื่อมองเห็นแนวทางใน การ Coach ของ Coach นักกีฬา ลองเอามาปรับใช้กับการทำงานของเราเองก็ได้ครับ โดยเปลี่ยนคำว่า “นักกีฬา” เป็น “พนักงาน” แล้วก็เริ่มลงมือ Coach พนักงานตามแนวทางข้างต้น นี่ถือจะเรียกว่าเป็น Coach ที่แท้จริง

Coach กันจริงๆแล้ว สิ่งที่พนักงานจะได้นั้น ไม่ใช่แค่เพียงความรู้ทักษะที่ดีขึ้น แต่จะได้แนวคิด และวิธีการทำงาน ที่ดี ที่ถูกต้องมาด้วย และที่สำคัญ Coach กันจริงๆ แล้ว พฤติกรรมของพนักงานคนนั้น จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นภายในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้

มีเทคนิคการ Coach อีกแบบหนึ่งที่เหมาะกับพนักงานที่มีความรู้และมีทักษะที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งเราเรียกว่า การ Coach แบบใช้คำถาม ถามพนักงานไปเรื่อยๆ ทีละประเด็น เพื่อให้พนักงานฝึกคิด ฝึกตัดสินใจ พรุ่งนี้ผมจะลองนำเทคนิคการ Coach ที่เรียกกว่า GROW มาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่านนำไปประยุกต์ใช้ในการ Coach ลูกน้องของตนได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น