วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรื่องของสวัสดิการ แนวโน้มสำคัญในการเก็บรักษาพนักงาน

benefits111

องค์กรเอกชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้น ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดสวัสดิการให้กับพนักงานมากนัก จะมีก็เพียงแต่องค์กรขนาดใหญ่ ที่พอมีกำลังจ่ายมากพอ ที่มีการจัดสวัสดิการอย่างดีให้กับพนักงานของตนเอง นอกนั้นก็จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนมากกว่า เวลาที่จะวางระบบเรื่องของค่าตอบแทน ก็มักจะเป็นเรื่องของระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนมากกว่า การวางระบบการบริหารสวัสดิการ


สาเหตุ ที่เป็นแบบนั้น ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยที่มีข้อจำกัด ทำให้นายจ้างไม่ค่อยสนใจเรื่องของสวัสดิการเท่าไหร่ เพราะให้อะไรไปแล้วมันลดไม่ได้เลย ยิ่งถ้าเป็นเรื่องสวัสดิการด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่เพราะถ้าคิดเป็นต้นทุนของบริษัท ก็จะเป็นต้นทุนที่สูงมาก และถ้าให้ไปแล้วไม่คุ้ม จะมาเปลี่ยน หรือ เลิก มันก็จะยากมาก สุดท้ายนายจ้างก็เลยไม่สนใจเรื่องของสวัสดิการมากนัก
แต่จากแนวโน้ม ของการบริหารทรัพยากรบุคคลในอนาคตนั้น ปัจจัยที่จะทำให้พนักงานเกิดความผูกพัน และสามารถที่จะใช้ในการธำรงรักษาพนักงานได้ดีนั้น กลับมีเรื่องของสวัสดิการเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะสวัสดิการในเรื่องของ Work Life Balance และสวัสดิการเรื่องของสุขภาพพนักงาน เป็นสิ่งที่มาแรงมากในยุคปัจจุบัน

เราลองมาดูประเภทสวัสดิการใหญ่ๆ กันสักหน่อย โดยทั่วไปแล้วสวัสดิการในบ้านเราจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ
  • สวัสดิการที่กฎหมายกำหนด สวัสดิการเหล่านี้ ถือว่าทุกบริษัทต้องจัดให้มี เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน และกำหนดเป็นขั้นต่ำที่ทุกบริษัทจะต้องจัดให้กับพนักงาน เช่น ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ สวัสดิการเหล่านี้ ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับพนักงานที่เข้ามาทำงานในบริษัท และไม่มีประเด็นในการที่จะสร้างแรงจูงใจ หรือสร้างความรู้สึกผูกพันในการทำงานได้เลย เพราะถือเป็นขั้นต่ำสุดที่ทุกองค์กรจะต้องจัดให้กับพนักงาน
  • สวัสดิการที่นายจ้างจัดให้พนักงานมากกว่าที่กฎหมายกำหนด สวัสดิการ ประเภทนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดอะไรไว้เลย แต่บริษัทเป็นผู้จัดให้กับพนักงานด้วยความคิดที่ว่า อยากยกระดับความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้น เพราะพนักงานมาทำงานให้กับบริษัท และเพื่อที่จะทำให้พนักงานรู้สึกอยากอยู่ทำงานกับบริษัทไปนานๆ เวลาที่จะคิดลาออก ก็ต้องคิดมากหน่อย เพราะบริษัทอื่นอาจจะไม่มีสวัสดิการเหล่านี้ให้เลย สวัสดิการที่นายจ้างจัดให้พนักงานโดยที่ไม่มีกฎหมายกำหนดก็เช่น ค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับประกันสังคม ทั้งผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอก บางแห่งให้สิทธิไปถึงครอบครัวของพนักงานอีกด้วย การประกันประเภทต่างๆ เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ เงินกู้ประเภทต่างๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คือสวัสดิการที่ทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเอาใจใส่ของนายจ้างต่อพนักงาน และทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีมากกว่าสวัสดิการประเภทแรก แต่เวลากำหนดสวัสดิการเหล่านี้ ก็ต้องมีการพิจารณาและคำนวณในเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่ายกันมากหน่อย
  • การให้บริการแก่พนักงาน ใน ต่างประเทศเขาเรียกกันว่า Employee Services ซึ่งบ้านเราก็ถือเป็นสวัสดิการประเภทหนึ่ง เช่น เรื่องของโรงอาหาร การให้อาหารฟรี การจัดที่จอดรถให้พนักงาน รถรับส่งพนักงาน การให้สิทธิในการซื้อสินค้าราคาถูก การจัดสถานที่เลี้ยงเด็กให้กับพนักงานที่มีลูก การให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการศึกษาต่อของพนักงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสวัสดิการที่สิ่งเสริมชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานมาก ขึ้น
  • การสร้าง Work Life Balance สวัสดิการ ที่เริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น ก็คือ เรื่องของการจัด และเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานให้มีความสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ วันทำงานที่ลดน้อยลง แต่ให้ทำงานที่บ้านได้ หรือเวลาการทำงานที่ลดลง และสามารถที่จะให้พนักงานจัดวันและเวลาทำงานของตนเองได้ แต่ต้องรวมแล้วได้จำนวนตรงตามที่บริษัทกำหนด หรือ การจัดเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้พนักงานสามารถที่จะเลือกเวลาทำงานได้ตรงตามการใช้ชีวิตของตนเอง
ลอง พิจารณาจากรูปแบบสวัสดิการที่กล่าวไปข้างต้นก็ได้ครับ แล้วเทียบกับสวัสดิการของบริษัทว่า บริษัทเรามีจัดสวัสดิการรูปแบบไหนให้กับพนักงานบ้าง ถ้าบริษัทของเรามีแค่สวัสดิการในรูปแบบที่หนึ่งอย่างเดียว ก็คือว่า ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะอาจจะเก็บรักษาพนักงานไว้ได้ยากหน่อย แต่ถ้าเราเริ่มมีสวัสดิการแบบที่สอง สาม และ สี่ ก็จะทำให้เรามีความสามารถในการที่จะเก็บรักษาพนักงานไว้ทำงานกับเราได้ดี ขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี เรื่องของการบริหารสวัสดิการในประเทศไทย อาจจะยังไม่เน้นมากนัก แต่ถ้าองค์กรของเราสามารถสร้างระบบสวัสดิการที่ดี ได้ก่อนบริษัทอื่น เราก็จะกลายเป็นผู้นำในการบริหารคนได้เช่นกัน เพียงแต่อาจจะต้องวิเคราะห์ความเหมาะสม และต้นทุนของการจัดสวัสดิการในแต่ละประเภท

ยิ่งไปกว่านั้น การบริหารสวัสดิการในอนาคต องค์กรไม่จำเป็นต้องจัดสวัสดิการทุกตัวให้กับพนักงานทุกคนแบบเหมือนกันไปหมด เพราะเราสามารถที่จะสร้างเป็นระบบสวัสดิการแบบยืดหยุ่นได้ คือ ให้พนักงานเลือกสวัสดิการที่ตรงกับสไตล์ และสภาพความต้องการของชีวิตของตนเอง โดยที่พนักงานแต่ละคนได้สิทธิของสวัสดิการตามที่บริษัทกำหนด แล้วก็เลือกประเภทตามที่ตนต้องการ โดยไม่ให้เกินสิทธิที่ตนเองได้รับ

บริษัทเองก็สามารถที่จะบริหารต้นทุนการจัดสวัสดิการได้ดีขึ้น และพนักงานเองก็รู้สึกผูกพันกับบริษัทมากขึ้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น