วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

ผู้จัดการงานบุคคล กับ ผู้จัดการสายงาน มุมมองที่แตกต่าง



วันนี้จะขอเอางานวิจัยของบริษัทที่ปรึกษาใหญ่แห่งหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานในองค์กรมาให้อ่านกัน บริษัทที่ปรึกษาที่ว่านี้ก็คือ Gallup นั่นเองครับ เผื่อจะได้เป็นไอเดียในการจะทำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรของเราได้ครับ
ผลจากการวิจัยของที่นี่ก็ยังยืนยันว่า การที่พนักงานเกิดความรู้สึกผูกพันกับองค์กร จะทำให้ผลงานของพนักงานดีขึ้น และถ้าพนักงานส่วนใหญ่ผูกพันกับองค์กรด้วยแล้ว องค์กรจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากเลย เพราะพนักงานจะทุ่มเทการทำงานให้กับองค์กร เขาได้ทำการวิจัยและมีค่าสถิติออกมาดังนี้ครับ
  • กลุ่มพนักงานชายจะมีความรู้สึกผูกพันกับองค์กรมากกกว่าพนักงานหญิง
  • พนักงานที่อยู่ในช่วงอายุ 18-29 จะมีความผูกพันต่อองค์กรน้อยกว่าพนักงานในช่วงอายุ 30-64 ปี ซึ่งเหตุผลก็คืออาจจะเป็นช่วงเริ่มต้นทำงาน และกำลังค้นหาตัวเองอยู่ ดังนั้นก็อาจจะมีการเปลี่ยนงาน และออกจากงานบ่อยๆ โดยยังไม่สนใจว่าจะลงตัวที่ไหนดี ส่วนอายุตั้งแต่ 30-64 ปีนั้น เริ่มค้นหาตัวเองพบแล้ว และเริ่มที่จะมีครอบครัว และสร้างฐานะ และต้องการความมั่นคง ก็เลยมีความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรมากกว่า
  • พนักงานที่มีการศึกษาในระดับมัธยมและต่ำกว่า จะมีความผูกพันต่อองค์กรน้อยกว่าพนักงานที่จบปริญญาตรีหรือสูงกว่า
  • 69% ของพนักงานกล่าวว่า เขายินดีที่จะทุ่มเทและทำงานหนักขึ้น ถ้างานที่เขาทำนั้นได้รับการชื่นชม และได้รับการยอมรับจากหัวหน้างานโดยตรง
  • อัตราการลาออกของพนักงานจะลดลงถึง 14.9% สำหรับองค์กรที่มีการพูดคุยและให้ Feedback แก่พนักงานในด้านผลงานอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับองค์กรที่ไม่มีการพูดคุยเรื่องผลงาน และไม่มีการให้ Feedback แก่พนักงานเลย
  • ระยะเวลาในการเดินทางมาทำงานมีผลต่อความผูกพันของพนักงาน ยิ่งพนักงานคนไหนต้องใช้เวลามากขึ้นในการเดินทางจากบ้านมาบริษัทก็จะยิ่งมีอัตราความผูกพันต่อบริษัทน้อยลงเรื่อยๆ จากสาเหตุในข้อนี้ก็เลยทำให้หลายบริษัทรับพนักงานที่มีที่อยู่อาศัยใกล้กับบริษัท หรือใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 30 นาที เพราะถ้าเกินจากนั้น ผลการวิจัยบอกว่าพนักงานจะเริ่มไม่รู้สึกผูกพันกับองค์กรแล้ว และพร้อมที่จะไปได้ทุกเมื่อ
  • การให้รางวัลในรูปแบบตัวเงินจะมีผลต่อความผูกพันของพนักงานน้อยกว่าการให้รางวัลในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่นการให้คำชมและการยอมรับจากหัวหน้าของตนเอง การได้รับการยอมรับจากผู้นำขององค์กร รวมทั้งการได้มีโอกาสได้เป็นผู้นำในงานโครงการบางอย่างของบริษัท ถ้ามีสิ่งเหล่านี้ พนักงานจะรู้สึกผูกพันต่อองค์กรมากกว่าการขึ้นเงินเดือนให้เยอะๆ หรือการให้โบนัสเยอะๆ
แนวทางในการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร
  • ต้องมั่นใจว่าพนักงานรู้และรับทราบเป้าหมายในการทำงานของตนเอง และรู้ว่าองค์กรคาดหวังอะไรจากเขาบ้าง และงานของเขามีส่วนที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง
  • ให้การสนับสนุน และช่วยเหลือให้พนักงานสามารถบรรลุผลสำเร็จในการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนงาน การช่วยเหลือทางด้านวิธีการทำงาน การสนับสนุนทางด้านจิตใจ
  • ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของพนักงาน และมีการนำเอาความเห็นของพนักงานมาปรับใช้ในการทำงานขององค์กรด้วย ก็จะทำให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจ และอยากที่จะสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องไปอีก
  • ต้องอย่าลืมให้ความสำคัญกับพนักงาน ทั้งในด้านการให้คำชมเชย และการสื่อความเรื่องของผลงานแก่พนักงานบ่อยๆ ทำให้พนักงานรับทราบว่า เราในฐานะหัวหน้าให้การยอมรับในฝีมือของเขา และส่งเสริมให้พนักงานได้มีโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพของตนเองในองค์กร
ผลการงานวิจัยเรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานนั้น ปัจจัยที่ผลต่อความผูกพันของพนักงานนั้นส่วนใหญ่เป็นปัจจัยทางด้านจิตใจมากกว่าตัวเงิน ดังนั้นถ้าองค์กรของเราต้องการที่จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรจริง ก็ต้องสร้างรางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงินให้มากขึ้น โดยทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรต้องการเขา และเขาเป็นคนที่มีฝีมือจริงๆ ซึ่งคนที่จะทำให้พนักงานเหล่านี้รู้ว่าองค์กรต้องการเขามากแค่ไหนก็คือ “หัวหน้างานทุกระดับ” ในองค์กรนั่นเองครับ  

แล้วองค์กรของคุณล่ะครับ กำลังสร้างความผูกพัน หรือสร้างความไม่ผูกพัน กันแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น