วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับผู้จัดการสายงาน (ตอนจบ) การสร้างความผูกพัน


หลังจากที่ผ่านมา 5 ตอนสำหรับบทบาทหน้าที่ของผู้จัดการสายงานที่มีต่อการบริหารทรัพยากรบุคคล วันนี้ก็มาถึงบทบาทสุดท้ายซึ่งผมเองคิดว่าเป็นบทบาทที่มีความสำคัญมากในการ บริหารทรัพยากรบุคคลในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ การสร้างความผูกพันของพนักงานต่อการทำงาน และต่อองค์กร


HR value chain

ในปัจจุบันนี้เรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงาน หรือในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Engagement นั้น เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยม และเป็นที่ให้ความสำคัญกันมากขึ้นในองค์กรต่างๆ ในบางองค์กรถึงกับเป็นเรื่องบังคับกันเลยว่าจะต้องมีการสำรวจความผูกพันของ พนักงานที่มีต่อองค์กร เพื่อที่จะหาวิธีการ แนวทาง และระบบงานต่างๆ ที่ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพัน และอยากอยู่สร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรไปนานๆ
จาก งานวิจัยมากมายในเรื่องของความผูกพันของพนักงาน ต่างก็พิสูจน์กันมาเยอะแล้วว่า ถ้าพนักงานในองค์กรมีความรู้สึกผูกพันต่อองค์กร ก็จะทำให้ผลงานขององค์กรดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะว่า พนักงานที่มีความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรนั้น จะเป็นคนที่อยากอยู่ทำงานให้องค์กร อยากสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กร และสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้องค์กรมีผลงานที่ดีขึ้นได้

อย่างไรก็ดี เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากว่า หน้าที่ของการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรนั้น เป็นหน้าที่ของใครกันแน่ ในอดีต ผู้บริหาร ผู้จัดการสายงานต่างๆ ต่างก็มองว่าหน้าที่นี้ต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคล เพราะเป็นเรื่องของการบริหารคน เป็นเรื่องของนโยบายในการบริหารคนต่างๆ ขององค์กร ก็เลยมองว่าฝ่ายบุคคลจะต้องทำหน้าที่ในการสร้างความผูกพันของพนักงานโดยตรง

แต่ในปัจจุบัน มีข้อพิสูจน์แล้วว่า การสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรนั้น เป็นหน้าที่หลักของผู้จัดการทุกคน ทุกระดับในองค์กร ไม่ใช่แค่ของฝ่ายบุคคลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงๆ คนที่รู้จักพนักงานคนตัวเองดีที่สุดก็คือ ผู้จัดการสายงานนั่นเอง

และจากผลการสำรวจอัตราความพึงพอใจของพนักงาน และอัตราความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ก็ออกมาอย่างชัดเจนว่า คนที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า ผู้จัดการ และผู้บริหารขององค์กรนั้น จะมีส่วนสำคัญมากที่จะสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร อีกเหตุผลหนึ่งที่พบเยอะมาก็คือ สาเหตุของการลาออกของพนักงานส่วนใหญ่ ก็คือ ต้องการลาออกจากหัวหน้า หรือผู้จัดการของตนเอง ทั้งๆ ที่เขารักองค์กรและไม่อยากจากองค์กรไปไหน แต่สาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่ผูกพันกับองค์กรเลยก็คือ ตัวหัวหน้างานของตนเอง

ดังนั้นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ ผู้จัดการสายงานที่ต้องบริหารคนของตนเอง ก็คือ การสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับทีมงานของตนเอง เพื่อให้ทีมงานเกิดความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรและต่อการทำงาน โดย
  • สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี เป็นทีม ปัจจัยในการที่พนักงานจะรู้สึกผูกพันต่อองค์กรที่สำคัญก็คือ บรรยากาศในการทำงานในองค์กร ส่วนใหญ่พนักงานชอบบรรยากาศในการทำงานที่เป็นมิตร เป็นพี่น้องๆ กันมากกว่า ที่จะห้ำหั่นกัน หรือมีการเมืองในองค์กรมากมายจนไม่เป็นอันทำงานกันเลย ตัวผู้จัดการสายงาน จึงเข้ามามีบทบาทมากในการสร้างบรรยากาศในการทำงานเป็นทีม การสร้างความรู้สึกของการทำงนแบบพี่ๆ น้องๆ การทำงานอย่างไม่ต้องเป็นทางการมากนัก ไม่ใช่นั่งทำงานแบบซีเรียสตลอดเวลา จนไม่มีเวลาที่จะสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในทีมงานของตนเอง
  • ชื่นชมผลงานของพนักงานอย่างจริงใจ ปัจจัย อีกประการหนึ่งที่จะสามารถสร้างความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรได้ก็คือ การที่ผู้จัดการหรือหัวหน้างานให้การชื่นชมในผลงานที่ดีของพนักงานอย่างจริง ใจ พนักงานทุกคนที่ทำผลงานที่ดี ก็ย่อมต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากหัวหน้าของตนเอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดพลัง และแรงจูงใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ถ้าผู้จัดการสายงานอยากจะทำให้พนักงานของตนเองรู้สึกมีความผูกพันต่อการทำ งาน ก็คงต้องมีการชื่นชมผลงานของพนักงานที่ทำผลงานได้ดี หรือมีพฤติกรรมในการทำงานที่ดี อย่างต่อเนื่อง การชมพนักงานนั้นไม่ได้มีความเสียหายอะไรเลย มีแต่จะสร้างความรู้สึกที่ดี และแรงจูงใจในการทำงานที่ดีให้กับตัวพนักงานเอง
  • พัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง การ ที่พนักงานมีความรู้สึกผูกพันและอยากสร้างผลงานให้กับองค์กรนั้น อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ มาจากการที่พนักงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พนักงานรู้สึกว่า ทำงานกับองค์กรนี้แล้ว ตนเองเก่งขึ้น มีความสามารถมากขึ้น และสามารถที่จะทำงานที่มีความท้าทายมากขึ้นได้อยู่เสมอ ก็จะทำให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และอยากที่จะอยู่สร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กร ผิดกับองค์กรที่ผู้จัดการปล่อยปละละเลย ไม่เคยสนใจ หรือใส่ใจว่าพนักงานแต่ละคนจะต้องได้รับการพัฒนาอะไรบ้าง พนักงานเองก็จะไม่รู้สึกถึงความภาคภูมิใจในผลงาน และรู้สึกว่าองค์กรไม่ให้ความสำคัญอะไรกับเราเลย สุดท้ายก็เลยไม่รู้สึกว่าผูกพันอะไรกับองค์กร และพร้อมที่จะออกจากองค์กรได้ตลอดเวลา
  • เป็นผู้นำที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี และเป็นที่พึ่งได้ อีก ปัจจัยหนึ่งที่มีผลมากต่อความผูกพันของพนักงานก็คือเรื่องของการเป็นผู้นำ ที่ดี การทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี กล่าวคือ พูดอะไรกับพนักงาน ตนเองก็ต้องทำอย่างที่พูดได้ด้วยเช่นกัน หรือให้สัญญาอะไรกับพนักงานไว้ ก็ต้องรักษาสัญญากับพนักงานด้วยเช่นกัน เพราะมิฉะนั้น ความรู้สึกเชื่อถือในตัวผู้นำก็จะหมดไป เมื่อความเชื่อถือหมดไป ความรู้สึกผูกพันต่อการทำงาน และต่อองค์กร ก็จะหมดไปด้วยเช่นกัน พนักงานจะมองว่า การทำงานอยู่กับผู้นำแบบนี้ ไม่น่าทำงานด้วยเลย ขนาดตนเองยังนำตัวเองไม่ได้ แล้วจะไปนำคนอื่นได้อย่างไร คิดได้ดังนี้ ก็เลยลาออกดีกว่า
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ บทบาทของผู้จัดการสายงานที่มีต่อการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ซึ่งถือว่าเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน

สรุปแล้วหน้าที่ของ ผู้จัดการสายงานที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรบุคคลก็จะ เริ่มตั้งแต่การสรรหาคัดเลือกคนที่เหมาะสม และได้ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ โดยเป็นผู้ที่ช่วยคัดเลือกการคนเก่งคนดี เมื่อได้พนักงานที่เหมาะสมเข้ามาแล้ว ก็ตามมาด้วยการวางแผนการพัฒนาพนักงานเพื่อให้สามารถทำงานได้ตามที่คาดหวัง เมื่อพนักงานยังทำงานไม่ได้ ก็ต้องมีการพัฒนาปรับปรุง และอบรม เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งเรื่องของการพัฒนานี้ ก็เป็นหน้าที่อีกประการหนึ่งของผู้จัดการสายงานที่จะต้องมีการวางแผนเพื่อ พัฒนาพนักงานแต่ละคนของตนเอง

จากนั้นก็ต้องมาพิจารณาในเรื่องของการ บริหารผลงาน มีการตั้งเป้าหมายผลงาน และพฤติกรรม มีการให้ Feedback สอนงาน และให้คำแนะนำแก่พนักงานเพื่อให้พนักงานสามารถสร้างผลงานได้ตามที่ตั้งเป้า หมายไว้ จากนั้นก็ทำการประเมินผลงานพนักงานเทียบกับเป้าหมาย เพื่อดูว่าผลงานของพนักงานเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรที่เป็นจุดดี อะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง จากนั้นก็นำเอาผลงานที่ประเมินได้ ไปให้รางวัล โดยการไปเชื่อมโยงกับระบบการให้รางวัลของทางบริษัทที่กำหนดไว้ ซึ่งระบบการให้รางวัลเหล่านี้จะออกมาเป็นธรรม ก็ต่อเมื่อผลงานที่ผู้จัดการประเมินพนักงานต้องเป็นธรรมก่อนเสมอ

สุดท้ายก็มาถึงเรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง

องค์กรที่มีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดี แข็งแรงมากๆ ล้วนต้องอาศัยผู้จัดการสายงานเข้ามามีส่วนในการบริหารพนักงานของตนเองด้วย เสมอ เพราะผู้จัดการสายงานจะเป็นคนที่รู้จักพนักงานของตนเองดีที่สุด และเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดกับพนักงานของตนเองมากที่สุด ดังนั้นหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรบุคคลของหน่วยงานตนเอง จึงต้องตกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการสายงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้า องค์กรของท่านต้องการให้ระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลของตนเองมีความแข็งแกร่ง และสามารถตอบโจทย์ของการบริหารทรัพยากรบุคคลได้อย่างตรงประเด็น ก็ต้องให้ผู้จัดการสายงานเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรบุคคลด้วย

แล้วเราก็จะได้คนที่ดีเหมาะสม พัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง สร้างผลงานได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งมีความผูกพันต่อองค์กรในระยะยาว เพื่อสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรได้อย่างที่ผู้บริหารต้องการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น