ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม ล้วนแต่ต้องการผลสำเร็จของงานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจส่วนตัว เป็นพนักงาน เป็นหัวหน้า เป็นผู้จดการ หรือเป็นผู้บริหาร ทุกคนที่ทำงานก็ล้วนต้องการความสำเร็จของงาน อยู่ที่ว่าใครต้องการความสำเร็จมากกว่ากัน คนที่มีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จมากหน่อย ก็จะเป็นคนที่มักจะสร้างผลงานได้ดีกว่าคนที่มุ่งมั่นน้อยกว่า
ในการบริหารผลงานของพนักงานเองก็เช่นกัน คนที่เป็นหัวหน้า หรือผู้จัดการที่ต้องบริหารผลงานของลูกน้องของตนเอง ต่างก็ต้องการให้ลูกน้องของตนเองทำผลงานให้ได้ดี เพราะการที่ลูกน้องทำงานได้ดี ย่อมส่งผลต่อผลงานของหัวหน้า และผู้จัดการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำถามก็คือ แล้วผลงานที่ดีของพนักงานนั้นมาจากไหน
ลองดู Model ที่ผมทำมาให้ดูง่ายๆ เกี่ยวกับที่มาของผลงานพนักงานว่าเป็นอย่างไร
จาก Model ข้างต้น จะเห็นว่า ผลงานของพนักงานจะดีหรือไม่ดีนั้น มีที่มาอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ ก็คือ
- ความตั้งใจจริงของพนักงานเอง ซึ่งก็คือ อุปนิสัยส่วนตัวของพนักงานคนนั้นว่า มีความตั้งใจจริงมากน้อยเพียงใด โดยมากก็จะแสดงออกถึงพฤติกรรมบางอย่างให้เราเห็นได้ เช่น ทำงานแบบมุ่งมั่นตั้งใจมาก กัดไม่ปล่อย ต้องทำให้งานสำเร็จให้ได้ไม่ว่าจะยากสักเพียงใด ก็สู้อยู่เสมอ เรื่องของความตั้งใจนี้ เป็นด่านแรกของการทำผลงานที่ดีของพนักงานเลยครับ ถ้าเราสามารถคัดเลือกพนักงานที่มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น และมีความรับผิดชอบต่อตนเองที่สูงหน่อยเข้ามาทำงานได้ งานนั้นก็สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะถ้าพนักงานคนนั้นมีความตั้งใจจริงๆ ย่อมมีความพยายามที่จะสร้างผลงานที่ดีให้ได้อย่างแน่นอน
- การสร้างผลงานของพนักงาน โดยผ่านการใช้ความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมบางอย่างที่สอดคล้องกับการทำงานนั้นๆ ปัจจัยที่สองที่จะเป็นตัวบอกผลงานของพนักงานว่าจะดีหรือไม่ดีนั้น ก็คือ เรื่องของความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมที่สอดคล้องกับการทำงาน ว่าพนักงานคนนั้นมีความรู้ในการทำงานสักแค่ไหน มีทักษะในการทำงานนั้นมากน้อยเพียงใด และมีพฤติกรรมในการทำงานที่สอดคล้องกับการสร้างผลงานมากน้อยแค่ไหน ถ้าพนักงานคนนั้นมีความรู้ที่ดี มีทักษะความสามารถที่พร้อม ประกอบกับความมุ่งมั่นตั้งใจที่ดีด้วยแล้ว แนวโน้มของผลงานของพนักงานก็น่าจะออกมาสำเร็จไปแล้วสัก 80%
- เป้าหมายผลงานที่ชัดเจน ตัว สุดท้ายที่จะทำให้ผลงานของพนักงานออกมาดีหรือไม่ดี ก็คือ พนักงานคนนั้นมีความเข้าใจเป้าหมายความสำเร็จของตนเองมากน้อยแค่ไหน KPI ที่กำหนดระหว่างหัวหน้ากับพนักงานมีความชัดเจนหรือไม่ เข้าใจภาพเป้าหมายเหมือนกันหรือไม่ ถ้าพนักงานกับหัวหน้ามองเป้าหมายผลงานแตกต่างกันออกไป เข้าใจไม่เหมือนกัน สุดท้ายผลงานก็ไม่ออกมาอย่างที่หัวหน้าคาดหวังแน่นอน
- ถ้าสาเหตุมาจากพนักงานขาดความตั้งใจ สาเหตุนี้จะเป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ยากที่สุด เพราะลึกๆ แล้วต้องมานั่งวิเคราะห์ว่าทำไมพนักงานคนนั้นถึงไม่มีใจในการทำงาน ทำไมถึงขาดแรงจูงใจในตนเองในการทำงานให้สำเร็จ ทั้งๆ ที่โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการความสำเร็จอยู่แล้ว แต่พนักงานคนนี้กลับไม่ค่อยอยากทำงานให้สำเร็จ แสดงว่าจะต้องมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลัก ซึ่งถ้าหาไม่เจอ เราก็จะไม่สามารถที่จะดึงพนักงานคนนั้นกลับมาได้เลย ส่วนใหญ่ก็คือ หัวหน้าจะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานให้ได้ อาจจะต้องเรียกพนักงานมาพูดคุย สอบถาม หาสาเหตุอย่างจริงจัง ทักษะของหัวหน้าในการนี้ก็คือ ทักษะการฟังอย่างเข้าใจ เทคนิคการถาม การให้คำปรึกษาหารือ เพื่อค้นให้เจอถึงสาเหตุที่แท้จริง อย่างไรก็ดี สาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานที่เคยมีความตั้งใจดีมาก กลายเป็นพนักงานที่ไม่สนใจสร้างผลงานอีกเลย ก็คือ ตัวหัวหน้าเองที่ไม่เอาใจใส่ ไม่ให้ความใส่ใจในผลงานของพนักงานที่ออกมา เลยทำให้แรงจูงใจของพนักงานลดลงไปเรื่อยๆ จนไม่อยากจะทำอะไรอีกต่อไป
- ถ้าสาเหตุมาจากการขาดความรู้ ทักษะ และความสามารถในการทำงาน ใน กรณีนี้การแก้ไขจะง่ายกว่าสาเหตุแรกมากหน่อย ก็คือ เราสามารถที่จะร่วมกันกำหนดแนวทางในการพัฒนากับพนักงานคนนั้นได้ว่า ถ้าจะทำผลงานให้ดีขึ้นนั้น จะต้องเติมความรู้ เติมทักษะ และสร้างความสามารถอะไรเพิ่มเติมบ้าง จากนั้นก็วางแผนในการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งเรื่องสาเหตุนี้ การใช้ Competency Base HRD ก็จะเข้ามาช่วยได้มาก มีการกำหนดแผนการพัฒนาพนักงานเป็นรายบุคคล หรือที่เรียกกันว่า IDP เข้ามาเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้ ทักษะ และความสามารถของพนักงานได้อย่างดี
- ถ้าสาเหตุมาจากเป้าหมายไม่ชัดเจน ก็ คงต้องมานั่งแก้ไขกันที่ตัวหัวหน้าเยอะหน่อย การที่พนักงานไม่เข้าใจเป้าหมาย หรือเข้าใจเป้าหมายไม่ตรงกับที่หัวหน้าสื่อไป ก็คงต้องย้อนกลับมาดูว่า หัวหน้าสื่ออย่างไร ทำไมทำให้ลูกน้องเข้าใจผิดกันไปหมด ดังนั้นการแก้ไขเรื่องนี้ คงไปแก้ที่พนักงานไม่ได้ เพราะต้นเหตุมาจากหัวหน้ามากกว่า เพราะเป็นคนกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับลูกน้อง ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ หัวหน้าเองก็ไม่ชัดเจนในเป้าหมายของตนเอง ก็เลยทำให้เป้าหมายของลูกน้องไม่ชัดเจนตามไปด้วย หรือบางครั้งหัวหน้าก็มักจะคิดไปเองว่า พูดแค่นี้ลูกน้องก็น่าจะเข้าใจ ซึ่งอันตรายมากครับ หัวหน้าที่ดีไม่ควรคิดไปเองในเรื่องของเป้าหมายผลงานนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรจะสอบถาม และให้พนักงานทบทวนถึงเป้าหมายที่คุยกันไปว่าเข้าใจอย่างไร ตรงกันหรือไม่ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น