วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

วิธีง่ายๆ ที่ทำให้พนักงานเกิดความผูกพันกับการทำงานในองค์กร

 

เวลาฝ่ายบุคคล หรือผู้จัดการสายงานที่ได้รับมอบหมายให้มาสัมภาษณ์ผู้สมัครงาน ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งผู้สัมภาษณ์จะมีการเตรียมการมาก่อน ก็คือ อาจจะมีการเตรียมตั้งคำถามกันมาก่อนล่วงหน้า เพื่อที่จะสอบถาม และตรวจสอบผู้สมัครงานว่ามีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานที่เรากำลังเปิดรับสมัครอยู่หรือไม่ รวมทั้งมีการประเมินคำตอบที่ได้มาด้วยว่า ถ้าตอบในลักษณะไหน จะมีความหมายว่าอย่างไร และจะรับไม่รับ หรือจะสอบถามเพิ่มเติมอย่างไร
แต่ผู้สัมภาษณ์บางครั้งก็คือเอาเองว่า ผู้สมัครงานที่มาสัมภาษณ์กับเรานั้น เป็นบุคคลที่จะต้องมาง้อเรา เป็นคนที่หางานและอยากทำงาน ดังนั้นในการคุยกันนั้นเราเองในฐานะผู้สัมภาษณ์ก็มักคิดเสมอว่า เรากำลังถือไพ่ที่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามอยู่ ซึ่งความคิดนี้ผมเองเชื่อว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะเดี๋ยวนี้ผู้สมัครงานเองก็เลือกบริษัทที่จะเข้าทำงานด้วยเช่นกัน โดยการเลือกของเขานั้น ก็ดูจากคนที่สัมภาษณ์เขานั่นแหละว่า มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่เขาจะมาทำงานด้วยหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สมัครจะทราบประเด็นเหล่านี้ได้ ก็โดยการสอบถามจากผู้สัมภาษณ์ ในช่วงที่ผู้สัมภาษณ์ดำเนินการจนใกล้เสร็จการสัมภาษณ์แล้ว โดยทั่วไปก็มักจะมีคำถามถามผู้สมัครไปว่า “ไม่ทราบว่ามีคำถาม หรือมีอะไรจะสอบถามหรือไม่” ซึ่งบางคนถามคำถามนี้ไป โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือใส่ใจกับคำถามที่จะได้รับมากนัก แค่เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ถามอะไรกลับมาบ้างก็เท่านั้น

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ผู้สมัครงานที่มีความรู้ความสามารถดีๆ มีฝีมือและมีความตั้งใจในการทำงานนั้น จะใช้ช่วงที่เปิดโอกาสให้ถามนี้ยิงคำถามกลับมาให้กับผู้สัมภาษณ์ตอบ ซึ่งบางคำถามทำให้เราในฐานะผู้สัมภาษณ์ถึงกับอึ้งไปเหมือนกัน ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่มักจะเจอคำถามว่า ทำงานกี่วัน หยุดกี่วัน สวัสดิการอะไรบ้าง เข้างานกี่โมง ฯลฯ ซึ่งคำถามเหล่านี้ก็สะท้อนอะไรบางอย่างในตัวผู้สมัครเช่นกัน ลองมาดูคำถามที่ผู้สมัครชั้นเยี่ยมถามกลับมานะครับว่ามีอะไรกันบ้าง ซึ่งถ้าใครถามแบบนี้จริงๆ ผมคิดว่าคนๆ นั้นเราควรจะรับไว้ทำงานเพื่อสร้างผลงานได้เลยครับ
  • “คุณมีความคาดหวังให้ผม(ดิฉัน) ทำอะไรให้สำเร็จบ้างในช่วง 60-90 วันแรกในการทำงาน” คำถามนี้เป็นการบอกถึงความตั้งใจว่า ถ้าได้เริ่มงานจริงๆ จะมีอะไรให้ทำสักแค่ไหน ท้าทายหรือไม่ คล้ายๆ เป็นคนไฟแรงอยากสร้างผลงาน ฯลฯ
  • “ลักษณะของคนที่มีผลงานยอดเยี่ยมในบริษัทนี้เป็นอย่างไรบ้าง” ที่ถามแบบนี้ก็เพื่อที่จะทราบและประเมินดูว่า งานที่จะเข้ามาทำนั้นมีความท้าทายอะไรบ้าง และถ้าอยากจะสร้างผลงานที่ดีนั้น จะต้องปฎิบัติตนอย่างไรบ้าง คนแบบนี้ต้องการที่จะสร้างผลงานชั้นเยี่ยมให้กับองค์กร และต้องการที่จะรู้ว่า ถ้าเขาต้องการจะเป็นพนักงานที่มีผลงานยอดเยี่ยมได้นั้น เขามีความเหมาะสมเพียงใดกับองค์กรนี้
  • “มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวผลักดันผลงานของเราออกมาโดดเด่นมากขึ้นในการทำงานกับบริษัทนี้” คำถามนี้ผู้สมัคต้องการอยากจะรู้ว่า เขาจะต้องทำอะไรให้แตกต่างไปจากคนอื่นบ้างเพื่อที่จะสร้างผลงานที่โดดเด่นได้
  • “คุณมีแผนการรองรับหรือป้องกันปัญหา....... ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร” คำถามนี้เป็นคำถามที่ต้องการจะรู้ว่าบริษัทเองมีความพร้อมอย่างไรในการที่จะรับมือกับปัญหาต่างๆ อย่างไรบ้าง ผู้สมัครก็จะประเมินว่าบริษัทนี้น่าทำงานด้วยหรือไม่ จากคำตอบของผู้สัมภาษณ์เขา
  • “เป้าหมายสูงสุดของบริษัทนี้คืออะไร” คำถามนี้ก็เพื่อตรวจสอบว่า บริษัทน่าจะมีความมั่นคงในระยะยาวสักเพียงใด ผู้บริหารเองรู้หรือไม่ว่าอนาคตของบริษัทนั้นจะไปไหน และไปได้อย่างไร
จากคำถาม 5 คำถามข้างต้นที่ผู้สมัครชั้นเยี่ยมถามกลับเรามานั้น ถ้าเราในฐานะผู้สัมภาษณ์ตอบได้ไม่ชัดเจน และไม่มีเหตุผลรองรับ ผมเชื่อว่าผู้สมัครคนนั้นก็คงจะไม่เลือกที่จะทำงานกับบริษัทเช่นกันไม่ว่าจะมีค่าจ้างและค่าตอบแทนที่ดีเพียงใดก็ตาม เพราะเขาไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า สิ่งที่เขาจะได้รับในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง หัวหน้าของเขาเอง รวมถึงผู้บริหารองค์กร นั้นจะมีความมั่นคงสักเพียงใด ถ้าเขาประเมินแล้วเห็นว่าจากคำตอบของผู้สัมภาษณ์ ทำให้เขารู้สึกแย่ลง และไม่ประทับใจ รวมทั้งรู้สึกว่าผู้บริหารที่นี่ไม่เก่งจริง ก็จะทำให้เขาตัดสินใจไม่เลือกได้ง่ายขึ้น แล้วเราก็จะขาดคนเก่งที่พร้อมจะทำงานสร้างผลงานให้กับบริษัทไปอีก

ดังนั้นผู้สัมภาษณ์ต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ด้วยนะครับ เพราะการเปิดโอกาสให้กับผู้สมัครถามนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องเตรียมตัวเองไว้ให้พร้อมสำหรับคำถามที่อาจจะเป็นการประเมินเราเอง เพื่อที่จะได้พิจารณาว่าเขาควรจะเลือกบริษัทไหนในการทำงาน

 ถ้าเราอยากได้พนักงาน หรือผู้สมัครชั้นเยี่ยมก็คงต้องไม่ทำให้ผู้สมัครตัดสินใจได้ง่ายนักว่า จะไม่เลือกที่นี่ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น